รัฐบาลคู่ขนาน เตรียมงานได้แต่อย่าล้ำเส้น
พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลได้วางแผนเตรียมงานสำหรับการเป็นรัฐบาลใหม่ แต่จะต้องอยู่ในกรอบโดยเฉพาะการหารือกับส่วนราชการที่มีข้อมูลบริหารราชการแผ่นดินอยู่ในมือ เพราะยังไม่มีสถานะเป็นรัฐบาลใหม่ ต้องไม่ล้ำเส้นแนวปฏิบัติการบริหารประเทศ
การเลือกตั้ง ส.ส.ใกล้จะครบ 1 เดือนแล้ว ในขณะที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อยู่ระหว่างเตรียมประกาศผลการเลือกตั้ง ซึ่งในช่วงนี้พรรคก้าวไกลที่ได้คะแนนเสียงอย่างไม่เป็นทางการมากเป็นอันดับ 1 จำนวน 151 คน ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลรวม 8 พรรคการเมือง โดยได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ร่วมกันไปเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2566 เป็นการวางแนวทางการทำงานร่วมงาน 23 ข้อ และ 5 แนวทางปฏิบัติ ซึ่งพรรคก้าวไกลต้องการให้เป็นพื้นฐานของรัฐบาล และการทำงานร่วมกันระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล
ภายหลังการลงนามเอ็มโอยูดังกล่าวได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล เพื่อเป็นการเตรียมงานของ 8 พรรคการเมืองที่กำลังจะขึ้นมาเป็นรัฐบาลใหม่บริหารประเทศ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อไม่ให้การบริหารประเทศต้องสะดุดช่วงรอยต่อของรัฐบาล โดยมีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และมีกรรมการจากทุกพรรคการเมืองที่ร่วมจัดตั้งรัฐบาล โดยในการประชุมครั้งแรกได้ตั้งคณะทำงาน 7 คณะ เช่น ด้านพลังงาน ด้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ด้านภัยแล้งและเอลนีโญ
ต่อมาได้มีการจัดตั้งคณะทำงานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะด้านการเปลี่ยนผ่านงบประมาณและการจัดทำงบประมาณฐานศูนย์ (Zero-based budgeting) ที่เข้ามาดูรายละเอียดงบประมาณปี 2566 ที่จะสิ้นสุดในเดือน ก.ย.2566 และเข้ามาดูรายละเอียดงบประมาณปี 2567 ที่สำนักงบประมาณอยู่ระหว่างจัดทำ โดยรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศอาจขอให้มีการปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จัดทำไว้วงเงิน 3.35 ล้านล้านบาท
ที่ผ่านมาพรรคก้าวไกลได้เข้าพบหลายองค์กร เพื่อนำเสนอแนวทางนโยบายรัฐบาลใหม่และรับฟังความเห็น เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันแห่งประเทศไทย ซึ่งทำให้รับทราบข้อเสนอของแต่ละกลุ่มในสังคม โดยเฉพาะนโยบายที่อาจส่งผลกระทบ เช่น การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในปีแรกเป็นวันละ 450 บาท ที่ภาคเอกชนเห็นว่าเป็นการปรับขึ้นแบบก้าวกระโดดจากปัจจุบันที่วันละ 328-354 บาท
พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลได้วางแผนเตรียมงานสำหรับการเป็นรัฐบาลใหม่ แต่จะต้องอยู่ในกรอบโดยเฉพาะการหารือกับส่วนราชการที่มีข้อมูลบริหารราชการแผ่นดินอยู่ในมือ เพราะยังไม่มีสถานะเป็นรัฐบาลใหม่ และคณะรัฐมนตรีที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภาก่อน ซึ่งแม้จะมีเจตนาที่ดีแต่ปัจจุบันยังมีรัฐบาลรักษาการที่จะพ้นจากหน้าที่ไปเมื่อได้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ารับหน้าที่ ดังนั้น พรรคร่วมรัฐบาลใหม่จึงต้องเตรียมงานเพื่อไม่ให้การเข้ารับหน้าที่มีรอยต่อ แต่ต้องไม่เป็นการล้ำเส้นแนวปฏิบัติการบริหารประเทศ