คณะทำงานย่อย 8 พรรคร่วม สันติภาพชายแดนใต้ จุดยืนค้านแบ่งแยก 'รัฐปาตานี'

คณะทำงานย่อย 8 พรรคร่วม สันติภาพชายแดนใต้ จุดยืนค้านแบ่งแยก 'รัฐปาตานี'

คณะทำงานย่อย 8 พรรคร่วมด้าน สันติภาพชายแดนใต้ โชว์จุดยืนค้านแบ่งแยก 'รัฐปาตานี' เหตุยังอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่ต้องเปิดพื้นที่ให้คนเห็นต่าง อ้อมแอ้มต้องยุบ กอ.รมน.หรือไม่ ต้องรอฉันทามติ 8 พรรคก่อน

เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2566 เวลา 14.00 น. ที่พรรคก้าวไกล คณะทำงานของ 8 พรรคการเมืองร่วมจัดตั้งรัฐบาลว่าด้วย สันติภาพชายแดนใต้ - ปาตานี (รัฐปาตานี) เป็นคณะทำงานย่อยมีการประชุมนัดแรกที่พรรคก้าวไกล โดยมีตัวแทนจาก 8 พรรคมาร่วมประชุม ได้แก่ 

  1. นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล
  2. นายรอมฎอน ปันจอร์ ว่าที่ ส.ส. พรรคก้าวไกล
  3. พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขานุการคณะกรรมการกิจการพิเศษ พรรคเพื่อไทย
  4. พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ
  5. นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์
  6. นายมุข สุไลมาน รองหัวหน้าพรรคประชาชาติ
  7. นายกัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการพรรคเป็นธรรม
  8. นายชวลิต วิชยสุทธิ์ กรรมการยุทธศาสตร์พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.)

คณะทำงานย่อย 8 พรรคร่วม สันติภาพชายแดนใต้ จุดยืนค้านแบ่งแยก \'รัฐปาตานี\'

ต่อมา เวลา 16.00 น. นายรอมฎอน แถลงผลการหารือว่า วันนี้เป็นการวางกรอบการทำงาน ระดมความเห็นแต่ละพรรคในเบื้องต้น การตั้งสมมุติฐานของ ปัญหาชายแดนใต้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสันติภาพ การแสดงความเห็นทางการเมืองที่ยังมีความขับข้องหมองใจ รวมถึงการแก้ปัญหาปากท้องประชาชน ดังนั้นวันนี้เราคุยกรอบกว้างที่แต่ละพรรคให้สัญญาประชาชนไว้ แต่ครั้งหน้าถ้าจะลงลึกรายละเอียดว่าจะวางกรอบสร้างสันติภาพ ตอบสนองแนวนโยบายอย่างไรให้กับประชาชน โดยนัดหารือที่พรรคประชาชาติ ในวันที่ 19 มิ.ย.นี้ ที่ประชุมยังเห็นว่า แนวทางการแก้ปัญหา วันนี้อาจต้องลดบทบาท วิธีคิด และกลไกทางทหารลง แต่เพิ่มบทบาทพลเรือน โดยเฉพาะตัวแทนที่ผ่านการเลือกตั้งจากประชาชน นั่นคือบทบาทรัฐสภาและสภาผู้แทนราษฎร

นายรอมฎอน กล่าวว่า ที่ประชุมยังได้พูดถึงกรณีเปิดตัวขององค์กรนักศึกษาสามจังหวัดชายแดนใต้ ขบวนนักศึกษาแห่งชาติ โดยสัมผัสได้ว่ามีความกังวลของผู้คนที่มองปรากฏการณ์ทำกิจกรรมของนักศึกษากลุ่มนี้ ซึ่งในนามของว่าที่รัฐบาลใหม่ กรอบที่เรายังยืนอยู่ยังอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ เรากำลังพูดถึงสถานภาพของรัฐเดี่ยวที่มองไปข้างหน้าและจะกระจายอำนาจ ให้อำนาจให้กับประชาชนท้องถิ่นมากขึ้น พร้อมยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับการแยกตัวออกไปของรัฐปาตานี เพราะเราอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่ต้องมีพื้นที่ให้แสดงความเห็น การพูดคุย รับฟังความเห็นต่าง ๆ รวมถึงกลุ่มนักศึกษาฯ เป็นหนึ่งในกระบวนการทำงานของคณะทำงาน

คณะทำงานย่อย 8 พรรคร่วม สันติภาพชายแดนใต้ จุดยืนค้านแบ่งแยก \'รัฐปาตานี\'

"ไม่ห่วงว่าเรื่องนี้จะนำไปสู่ความแตกแยก แต่ส่วนตัวมองว่านี่คือหน้าตาที่แท้จริงของความขัดแย้ง และต้องการความกล้าหาญทางการเมืองภายใต้การนำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ไปเผชิญปัญหา แต่สิ่งที่กังวลคือเรื่องของความรุนแรง เพราะอีกไม่กี่เดือนก็จะครบรอบ 20 ปีของเหตุการณ์รุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเชื่อว่าภายใต้รัฐบาลใหม่ที่จะเกิดขึ้นการกล้าเผชิญ คือจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหา" นายรอมฎอน กล่าว

นายรอมฎอน กล่าวอีกว่า ส่วนการพูดคุยกับหน่วยงานความมั่นคงนั้น หน่วยงานความมั่นคงก็เป็นระบบราชการภายใต้รัฐบาลอยู่แล้ว จะต้องมีการพูดคุย แต่ระหว่างนี้ผู้รับผิดชอบของ 8 พรรคการเมือง ก็ได้มีการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอยู่แล้ว เพื่อเตรียมความพร้อม ส่วนแนวคิดการพูดคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็น เพื่อสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้เหมือนที่รัฐบาลเดิมได้ทำมานั้น

นายรอมฎอน กล่าวด้วยว่า วันนี้ในวงประชุมยังมีความเห็นต่างกันอยู่ ถึงแนวทางดังกล่าวแต่ในภาพใหญ่ก็มองว่าเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ คือการสนทนากับคู่ขัดแย้ง ซึ่งวิธีการของรัฐบาลใหม่ เราจะสร้างความแตกต่างจากก่อนหน้านี้ ส่วนความชัดเจนในการยุบกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (ยุบ กอ.รมน.) นั้น เรื่องนี้ยังต้องมีการพูดคุยในคณะทำงาน และต้องเป็นฉันทามติร่วมกันของ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล

  • ปัดมีชื่ออยู่ในโปรสเตอร์ของขบวนการนักศึกษา 

เมื่อถามถึงการเปิดตัวขบวนการนักศึกษากลุ่มดังกล่าว จะทำให้การทำงานของคณะทำงานย่อยชุดของเราทำงานยากขึ้นหรือไม่ นายรอมฎอน กล่าวว่า คงมีความกังวลเกิดขึ้นหลายกลุ่ม แต่วันนี้เราโฟกัสวางกรอบทำงาน คงมีความกังวลอย่างที่ว่าจริง 

“เข้าใจว่ามีคนตั้งคำถาม มีข้อกังวลแบบนั้น มีชื่อของผมอยู่ในโปสเตอร์ด้วย ต้องขออนุญาตชี้แจงตรงนี้ด้วยนะว่า ผมก็ไม่ได้ไปร่วมงานนั้น ผมมีประชุมเรื่องเกณฑ์ทหารข้างบน ในวันนั้น มีหลายท่านถูกตั้งคำถาม แต่เราเชื่อว่า ถ้าเราฟังกันจริงๆ อดทนอดกลั้นกันจริงๆ และมีโฟกัสงานว่าเน้นตรงไหน เราน่าจะผ่านจังหวะความท้าทายตรงนี้ไปได้” นายรอมฎอน กล่าว

ส่วนนายกัณวีร์ กล่าวว่า ถ้าเป็นการทำประชามติ เพื่อสนับสนุนการแบ่งแยกดินแดน เราไม่สนับสนุน เพราะอยู่นอกกรอบรัฐธรรมนูญ แต่เราเปิดเสรีในการแสดงออกของประชาชน และไม่กังวลกับเรื่องที่เกิดขึ้นเพราะดำเนินการตามกรอบรัฐธรรมนูญ