'รอมฎอน' ปัดมีชื่อเอี่ยวขบวนการ นักศึกษาแบ่งแยกรัฐปาตานี ยันเป็นเรื่องอ่อนไหว
'รอมฎอน' ตัวแทน 'ก้าวไกล' คณะทำงานย่อยด้านสันติภาพ ย้ำชัดไม่เห็นด้วยแยก 'รัฐปาตานี' ปัดมีชื่อในโปสเตอร์ขบวนการศึกษา มีแนวคิดคุยคู่ขัดแย้ง 'บีอาร์เอ็น' หนึ่งในยุทธศาสตร์ ยังไม่ชัวร์ยุบ กอ.รมน.รอมติ 8 พรรคร่วม รับจำลองประชามติแบ่งแยกดินแดน เป็นเรื่องอ่อนไหว
เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2566 เวลา 16.00 น. ที่พรรคก้าวไกล คณะทำงานของ 8 พรรคการเมืองร่วมจัดตั้งรัฐบาลว่าด้วย สันติภาพชายแดนใต้ - ปาตานี (รัฐปาตานี) เป็นคณะทำงานย่อยมีการประชุมนัดแรกที่พรรคก้าวไกล โดยนายรอมฎอน ปันจอร์ ว่าที่ ส.ส.พรรคก้าวไกล ตอบคำถามสื่อมวลชนภายหลังประชุมเสร็จ ถึงกรณีการแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยที่จะมีการแบ่งแยกนครรัฐปาตานี ว่า แน่นอน เราอยู่ในกรอบของรัฐไทย และรัฐบาลไทย ต้องทำงานภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญไทย เชื่อว่า ถ้าถกเถียงเรื่องนี้กันจริงๆ มีทางเลือกเยอะแยะ ถ้ามีสติ โฟกัส อดทน อดกลั้นกันจริงๆ เราน่าจะเห็นทางเลือกที่ดีกว่านี้ได้ เราอาจจะต้องมีการรับฟังพูดคุยกับคนทุกกลุ่ม
เมื่อถามว่า ห่วงหรือไม่ ข้อเสนอในการแยกรัฐออกมา จะยิ่งเพิ่มความขัดแย้ง แตกแยก นายรอมฎอน กล่าวว่า ไม่ห่วง นี่ต่างหากคือ หน้าตาที่แท้จริงของความขัดแย้ง ต้องการความกล้าหาญในทางการเมือง ของรัฐบาลภายใต้การนำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่จะเผชิญกับโจทก์ยากนั่งลง และสนทนากับคนที่มีความคิดความฝันแตกต่างหลากหลายอย่างสุดขั้วได้ อย่าลืม อีกไม่กี่เดือนข้างหน้าจะครบรอบ 20 ปี ของความรุนแรงในชายแดนใต้ จากสถิติความรุนแรงลดลงจริง แต่ความขัดแย้งยังดำรงอยู่ ไม่มีใครกล้าเผชิญ ภายใต้รัฐบาลของเราที่เป็นประชาธิปไตย การแสดงหาทางออกเริ่มต้นตั้งสมมติฐานเผชิญหน้ากับความขัดแย้งนั้นก่อน และเราถึงจะแก้ปัญหาได้ ไม่ใช่เป็นการหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง
เมื่อถามว่า มีแนวคิด ไปพูดคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็น เหมือนรัฐบาลก่อน หรือไม่ นายรอมฎอน กล่าวว่า ยังมีความเห็นแตกต่างนิดหน่อยในเรื่องระดับความสำคัญการเจรจาพูดคุย แต่โดยภาพใหญ่เราเห็นว่า การเจรจาพูดคุยสันติภาพ เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสันติภาพทั้งหมด แต่เป็นส่วนหนึ่งที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญเพราะนั่นคือการตกลงกัน สนทนากันกับคู่ขัดแย้ง วันนี้โชคดีเรามีอดีตหัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพเมื่อ10 ปีที่แล้วนั่งอยู่ด้วย ทบทวน คิดหนทางสานต่อจากรัฐบาลก่อน เพราะเราเชื่อว่า การพูดคุยยังจำเป็น นี่อาจจะเป็นวิธีการใหม่ๆ ที่สร้างความแตกต่างจากรัฐบาลก่อนหน้า
เมื่อถามถึงการเปิดตัวขบวนการนักศึกษากลุ่มดังกล่าว จะทำให้การทำงานของคณะทำงานย่อยชุดของเราทำงานยากขึ้นหรือไม่ นายรอมฎอน กล่าวว่า คงมีความกังวลเกิดขึ้นหลายกลุ่ม แต่วันนี้เราโฟกัสวางกรอบทำงาน คงมีความกังวลอย่างที่ว่าจริง
“เข้าใจว่ามีคนตั้งคำถาม มีข้อกังวลแบบนั้น มีชื่อของผมอยู่ในโปสเตอร์ด้วย ต้องขออนุญาตชี้แจงตรงนี้ด้วยนะว่า ผมก็ไม่ได้ไปร่วมงานนั้น ผมมีประชุมเรื่องเกณฑ์ทหารข้างบน ในวันนั้น มีหลายท่านถูกตั้งคำถาม แต่เราเชื่อว่า ถ้าเราฟังกันจริงๆ อดทนอดกลั้นกันจริงๆ และมีโฟกัสงานว่าเน้นตรงไหน เราน่าจะผ่านจังหวะความท้าทายตรงนี้ไปได้” นายรอมฎอน กล่าว
เมื่อถามว่า กอ.รมน.บอกแถลงการณ์กลุ่มนักศึกษาอาจะหมิ่นเหม่ และอาจจะย้อนดำเนินคดีด้วย มันจะขัดกับสิ่งที่เราพยายามจะลดบทบาทการทหารลง นายรอมฎอน กล่าวว่า บทบาท กอ.รมน.ตลอด 8 ปี ที่ผ่านมาภายใต้รัฐบาล คสช. และรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะมีท่าทีระแวดระวัง ประเมินสถานการณ์ แต่ทั้งหมดนี้เข้าใจว่าต้องใช้เวลาทำความเข้าใจ ว่าในสถานการณ์ใหม่ ทิศทางใหม่ภายใต้รัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย จะมีการเปลี่ยนแปลง ไม่ได้รีบร้อน เพราะทั้งกระบวนการของกอ.รมน.เอง และหน่วยงานความมั่นคง คงต้องมีเวลานั่งพูดคุยกับฝ่ายการเมืองอยู่ดี ไม่ช้าก็เร็ว
เมื่อถามย้ำว่า ขอคำยืนยันอีกทีว่า ตกลงถ้าเป็นรัฐบาล กอ.รมน.ยุบแน่นอนใช่ หรือไม่ นายรอมฎอน กล่าวว่า อันนี้ ยังต้องคุยกันอยู่ วันนี้เป็นหนึ่งในประเด็นที่เราประเมิน อะไรก่อน อะไรหลัง ถ้าเรายังทำงานร่วมกันในฐานะรัฐบาลพรรคร่วม ต้องได้ฉันทามติร่วมกัน อาจจะบอกได้แค่ว่าเราอยู่ในกระบวนการนั้น คราวหน้าเรื่องนี้อาจจะมานั่งดูกันเรื่องจังหวะเวลา
เมื่อถามว่า สังคมกังวลกรณีการจำลองการทำประชามติ ถึงสิทธิที่จะตัดสินใจกันอีกครั้งหนึ่ง นายรอมฎอน กล่าวว่า วันนี้ไม่ได้คุยถึงขั้นขนาดนั้น หรือมองเรื่องการลงประชามติจำลองอย่างไร มีโน้ตไว้นิดหนึ่งว่า การลงประชามติจำลองนี้เคยเกิดขึ้นแล้ว เป็นกิจกรรมของกลุ่มนักศึกษาจริงๆ แล้วเกือบครบรอบ10 ปี พอดี 10 ปีที่แล้วก็มีการทดลองทำแบบนี้ในฐานะที่เป็นกิจกรรมรณรงค์ แต่แน่นอนประเด็นนี้อ่อนไหว และในที่ประชุมตระหนักดี เราก็คงต้องค่อยๆ คุย ค่อยๆ วางจังหวะก้าว