'สมศักดิ์'เปิดไทม์ไลน์ออก พ.ร.ก.เลื่อนใช้กฎหมายอุ้มหายยันยธ.เห็นแย้ง

'สมศักดิ์'เปิดไทม์ไลน์ออก พ.ร.ก.เลื่อนใช้กฎหมายอุ้มหายยันยธ.เห็นแย้ง

'สมศักดิ์'เปิดไทม์ไลน์ออก พ.ร.ก.เลื่อนใช้กฎหมายอุ้มหาย ยืนยันไม่ได้เป็นคนเสนอ กระทรวงยุติธรรมเคยตีกลับ บอกมีความเห็นขัดแย้งด้วยซ้ำ

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ชี้แจงไทม์ไลน์ การออก พ.ร.ก.เลื่อนบังคับใช้กฎหมายอุ้มหาย ยืนยันไม่ใช่ผู้ริเริ่มเสนอ ตามที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย กล่าวหา รวมถึงยังยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการต้องการรับปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอให้เอาผิดเข้าข่ายจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญฯ

นายสมศักดิ์ เล่าว่า พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย หรือ กฎหมายอุ้มหาย เริ่มบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 22 ก.พ. 66 ซึ่งกระทรวงยุติธรรมมีความพร้อมขับเคลื่อนกฎหมาย ทั้งการตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนกฎหมาย การจัดทำคู่มือปฏิบัติงาน แต่เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 66 กระทรวงยุติธรรม ได้รับหนังสือจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอให้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้กฎหมาย ในหมวด 3 มีทั้งหมด 8 มาตรา ออกไปก่อนแบบไม่มีกำหนด เนื่องจากมีเหตุขัดข้อง คือ 1.ขาดงบประมาณและอุปกรณ์ 2.ขาดความพร้อมของบุคลากร 3.ขาดมาตรฐานกลางในการปฏิบัติงาน
 

“ต่อมากระทรวงยุติธรรม ทำหนังสือส่งกลับไปที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพราะไม่เห็นด้วยกับการขอขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ แต่มีผู้ใหญ่ในรัฐบาลบางส่วน อธิบายเหตุผลความเสียหายที่จะตามมา คือ หากไม่เลื่อนการบังคับใช้กฎหมายอาจเป็นเหตุให้จำเลยหรือผู้ที่ถูกกล่าวหาในคดีนั้น ใช้เป็นเงื่อนไขในการสู้คดีว่า "ตำรวจไม่ดำเนินการหรือปฏิบัติตามเงื่อนไขของกฎหมายทุกข้อ ในเรื่องของการบันทึกภาพตลอดการจับกุมไว้ เป็นเหตุให้คดีถูกยกฟ้อง"

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ดังนั้นในวันที่ 3 ก.พ. 66 เจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้หารือกับผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบสูงกว่านายสมศักดิ์ ซึ่งได้ข้อสรุป ยอมให้เลื่อนบังคับใช้กฎหมายถึงแค่วันที่ 30 ก.ย. 66 และให้เลื่อนใช้ แค่ 4 มาตรา จากที่ขอมา 8 มาตรา ซึ่งขอย้ำว่า ตร.ขอเลื่อนโดยไม่มีกำหนดระยะเวลา
 

“ขณะนั้นก็ไม่ได้เห็นด้วยที่จะมีการเลื่อนบังคับใช้กฎหมายอุ้มหาย มีทั้งหนังสือไม่เห็นด้วยและตั้งวงหารือ เพราะเข้าใจดีว่า กฎหมายฉบับนี้ถูกยกเลิกมาหลายครั้ง หลายรัฐบาลแล้ว กว่าจะสามารถออกเป็นกฎหมาย เพื่อเป็นการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมที่แท้จริงได้ ถึงขั้นนักวิชาการด้านกฎหมาย ยกให้กฎหมายอุ้มหาย เป็นการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ในรอบ 100 ปี เพราะจะช่วยลดการซ้อมทรมานให้รับสารภาพ เนื่องจากจะมีการบันทึกภาพทุกขั้นตอน ดังนั้น ที่กล่าวหาว่า เป็นผู้เริ่มก่อการ เสนอให้รัฐบาลออก พ.ร.ก.เลื่อนบังคับใช้กฎหมายอุ้มหาย ไม่ใช่ข้อเท็จจริง” 

นายสมศักดิ์ ยืนยันได้พยายามทำให้กฎหมายบังคับใช้ทันที หากแต่เป็นเหตุผลความจำเป็นในข้อกฎหมายจะทำให้จำเลยได้เปรียบในการสู้คดี และเป็นเหตุให้ศาลยกฟ้อง จึงต้องออก พ.ร.ก.ฉบับนี้ป้องกันไว้ การจะเลื่อนใช้บางมาตราออกไปเล็กน้อย ไม่ได้เป็นสาระสำคัญอะไรมาก "เดินสายกลางเถอะครับ บ้านเมืองเราจะได้อยู่ร่วมกันโดยปราศจากความเคลือบแคลงและสงสัย"

ทั้งนี้การไปร้องเรียน ปปช. มันเสียเวลาของประเทศ แทนที่จะได้ไปตรวจสอบเรื่องสำคัญ เช่น เรื่องการทุจริตคอรัปชั่น ซึ่งเรื่องนี้ตนเสนอกฎหมาย Law Of Efficiency เข้าไปใน ครม. และรับหลักการแล้วเมื่อวันที่ 31 ม.ค. 66 ขณะที่กระทรวงยุติธรรมได้ตั้งคณะทำงานพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างหลักประกันความเป็นธรรมให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐ เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 66 โดยกฎหมายตัวนี้ทางเลขาธิการกฤษฎีกายังให้ความเห็นว่า "วันนี้บ้านเมืองของเราร้องเรียนกันง่ายเหลือเกิน ระบบตรวจสอบทำงานจนไม่มีเวลา" ขณะเดียวกันเลขาธิการกฤษฎีกาก็จะเพิ่มเติมให้เรื่องการร้องเรียนมีคุณภาพมากขึ้นไม่ใช่อะไรก็ร้องเรียนไปทั้งหมด