"ดีเอ็นเอสีฟ้า" ฝ่าการเมืองดิสรัป จับตา"กลุ่มอำนาจใหม่"ผู้คุมเกม
เดิมพัน "ดีเอ็นเอ" ค่ายสีฟ้า ฝ่าการเมืองยุคดิสรัป สัญญาณรีแบรนด์ดิ้ง จับตา "กลุ่มอำนาจใหม่" เดิมหมากการเมือง
บทเรียน “พรรคประชาธิปัตย์” จากตัวเลข ส.ส.ที่ลดฮวบเหลืออยู่ที่ 24 เสียง หมดสิทธิ์เสนอชื่อ “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” ตามรัฐธรรมนูญ นับเป็นการตอกย้ำการเข้าสู่ยุครีแบรนด์ดิ้งแบบเต็มรูปแบบของพรรคที่เรียกตนเองว่าเป็นสถาบันการเมืองที่อยู่คู่ประเทศไทยมากว่า 77 ปี
โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านที่อาจไม่ได้มีแค่เรื่อง “ปัจเจกบุคคล” หากแต่ยังรวมไปถึงการ “เปลี่ยน” ในเชิงโครงสร้าง การล้างภาพจำของการเป็นขั้วการเมืองแบบ “ขวาตกขอบ” ซึ่งสวนทางกับกระแสฝั่ง “เสรีนิยม”ที่นับวันจะยิ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ
ความพยายามในการโยนสูตร “จับขั้วการเมือง” เกิดขึ้นทันทีที่รู้ผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ ทั้งการก่อกำเนิดของการเมืองขั้วต่างๆ เฉดต่างๆ หรือแม้แต่การจับขั้วพรรคฝั่งเสรีนิยม อย่าง “พรรคก้าวไกล” ในฐานะพรรคอันนดับ 1 ซึ่งถูก “กระแนะกระแหน” จากบรรดาติ่งสีนั้น-ด้อมสีนี้ มาโดยตลอด ว่าเป็นพรรคการเมืองในเฉดเดียวกัน
ก่อนหน้า “คน ปชป.” หลายคนออกมาแสดงความเห็นการสนับสนุนรัฐบาลพรรคก้าวไกล รวมถึงการโหวต “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล
ไล่เรียงไทม์ไลน์ตั้งแต่การเปิดประเด็นโดย “อลงกรณ์ พลบุตร” รักษาการรองหัวหน้าพรรค ที่แสดงความเห็น การยึดฉันทามติประชาชนกว่า 14 ล้านคนเลือกพรรคก้าวไกลในการสนับสนุน “พิธา”เป็นนายกรัฐมนตรี
โดยไม่มีเงื่อนไขร่วมรัฐบาล หากพรรคก้าวไกลสามารถรวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้สำเร็จ
ถัดมา “นราพัฒน์ แก้วทอง” รักษาการรองหัวหน้าพรรค พูดถึงการโหวตเลือกพิธา ที่เมื่อถึงคราวจำเป็นจริงๆ เพื่อให้ชาติบ้านเมืองไปต่อได้ ถ้าจำเป็นต้องโหวต จะเป็นมติพรรค แต่ทั้งนี้จะต้องไม่แตะประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
ไม่ต่างจาก “สาธิต ปิตุเตชะ” รักษาการรองหัวหน้าพรรค เคยตอบคำถามถึงการเลือก “พิธา” เพื่อปิดสวิตช์ ส.ว.โดยเขามองว่า ด้วยอุดมการณ์ส่วนตัว คิดว่าพรรคประชาธิปัตย์น่าจะเดินไปในแนวทางที่ทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่น
หรือแม้แต่ท่าทีล่าสุดจาก “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” ที่เวลานี้กลายเป็นอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. ที่ผ่านมา ประเมินเกมการเมืองภายใต้ฉากทัศน์การจับขั้วตั้งรัฐบาลว่า
ตอนนี้ต้องให้โอกาสพรรคก้าวไกลในการจัดตั้งรัฐบาล โดยพรรคประชาธิปัตย์จะไม่ไปเป็นอุปสรรคในการตั้งรัฐบาลพรรคก้าวไกล “ผมประกาศไปชัดเจน และนาทีนี้ยังเป็นจุดยืนพรรคประชาธิปัตย์
ไม่เว้นแม้แต่การปล่อยข่าวจาก “คนใน” ค่ายสีฟ้าที่ออกมาก่อนหน้า ท่ามกลางกลลับ-กลลวง ในทำนองผู้มีอำนาจเปิดดีลจับขั้วฝ่ายประชาธิปไตย
ทว่า ท่าทีของ“บิ๊กสีฟ้า” ที่ปรากฎออกมายังมิอาจสรุปได้ว่า เป็นความเห็นที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งแล้ว ยิ่งสไตล์ประชาธิปัตย์ที่แบ่งเป็น “ก๊กนั้น-ซุ้มนี้” เมื่อฝั่งหนึ่งเห็นอย่างหนึ่ง แน่นอนต้องมีอีกฝั่งไม่เห็นด้วย
แม้ฝั่งที่เห็นคล้อยให้โหวต “พิธา” จะพยามยามพูดถึงการปัดฝุ่น โมเดล“ฝ่ายค้านอิสระ” ที่เคยพยายามเสนอกันในยุค “อภิสิทธ์ เวชชาชีวะ” หลังการเลือกตั้ง 2562 คือการ “โหวตให้แต่ไม่ร่วมรัฐบาล”
แต่ฝั่ง “คนสีฟ้า” ที่ไม่เห็นด้วย พยายามอ้างเหตุผลในเรื่องดีเอ็นเอพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมสัจจะวาจา ที่เคยลั่นไว้ในเรื่อง “4 ทำ 3 ไม่” โดยเฉพาะ 1 ใน 3 ไม่ คือ ไม่แก้-ไม่ยกเลิก “มาตรา 112” ซึ่งถือเป็นนโยบายชูโรงของพรรคก้าวไกล แม้จะไม่ได้อยู่ในเอ็มโอยูจัดตั้งรัฐบาลก็ตาม
ฉะนั้นจึงต้องจับตาการคุมเกมของ “กลุ่มอำนาจใหม่” ซึ่งจะเกิดขึ้นหลังจากที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) มีการรับรองผล 24 ส.ส.เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อถึงเวลานั้นก็จะได้เห็นสัญญาณ “ค่ายสีฟ้า” ภายใต้ซีเนริโอการเมืองที่ชัดเจนมากขึ้น
ขณะที่สถานการณ์ภายใน “ค่ายสีฟ้า” ยามนี้ ดูเผินๆ เหมือนคลื่นลมที่กำลังจะสงบ แต่ภายใต้พื้นผิวน้ำที่ราบเรียบกลับแฝงไปด้วย “คลื่นใต้น้ำ” ที่รอเวลาปั่นป่วน
โดยเฉพาะศึกชิง “ผู้นำพรรคคนใหม่” ที่มีสัญญาณมาตั้งแต่การประชุมกรรมการบริหารพรรคชุดรักษาการ เมื่อวันที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งที่ประชุมมีมติ “ยกเว้นข้อบังคับ” เรื่องการ “หยั่งเสียง” เหมือนปี 2562 เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดภาพความขัดแย้งเหมือนในอดีต
เวลานี้หากนับขั้วอำนาจภายในพรรค “ขั้วเสี่ยต่อ” เฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการเลขาธิการพรรค ถือไพ่เหนือด้วยจำนวนส.ส.ในมือ16 คนจากทั้งหมดที่24คน โดย "เสี่ยต่อ" ที่ประกาศวางมือหลังผลการเลือกตั้งต่ำเป้า เตรียมส่งทายาทขึ้นแท่นผู้นำและเลขาพรรค
ขณะที่อีกกลุ่มที่ต้องการผลักดัน "อภิสิทธิ์" คัมแบ็คหัวหน้าพรรค เป็นรองในเรื่องเสียงส.ส.ที่มีอยู่ในมือ ราว7-8คน
ฉะนั้นจึงต้องจับตาไปที่ การช่วงชิงสัดส่วนโหวตเตอร์ “70 : 30” โดย 70% มาจาก ส.ส.ปัจจุบัน 24 คน ขณะที่ 30% จาก กก.บห.ชุดรักษาการ อดีตหัวหน้าพรรค อดีตรัฐมนตรี อดีตผู้ว่าฯกทม.
ซึ่งจะถือเป็นตัวแปรสำคัญที่จะชี้ขาดว่า ที่สุดแล้ว "ผู้นำค่ายสีฟ้า" จะเป็นใครรวมถึงทิศทางประชาธิปัตย์จะเดินหน้าไปในทิศทางใด
จากนี้จึงต้องจับตาการรีแบรนด์ดิ้งของ“ค่ายสีฟ้า” เพื่อฝ่ากระแสการเมืองในยุคดิสรัป และต้องลุ้นการเดินหมากของ “กลุ่มอำนาจใหม่” ที่จะเขามาคุมเกมหลังจากนี้!