หมดทาง "ทักษิณ" จำคุกอยู่บ้าน กางระเบียบใหม่ "ราชทัณฑ์" ไม่เอื้อ
2นักนิติศาสตร์ ถอดรหัส ระเบียบใหม่ "กรมราชทัณฑ์ ว่าด้วย การผ่อนผันให้ "ผู้ถูกกักกัน" รับโทษในสถานที่ที่ต้องการ ไม่เอื้อให้กับ "คนแดนไกล" ที่ต้องโทษ "จำคุก" ซึ่งอยากกลับบ้านมาเลี้ยงหลาน
กรมราชทัณฑ์ โดย อธิบดี-อายุตม์ สินธพพันธ์ุ ได้ออก “ระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วย การปฏิบัติต่อผู้ถูกกักกัน พ.ศ. 2566” และมีผลบังคับใช้ เมื่อ 7 มิถุนายน ที่ผ่านมา
พลันที่ ระเบียบฉบับใหม่ ของกรมราชทัณฑ์ เผยแพร่ออกไป ทำให้สังคมตั้งเป็นประเด็นจั่วหัวว่า “ผู้ต้องขัง” นอนบ้าน ไม่ต้องติดคุกได้ ตามเนื้อหาของระเบียบกรมราชทัณฑ์ มาตรา 36 กำหนดไว้ ซึ่งมีสาระสรุปว่า “ผู้ถูกกักกันมีสิทธิยื่นคำร้องทุกข์ หรือ เรื่องราวใดๆ หรือ ถวายฎีกา เพื่อจัดส่งไปยังบุคคลหรือหน่วยงานที่ผู้ถูกกักกันประสงค์ก็ได้”
และคนที่ถูกวาดภาพในนาทีต่อมา คือ “โทนี่ วู้ดซัม” หรือ ทักษิณ ชินวัตร ที่ประกาศจะกลับประเทศไทยในเดือนกรกฏาคม ทั้งที่ยังมีคดี ซึ่งต้องคำพิพากษาให้จำคุก ที่รอเจ้าตัวมารับโทษ
เพราะดูแล้ว น่าจะเป็นการ “เปิดช่อง”ให้เจ้าตัว “รับโทษคุมขังที่บ้าน” แทน “ในเรือนจำ”
ทว่าในคำชี้แจงของ “สิทธิ สุธีวงศ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์และโฆษกประจำกรมราชทัณฑ์” ระบุว่า ไม่เกี่ยวข้องกัน เพราะประเด็นของผู้ถูกกักขัง ไม่ใช่หมายถึง ผู้ต้องขัง หรือ ผู้ที่ศาลพิพากษาให้จำคุก อีกทั้ง ประเด็น “การกักกัน” นั้นเป็นมาตราเพื่อความปลอดภัยที่ศาลสามารถพิจารณาได้ และเพื่อให้สอดรับกับ กฎหมายเจซอค หรือ “พระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ.2565” ที่กำหนดให้ กรมราชทัณฑ์ ดูแลผู้ที่ศาลสั่งให้คุมขังหลังพ้นโทษ หรือ คุมขังฉุกเฉิน จึงต้องปรับปรุงระเบียบให้เหมะสมและเป็นมาตรฐานเดียวกัน
ต่อประเด็นนี้ ในมุมของ “คมสัน โพธิ์คง” รองอธิกรบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ฟันธงชัดเจนว่า “ระเบียบใหม่ของกรมราชทัณ์ว่าด้วย การปฏิบัติต่อผู้ถูกกักกัน ไม่สามารถนำมาใช้กับคดีของ “โทนี่ วู้ดซัม” ได้ เพราะในคดีที่พิพากษาแล้ว ศาลสั่งให้ลงโทษจำคุก ไม่ใช่ “กักกัน”
“อ.คมสัน” อธิบายด้วยว่าา เมื่อดูตามคำนิยามของ ระเบียบใหม่กรมราชทัณฑ์ ให้ความหมายของ “ผู้ถูกกักกัน” คือ “ผู้ซึ่งถูกศาลพิพากษาให้กักกัน” ดังนั้นต้องยึดคำพิพากษาของศาลเป็นหลัก และเมื่อย้อนไปดูที่กฎหมายแม่ คือ “พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการกักกันตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2510” ที่ให้อำนาจ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ออกระเบียบใหม่ มีเงื่อนไขของการข้อ 12 ว่าด้วยการลดหย่อนโทษกักกัน พบว่า มีเงื่อนไขที่ต้องผ่านการรับโทษกักกันมาแล้วไม่น้อยกว่า2 ใน 3
และย้อนไปดูที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตราที่เกี่ยวข้องกับการ “กักกัน” มีอยู่ 4 มาตรา ตั้งแต่ มาตรา 39- 42 โดย “กักกัน” นั้นถูกกำหนดให้เป็นวิธีการ 1 ใน 5 เพื่อความปลอดภัย และยังจำเพาะลักษณะอีกว่า กักกัน คือการควบคุมผู้กระทำความผิดติดนิสัย ไว้ภายในเขตที่กำหนด เพื่อป้องกันกระทำความผิด , ดัดนิสัย และเพื่อฝึกหัดอาชีพ ซึ่งกำหนดลักษณะความผิดไว้ติดนิสัยไว้ เช่น เกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน, ก่อให้เกิดภัยอันตรายกับประชาชน, ความผิดเกี่ยวกับเพศ, ความผิดกับชีวิต, ต่อร่างกาย, ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ เป็นต้น
“คดีของคุณทักษิณที่ ศาลพิพากษาให้ ลงโทษจำคุก เป็นคดีในเรื่องทุจริต ดังนั้นจึงไม่เข้าข่ายใดๆ กับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกักกัน ยกเว้นจะไปขอศาลให้เปลี่ยนคำพิพากษาลงโทษ ซึ่งอยู่ที่ศาลว่าจะเปลี่ยนให้หรือไม่ หากคุณทักษิณกลับประเทศไทยวันนี้ หรือวันไหน ยังไงต้องรับโทษจำคุกในเรือนจำก่อน” อ.คมสัน ฟังธง
ทั้งนี้ “อ.คมสัน” ยังประเมินด้วยว่า “นาทีนี้ คุณทักษิณ จะไม่กลับบ้านตามที่เคยบอกไว้ เพราะเข้ามาก็ไม่คุ้ม และเหนื่อย เพราะยังไงต้องติดคุกก่อน ส่วนจะขอรับพระราชทานอภัยโทษนั้นต้องปฏิบัติให้ครบเงื่อนไขของทางกรมราชทัณฑ์หรือที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดไว้ ดังนั้นแค่การออกระเบียบใหม่ของกรมราชทัณฑ์แล้วพูดไปว่าเอื้อให้คุณทักษิณร ผมมองแล้วว่า ไม่น่าจะใช่ และนาทีนี้ ครอบครัวของคุณทักษิณคงไม่อยากให้พ่อกลับมาติดคุก”
ทางด้าน รศ.พัฒนะ เรือนใจดี นักวิชาการคณะนิติศาสต์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มองประเด็นระเบียบใหม่ของกรมราชทัณฑ์ ว่า ขอให้ความเป็นธรรมกับหน่วยงานด้วย เพราะระเบียบที่ออกมานี้ เพื่อแก้ปัญหา ซึ่งเป็นปัญหาที่พูดกันอย่างยาวนาน 40- 50 ปี และเป็นไปตามอาชญาวิทยาและทัณฑวิทยาสมัยใหม่ ที่ว่าด้วย การเยียวยา การลดนักโทษในเรือนจำ ลดการสิ้นเปลืองงบประมาณ การพักโทษ ติดกำไลอีเอ็ม
“ที่พูดๆ กันว่า เป็นระเบียบที่ให้จำคุกอยู่บ้านนั้น ไม่ใช่ เพราะ การจำคุกไม่ใช่ การ กักกัน การจำคุก คือ การจองจำในเรือนจำ ส่วนผู้ที่ถูกกักกัน นั้น ต้องเป็นผู้ต้องโทษที่ศาลสั่งให้กักกัน ส่วนที่ตีความมาตรา 36 ของระเบียบใหม่นั้น ที่ระบุว่า ผู้ถูกกักกันมีสิทธิยื่นคำร้องต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อส่งผู้กักกันไปยังสถานที่ที่ผู้กักกันประสงค์ หรือ ถวายฎีกา เป็นสิทธิพื้นฐานอยู่แล้ว แต่ต้องมีเงื่อนไขหรือ รับการกักขังมาแล้วในระยะเวลาเท่าใด” รศ.พัฒนะ กล่าว
รศ.พัฒนะ ยังระบุด้วยว่า ระเบียบใหม่ของกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ถูกกักกันนั้น ต้องเข้าใจว่าการกักกันคือลักษณะลงโทษที่เป็นวิธีการเพิ่มความปลอดภัย ตามแนวคิดอาชญวิทยาสมัยใหม่ไม่เกี่ยวข้องใดๆกับ คำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก
“หากจะโยงเพื่อให้เอื้อกับคุณทักษิณ ต้องพิจารณาว่าคุณทักษิณนั้นเข้าเงื่อนไขอะไรมาาแล้วบ้างหรือไม่ ซึ่งคำพิพากษาของศาลที่ลงโทษคุณทักษิณให้จำคุกนั้นยังไม่เริ่มต้นนับหนึ่งเลย ซึ่งตามระเบียบของหน่วยงานต้องรับโทษมาระดับหนึ่งแล้ว ที่จะเข้าเงื่อนไขต่างๆ แต่นี่ยังไม่ได้เริ่มอะไรเลย แล้วจะบอกว่า กลับมาติดคุกที่บ้าน ผมมองว่าไม่เป็นธรรมกับผู้ที่ถูกกักกันแล้วจะได้รับประโยชน์จากระเบียบฉบับนี้” รศ.พัฒนะ กล่าวทิ้งท้าย