'ไอติม' เปิด 4 แนวทางปราบโกง มั่นใจถ้าทำ 100 วันแรก ต้นปีหน้า CPI ไทยสูงแน่
'ไอติม พริษฐ์' โชว์วิชั่นหลังถกองค์กร ACT เปิด 4 แนวทางปราบคอร์รัปชัน มั่นใจ 'รัฐบาลก้าวไกล' หากทำใน 100 วันแรก ต้นปี 67 ดัชนีภาพลักษณ์ไทยสูงขึ้นแน่นอน
เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2566 นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ว่าที่ ส.ส. บัญชีรายชื่อ และผู้จัดการการสื่อและการรณรงค์นโยบาย พรรคก้าวไกล ได้ทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัว โดยมีเนื้อหาระบุถึงการเข้าหารือกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. ที่ผ่านมา ว่า นโยบายเอาชนะการทุจริตคอร์รัปชัน ผ่านระบบที่ไม่มีใคร "อยากโกง" "กล้าโกง" "โกงได้" หรือ "โกงแล้วรอด"
วันนี้ ผมและพรรคก้าวไกลได้เข้าไปพบปะพูดคุยกับ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ACT) เพื่อหารือแนวทางในการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน โดยปัญหาการทุจริตเป็นปัญหาที่เรื้อรังและรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นมุมมองภายนอก ที่วัดโดยคะแนน (36 จาก 100) และลำดับ (101 จาก 180) ของประเทศไทย ในดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (CPI) ขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ หรือ มุมมองภายใน ที่วัดจากเรื่องการทุจริตใกล้ตัวที่ประชาชนสัมผัสได้ตั้งแต่เกิดจนแก่
จะเข้าโรงเรียนดีๆ ก็ต้องจ่ายสินบน-เงินแป๊ะเจี๊ยะ จะขายของหาบเร่แผงลอยก็ต้องจ่ายส่วย จะเปิดร้านอาหารก็ต้องขอใบอนุญาตหลายสิบใบ มีค่าน้ำร้อนน้ำชาให้เจ้าหน้าที่ จะเปิดโรงงานต้องขอใบอนุญาตนับร้อยนับพันใบ จะสร้างหมู่บ้านสร้างคอนโดก็ต้องจ่ายใต้โต๊ะให้กับค่ารังวัดที่ดิน ค่าเชื่อมท่อน้ำทิ้ง ค่าปักเสาไฟฟ้า จะได้รับการดูแลจากรัฐตอนสูงวัย ก็ต้องถูกแย่งชิงงบที่รั่วไหลไปหาคนทุจริตในอำนาจ
พรรคก้าวไกลเราเชื่อว่า การแก้ไขปัญหาการทุจริตที่มีประสิทธิภาพ ต้องไม่ใช่การหวังพึ่งแค่การปลูกฝังจิตสำนึก-จริยธรรมในการต่อต้านการโกง แต่ต้องเป็นการทำให้รัฐโปร่งใสกว่าที่เคยเป็น ทุกคนตรวจสอบทุกคนได้ด้วยอาวุธใหม่ๆ ที่ประเทศไม่เคยมี เพื่อสร้าง “ระบบที่ดี” ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
ในมุมมองของผม "ระบบที่ดี" ในการแก้ปัญหาการทุจริต มี 4 เป้าหมาย ที่ประกอบไปด้วยนโยบายของพรรคก้าวไกล ดังต่อไปนี้
1. ระบบที่ไม่มีใคร "อยากโกง"
1A. อำนวยความสะดวกประชาชน เพื่อลดกระบวนการที่ซับซ้อนและล่าช้าซึ่งเป็นบ่อเกิดของการทุจริต
- ยกเลิกใบอนุญาต 50% และยกเลิกกฎหมายที่เป็นอุปสรรค (Regulatory Guillotine)
- รู้ผลใบอนุญาตใน 15 วัน (หากพิจารณาไม่ทันกรอบเวลา ให้ถือว่าอนุญาตโดยอัตโนมัติ)
2. ระบบที่ไม่มีใคร "กล้าโกง"
2A. สร้างรัฐที่เปิดเผน (Open Government)
- Open Data: เปิดข้อมูลรัฐ โดยยึดเกณฑ์ "เปิดเผยเป็นหลัก ปกปิดเป็นข้อยกเว้น"
- Open Parliament: เพิ่มความโปร่งใสของรัฐสภา (เช่น ถ่ายทอดสดประชุมกรรมาธิการ)
2B. รัฐบาลทำตัวเป็นแบบอย่าง (Role-model Government)
- ห้ามใช้เงินหลวง โปรโมทตัวเอง
- Zero Tolerance กับการทจุริตโดยคนในคณะรัฐมนตรีหรือคนในพรรค
3. ระบบที่ไม่มีใคร "โกงได้"
3A. ตัด "คนกลาง" หรือการใช้ "ดุลพินิจ" ที่เปิดช่องทางการทุจริต
- ทุกบริการภาครัฐ ทำได้ผ่านมือถือ (99%)
- ร้องเรียนไป ต้องไม่เงียบ อัปเดตทุกขั้นตอน (มีช่องทาง "กลาง" ติดตามสถานะเรื่อง)
4. ระบบที่ไม่มีใคร "โกงแล้วรอด"
4A. ยกระดับกลไกตรวจสอบ
- ระบบ AI จับโกง (แจ้งเตือนการทุจริตแบบอัตโนมัติ)
- ตัวแทนจับโกงหรือผู้สังเกตการณ์อิสระ ในโครงการมูลค่าสูง (Integrity Pact)
- ป.ป.ช. ที่ผ่านกระบวนการสรรหาที่ยึดโยงประชาชน หลากหลาย และเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย
- ปฏิรูปตำรวจ เติบโต-โยกย้ายเป็นธรรม ปราศจากตั๋ว-เส้นสาย ตำรวจมีแรงจูงใจในการทำงานสุจริต
4B. สร้างสังคมต้านโกง
- โครงการ "คนโกงวงแตก" (leniency programme) - จูงใจให้คนที่คิดจะโกงระแวงกันเอง คุ้มครองคนที่ออกมาแฉก่อน
- โครงการ "แฉโกง ปลอดภัย ได้เงิน" (whistleblower protection) - คุ้มครองเจ้าหน้าที่ที่เปิดโปงการทุจริต เพิ่มรางวัลให้กับประชาชนที่ชี้เบาะแส
"หากเราแสดงเจตจำนงที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาการทุจริต และผลักดันนโยบายของเราเรื่องการเปิดเผยข้อมูลรัฐ และการนำเทคโนโลยีมาช่วยจับโกง ให้เห็นผลได้ภายใน 100 วันแรก ตามที่เราตั้งไว้ ผมและพรรคก้าวไกลเชื่อว่าต้นปีหน้า มีแนวโน้มที่คะแนนและลำดับของประเทศไทยในในดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน หรือ CPI จะสูงขึ้นกว่าเดิม และประชาชนจะยิ่งเชื่อมั่นศรัทธาในระบบการเมืองการปกครองตามครรลองประชาธิปไตย" นายพริษฐ์ ระบุ