พ.ร.บ.ใหม่ฟาสต์แทร็ก คดี "พิธา - ว่าที่ส.ส.ก้าวไกล”
การกำหนดระยะเวลา ทำให้กระบวนการยุติธรรม เร่งสาง "คดีเก่า-คดีใหม่" ที่พยานหลักฐานครบถ้วน ไม่ซับซ้อน ด้วยการเลื่อนนัดสืบพยาน ส่งผลให้คดีถือหุ้น "พิธา -ว่าที่ ส.ส.พรรคก้าวไกล" ถูกหยิบขึ้นมาพิจารณารวดเร็ว ฉับไว
ภายหลัง พระราชบัญญัติกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2565 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2566 ทำให้ 11 หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมต้องเร่งปฏิรูปองค์กรให้สอดรับ เพื่อกำหนดกรอบเวลาการพิจารณาคดีที่ชัดเจน ให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ครอบคลุม คดีแพ่ง คดีอาญา คดีปกครอง คดีศาลรัฐธรรมนูญ ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
สำหรับ 11 หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม 1.กระทรวงกลาโหม 2.กระทรวงมหาดไทย 3.กระทรวงยุติธรรม 4.องค์กรอัยการ 5.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 6.คณะกรรมการการเลือกตั้ง 7.สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน 8.สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ 9.คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ 10. ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลทหาร ศาลรัฐธรรมนูญ 11. หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมอื่นตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
โดยใน พรบ.ดังกล่าว ได้กำหนด 8 ขั้นตอนการอำนวยความยุติธรรม ให้ 11 หน่วยงาน ต้องปฏิบัติตามพร้อมบทลงโทษทางวินัย ต่อไปนี้
1. มีกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จในการพิจารณาแต่ละขั้นตอน ยกเว้นมีกฎหมายกำหนดระยะเวลาไว้แล้ว
2. ประกาศและเผยแพร่กำหนดระยะเวลาดำเนินงาน
3. เจ้าหน้าที่ดำเนินงานให้เสร็จภายในกรอบระยะเวลา กรณีถ้าไม่เสร็จ ต้องบันทึกเหตุล่าช้า และกำหนดระยะเวลาที่คาดว่าจะแล้วเสร็จเร็วที่สุด รายงานและแสดงหลักฐานให้ผู้บังคับบัญชาทราบเพื่อพิจารณาสั่งการและแจ้งผู้มีส่วน เกี่ยวข้องทราบ ถ้าไม่รายงานผู้บังคับบัญชา หรือล่าช้าเกินสมควรแก่เหตุ ไม่มีเหตุสมควร หรือไม่แจ้งผู้เกี่ยวข้องทราบให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาดำเนินการทางวินัย
4. มีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศวิธีการให้ผู้เกี่ยวข้องเข้าถึงข้อมูลตรวจสอบความคืบหน้าในการดำเนินงานกระบวนการยุติธรรม
5. มีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศวิธีการให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลของคดีที่มีผลกระทบต่อสาธารณะ
6. มีผู้รับผิดชอบเฉพาะรับเรื่องความเดือดร้อนจากความล่าช้าหรือตรวจสอบความคืบหน้าของการดำเนินงานแล้วแจ้งผลภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับเรื่องและรายงานผู้บังคับบัญชาทราบทุกครั้ง
7. มีข้อมูลสถิติ ระยะเวลาการดำเนินงานแต่ละขั้นตอน ผลการดำเนินงานเผยแพร่ข้อมูลให้ประชาชนทราบทุกปี
8. ตรวจสอบขั้นตอน ระยะเวลาการดำเนินงานว่าเหมาะสมหรือไม่ ถ้าไม่เหมาะสมให้มีมาตรการพัฒนาปรับปรุงหน่วยงาน หรือระบบการปฏิบัติราชการของหน่วยงาน อย่างน้อยดำเนินการทุก 3 ปี
ทำให้ 11 หน่วยงานเร่งสะสางคดีค้างเก่า คดีใหม่ ที่มีพยานหลักฐานครบถ้วน ไม่ซับซ้อน ด้วยการเลื่อนนัดสืบพยานให้เร็วขึ้น บรรจุเข้าสู่การพิจารณาของศาล จึงส่งผลให้คดีของว่าที่ ส.ส.พรรคก้าวไกล ถูกหยิบขึ้นมาพิจารณาในระหว่างรอ กกต.รับรองผลการเลือกตั้ง
“ลูกเกด” ชลธิชา แจ้งเร็ว ว่าที่ ส.ส. ปทุมธานี พรรคก้าวไกล ผู้ต้องหา ม.112 ถูกแจ้งความเมื่อปี 2563 พนักงานสอบสวนทำสำนวนส่งฟ้องปี 2565 และกำหนดนัดสืบพยานไว้ช่วงเดือนมีนาคม ปี 2567 แต่เมื่อ พ.ร.บ.กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2565 ประกาศใช้ต้นปีที่ผ่านมา จึงมีการเลื่อนนัดสืบพยานเร็วขึ้น 1 มิ.ย.2566
ทำให้ “ลูกเกด” ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ให้ตรวจสอบวินัยผู้พิพากษาศาลอาญา โดยกล่าวหาว่าเร่งรัดคดี ม.112 และขอเลื่อนการสืบพยานจำเลยออกไป เนื่องจากไม่มีทนายร่วมรับฟังการสืบพยาน
แต่องค์คณะผู้พิพากษาไม่อนุญาตให้เลื่อน เนื่องจากมีทนาย 2 คน นรเศรษฐ์ นาหนองตูม ติดว่าความที่ศาลอื่น แต่กฤษฎางค์ นุตจรัส ไม่ติดคดีอะไร แต่ไม่มาทำหน้าที่
สรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม อธิบายว่า คดีนี้แต่เดิมมีการกำหนดนัดสืบพยานไว้เป็นช่วงเดือนมีนาคม 2567 แต่ตอนหลังมีเรื่องของการกำหนดกรอบ ระยะเวลาในกระบวนการยุติธรรม โดยมีระเบียบของประธานศาลฎีกาออกมาว่า คดีประเภทคดีอาญาสามัญ ควรจะพิจารณาคดีแล้วเสร็จตั้งแต่วันรับฟ้อง ซึ่งศาลอาญาเห็นว่า ระยะเวลาที่มีการนัดสืบพยานในช่วงเดือนมีนาคม 2567 น่าจะเป็นระยะเวลาที่ยาวเกินไป เลยกรอบไปนาน จึงมีการปรับปรุงให้กระชั้นขึ้น หรือเร็วขึ้น เพื่อไม่ให้เกินกรอบเวลา
“ส่วนข้อกล่าวหา ศาลเร่งรัดพิจารณาคดี เฉพาะว่าที่ ส.ส.ของพรรคก้าวไกล คงไม่เกี่ยวกัน เพราะการเร่งรัดคดี ไม่ใช่เฉพาะคดีนี้ มีการปรับปรุงวันนัดหลายๆคดี ให้เร็วขึ้น ตามกฎหมายที่ออกมา และคดีของ น.ส.ชลธิชา ก็ฟ้องมานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งฟ้อง” โฆษกศาลยุติธรรม ระบุ
นอกจากนี้ ยังมีคดีที่คาดว่าจะเลื่อนพิจารณาเร็วขึ้น “โตโต้” ปิยรัฐ จงเทพ ว่าที่ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล อดีตแกนนำกลุ่มวีโว่ ถูกแจ้งหลายคดีเกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมือง ทั้งความผิดฐานเป็นอั้งยี่ซ่องโจร ฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ร่วมถึงข้อหาอื่นๆ ส่วนความผิด ม.112 มีคิวนัดสืบพยาน 24 เม.ย.2567 หลังเดินทางมาขึ้นศาลมาเมื่อ 9 พ.ค.2566 ที่ผ่านมา
ขณะที่ “ไอซ์” รักชนก ศรีนอก ว่าที่ ส.ส.กทม. ถูกแจ้งความ ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฐานนำเข้าข้อมูลอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร เมื่อปี 2564
ส่วนที่ต้องจับตา การถือครองหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล และ แคนดิแดตนายกฯ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณา กกต. เตรียมส่งต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ขาดว่า เป็นบุคคลเข้าข่ายต้องห้ามรับสมัครเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98(3) หรือไม่
ทั้งหมดนี้ เป็นผลสืบเนื่องของ พ.ร.บ.กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2565 ทำให้ 11 หน่วยงาน เร่งปฏิรูปองค์กร สะสางคดีค้างเก่า-คดีใหม่ ยึดความรวดเร็ว ฉับไว ตรวจสอบได้ ภายใต้แรงกดดันทางการเมือง