แบ่ง "4 กลุ่ม" ชิงอำนาจ ‘เพื่อไทย’ เดิมพัน"ทักษิณ"กลับ "อุ๊งอิ๊ง"นายกฯ
ทั้งหมดคือความเคลื่อนไหวของ “เพื่อไทย” ที่เริ่มสนใจความเป็นไปของ “นายใหญ่-นายหญิง” มาเสียกว่าการจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล โดย 4 กลุ่มดังกล่าว แต่ละกลุ่มมีความมุ่งหวังที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนคือ การรักษาอำนาจและเข้าสู่อำนาจ
ข่าววงใน "คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์" อดีตภรรยา โทนี่ “ทักษิณ ชินวัตร” หารือคนในครอบครัวชินวัตร ก่อนจะมีมติครอบครัวเบรก “ทักษิณ” เลื่อนวัน ว. เวลา น. กลับไทย ตามที่กำหนดเอาไว้ภายในเดือน ก.ค.2566 ให้ขยับออกไปก่อน
พร้อมทั้งสรุปเส้นทางการเมืองของ “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย ยังไม่เหมาะจะนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีในสถานการณ์นี้ ด้วยเหตุผลด้านประสบการณ์ วัยวุฒิ คุณวุฒิ ที่ยังสามารถรอจังหวะที่เหมาะสมได้
ผ่านมาเกือบหนึ่งสัปดาห์ยังไม่มี “บิ๊กเนม-โนเนม” ภายในพรรคเพื่อไทยออกมาปฏิเสธอย่างเป็นทางการ แต่กลับไล่รีเช็คต้นสายกระแสข่าวดังกล่าว อ่านใจ “ครอบครัวชินวัตร” เพื่อประคับประคองเกมการเมืองของตัวเอง
เมื่อมีข่าว “นายหญิง” เคลื่อนเกม “เบรกพ่อ-ค้านลูก” ทำให้เกิดแรงสะเทือนในพรรคเพื่อไทยอย่างมาก บรรดาแกนนำพรรค-ลูกพรรค เริ่มพลิกตำราคิดอ่านสถานการณ์การเมืองกันใหม่
บรรยากาศภายในพรรคเพื่อไทยเวลานี้ จึงค่อนข้างชุลมุน แตกออกเป็นหลายแนวคิด นำมาสู่หลายแนวทางที่จะขับเคลื่อนการเมืองต่อ
กลุ่มหนึ่ง เชียร์ให้ “ทักษิณ” กลับบ้านโดยบริสุทธิ์ใจ ส่วนใหญ่จะจัดอยู่ในบรรดา “สายตรง” ครอบครัวชินวัตร แต่หวังดีไม่อยากให้รีบกลับในช่วงเดือน ก.ค. เนื่องจากการเมืองยังคุกรุ่น
โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพิ่งประกาศรับรอง ส.ส. และอยู่ระหว่างการเปิดประชุมสภาฯ ต่อด้วยการประชุมรัฐสภา เพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี หากเกิดเหตุการณ์พลิกผันจากแผนที่วางเอาไว้ อาจโดนหลอก-โดนหักหลัง ตามที่ “คุณหญิงพจมาน” หวั่นเกรง
ฉะนั้นหากการประเมิน “คู่แข่ง-คู่แค้น” จึงต้องรีเช็คทุกย่างก้าว เพื่อไม่ให้เพลี่ยงพล้ำตกไปอยู่ในหลุมพรางของ “ผู้มีอำนาจ” ได้ เพราะบทเรียนที่ผ่านมา “ทักษิณ” โดนหลอกให้เชื่อมาหลายครั้งแล้วเช่นกัน
กลุ่มสอง ไม่อยากให้“ทักษิณ”กลับในเวลานี้ แม้เบื้องหน้าจะเชียร์ให้กลับ แต่ภายในลึกๆ เกรงว่าตัวเองจะสูญเสียการนำ เพราะที่ผ่านมา “ทักษิณ” เลือกใช้บริการคนเพียงแค่บางกลุ่ม ในการปรึกษาหารือและวางยุทธศาสตร์การเมือง
เนื่องจากทักษิณอยู่ห่างไกลแหล่งข้อมูล หากต้องการข้อมูลสำคัญในการตัดสินใจ ต้องใช้บริการคนที่ไว้ใจได้เท่านั้น การประเมินสถานการณ์หลายครั้งที่ผ่านมา จึงมักมีปัญหาเกิดขึ้น
หากทักษิณกลับไทยเมื่อไร “นักรบห้องแอร์” อาจร้อนรนมากที่สุด ยิ่งเพิ่งพ่ายศึกเลือกตั้งให้หอกข้างแคร่อย่างพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ยังไม่มีการเชือด “บิ๊กเนมเพื่อไทย” แม้แต่คนเดียว ดังนั้นเมื่อคลื่นลมสงบ อาจมีการเชือดไก่ให้ลิงดู
นอกจากนี้ บรรดา “แกนนำเพื่อไทย” ครอบครัวชินวัตรสายภาคเหนือ อาจเป็นอีกกลุ่ม ที่ลึกๆ แล้ว ไม่อยากให้ “พี่ชาย” กลับเมืองไทย เพราะย่อมสูญเสียการนำเช่นกัน
แถมในศึกเลือกตั้ง “ภาคเหนือ” พรรคเพื่อไทย โดนเจาะในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ แม้จะอ้างกระแส “ก้าวไกล” มาแรง แต่ส่วนหนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า มาจากการจัดทัพผิดพลาด โยกสลับเด็กใครเด็กมันลงรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่ง “เจ๊บางคน” รู้ตื้นลึกหนาบางเป็นอย่างดี
กลุ่มสาม เชียร์ให้ “แพทองธาร” นั่งเก้าอี้นายกฯ หากพรรคก้าวไกล ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาล หรือในกรณีที่ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล แคนดิเดตนายกฯ ต้องประสบกับอุบัติเหตุทางการเมือง
ต้องยอมรับว่า เสียงสนับสนุน “แพทองธาร” มีจำนวนมากทั้ง “ทีมยุทธศาสตร์-ว่าที่ส.ส.-ทีมงานพรรค” เนื่องตัวของ “แพทองธาร” ลงพื้นที่หาเสียงและผูกพันกับ “บิ๊กเนม-ว่าที่ ส.ส.” พ่วงด้วยนามสกุลชินวัตรที่ “ลูกพรรค” อยากสนับสนุน “นายตัวจริง” มากกว่า
อีกทั้งยังมี “ทีมคนข้างกาย” ที่คอยติดสอยห้อยท้ายช่วงหาเสียงเลือกตั้ง กล่อมเช้า-กล่อมเย็น อยากให้ “แพทองธาร” รอส้มหล่นนั่งเก้าอี้นายกฯ
โดยกองเชียร์แพทองธารมองว่า หากส้มหล่นทับ แต่ “นายใหญ่-นายหญิง” ยกเก้าอี้ให้คนนอกตระกูลชินวัตร อาจจะยากต่อการคอนโทรล สั่งขวาอาจจะหันไปทางซ้าย สั่งให้หันซ้ายอาจจะหันไปทางขวา ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อแผนก่อนกลับบ้าน ระหว่างกลับบ้าน และหลังกลับบ้านของ “ทักษิณ”
เมื่อมีเกมกลับบ้านเป็นเดิมพัน “ทีมแพทองธาร” จึงงัดสารพัดข้อดีมาเชื่อมโยง เพื่อผลักดัน “แพทองธาร” ขึ้นสู่อำนาจให้ได้
กลุ่มสี่ ลุ้นให้ “แพทองธาร” ไม่รับนั่งเก้าอี้นายกฯ เพื่อให้ 2 แคนดิเดตนายกฯทั้ง "เศรษฐา ทวีสิน” และ “ชัยเกษม นิติสิริ” มีความหวัง โดยเฉพาะตัวของ “เศรษฐา” และคนข้างกาย พยายามโชว์ภาพลักษณ์ด้านเศรษฐกิจ พยายามต่อสายไปยัง “แกนนำ-ว่าที่ส.ส.” ให้ช่วยสนับสนุน
ต้องจับตาว่า “เศรษฐา-ทีมงาน” จะสามารถผลักดันตัวเองให้มาอยู่ในตัวเลือกของ “ครอบครัวชินวัตร” ได้มากน้อยเพียงใด เนื่องจากมีกระแสข่าวว่า ภาพลักษณ์ของ “เศรษฐา” ในระยะหลัง “ผู้มีอำนาจ” ไม่ค่อยจะแฮปปี้สักเท่าไร
ส่วนตัวของ “ชัยเกษม” มีความพยายามผลักดันให้มาเป็น “หุ่นเชิด” แทน “แพทองธาร” เช่นกัน แต่ติดปัญหาสุขภาพ ซึ่งอยู่ระหว่างการรักษาตัว
ทั้งหมดคือความเคลื่อนไหวของ “เพื่อไทย” ที่เริ่มสนใจความเป็นไปของ “นายใหญ่-นายหญิง” มาเสียกว่าการจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล โดย 4 กลุ่มดังกล่าว แต่ละกลุ่มมีความมุ่งหวังที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนคือ การรักษาอำนาจและเข้าสู่อำนาจ