สรุปละเอียดยิบปมร้อน 'หุ้น ITV' คดีซ่อนเงื่อน พลิกเกมหักเหลี่ยม

สรุปละเอียดยิบปมร้อน 'หุ้น ITV' คดีซ่อนเงื่อน พลิกเกมหักเหลี่ยม

การเมืองร้อนฉ่า เมื่อปมหุ้นสื่อกลับมาหลอกหลอน “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล แคนดิเดตนายกฯ ตัวละครฉากหลังเริ่มโผล่ออกมาให้เห็น บันทึกการประชุมผู้ถือหุ้น ITV ตามเอกสาร แตกต่างไปจากคลิปบันทึกการประชุม คดีจึงซ่อนเงื่อนพลิกเกมหักเหลี่ยมออกมาให้เห็น

   การเมืองร้อนฉ่า เมื่อปมหุ้นสื่อกลับมาหลอกหลอน “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล แคนดิเดตนายกฯ จนหวั่นจะซ้ำรอย “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ต้องเผชิญกับปมถือหุ้นบริษัท วีลัค มีเดีย จนสิ้นสภาพความเป็น ส.ส.

   สำหรับชะตาทางการเมืองของ “พิธา” แขวนอยู่บนเส้นด้าย เมื่อมีการตรวจสอบการถือครอง “หุ้น ITV” แม้จะถือครองในฐานะผู้จัดการมรดก ซึ่ง “พิธา” ได้โอนให้แก่ทายาทไปแล้ว แต่การตรวจสอบข้อเท็จจริงยังดำเนินต่อไป

   “เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” อ้างอิงบันทึกการประชุมโดย “ภาณุวัฒน์ ขวัญยืน” ผู้ถือหุ้นเข้าประชุมด้วยตนเอง ถามอีกว่า บริษัท ITV มีการดำเนินงานเกี่ยวกับสี่อหรือไม่  คำตอบคือ “ปัจจุบันบริษัทยังดำเนินกิจการอยู่ ตามวัตถุประสงค์ของบริษัท และมีการส่งงบการเงินและยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคลตามปกติ”

   ขณะเดียวกัน คืนวันที่ 11 มิ.ย.2566 รายการข่าว 3 มิติ ช่อง 3 เผยแพร่คลิปการประชุมผู้ถือหุ้น ITV โดยเนื้อหาการตอบคำถามดังกล่าว ของประธานในที่ประชุม แตกต่างไปจากรายงานบันทึกการประชุม

    สำหรับจุดเริ่มต้น การร้องให้ตรวจสอบการถือหุ้น ITV เกิดจาก “นิกม์ แสงศิรินาวิน” ผู้สมัคร ส.ส.พรรคภูมิใจไทย เขต 17 กรุงเทพมหานคร ซึ่งเคยเป็นผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 และถือหุ้น ITV เช่นกัน เป็นผู้เปิดประเด็นเมื่อ 24 เม.ย.2566 โดยโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า ให้หัวหน้าพรรคที่มีหุ้น ITV 42,000 หุ้น มอบตัวกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และต่อมาได้ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้เมื่อวันที่ 9 พ.ค.2566

   ตามข้อมูลของ “นพรุจ วรชิตวุฒิกุล” อดีตแกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006 ซึ่งเคยถูกจำคุกร่วมกับแกนนำ นปช. คดีบุกบ้านพักสี่เสาเทเวศร์ ยื่นคำร้องเพิ่มเติมต่อ กกต.ขอให้เชิญมาเป็นพยาน กรณีที่ยื่นให้ตรวจสอบการถือหุ้นสื่อ ITV ของ “พิธา”

   - 9 พ.ค.2566 “เรืองไกร” ยื่นคำร้องกับ กกต.ครั้งแรก กรณีกล่าวหาว่า “พิธา” ถือครองหุ้น ITV จำนวน 42,000 หุ้น โดยอ้างอิงหลักฐานจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า พิธา ถือครองหุ้นไอทีวี ลำดับที่ 7,138 โดยไอทีวี ยังคงดำเนินกิจการอยู่ และในปี 2565 ยังประกอบกิจการ รับจ้างโฆษณา ประชาสัมพันธ์ทุกชนิดทุกประเภท มีรายได้ปี 2565 รวม 21 ล้านบาท และมีรายได้ปี 2564 รวม 24 ล้านบาท

   - 9 พ.ค.2566 “พิธา” ชี้แจงภายหลังถูกเรืองไกรยื่นคำร้องต่อ กกต.กรณีถือครองหุ้น ITV โดยระบุว่า เป็นหุ้นที่มาจากการเป็น “ผู้จัดการมรดก” ภายหลังบิดาเสียชีวิตเมื่อปี 2549

   - 10 พ.ค.2566 “เรืองไกร” ยื่นหลักฐานเพิ่มเติมให้ กกต.โดยอ้างอิงเอกสาร บมจ.6 จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ที่พบว่าพิธาถือหุ้นอยู่ และในรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ITV เมื่อ 24 เม.ย.2566 มีการสอบถามผู้บริหารว่า ITV ยังเป็นสื่ออยู่หรือไม่ และผู้บริหารได้ตอบว่า ยังคงประกอบกิจการด้านสื่อสารมวลชนอยู่ พร้อมตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่าพิธามิได้แจ้งถือครองหุ้นนี้ต่อสำนักงาน ป.ป.ช.กรณีเข้ารับตำแหน่ง ส.ส.เมื่อปี 2562 ด้วย

   - 10 พ.ค.2566 “พิธา” ชี้แจงกรณีถือหุ้นสื่ออีกครั้ง ว่ามีเจตนาหวังผลทางการเมือง ลดทอนความเชื่อมั่นประชาชน ช่วงก่อนวันเลือกตั้ง 14 พ.ค.2566 ส่วนประเด็นไม่เจอหุ้น ITV ในบัญชีทรัพย์สินที่แจ้งกับ ป.ป.ช.นั้น ได้ยื่นเพิ่มเติมภายหลังเมื่อปี 2562 แล้ว และ ป.ป.ช.มิได้ตรวจสอบเพิ่มเติม

 

สรุปละเอียดยิบปมร้อน \'หุ้น ITV\' คดีซ่อนเงื่อน พลิกเกมหักเหลี่ยม
 

   - 11 พ.ค.2566 “เรืองไกร” เปิดหลักฐานเพิ่มเติม หาก กกต.และศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย อาจต้องพ้นจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคด้วย เนื่องจากข้อบังคับของพรรคก้าวไกล ยึดตามรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้อาจกระทบถึงการส่งผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคก้าวไกล ต้องโมฆะไป เนื่องจากพิธาไม่มีคุณสมบัติเป็นหัวหน้าพรรค ที่จะลงนามรับรองผู้สมัครรับเลือกตั้งได้

   - 29 พ.ค.2566 “เรืองไกร” ยื่นหลักฐานกับ กกต.เพิ่มเติม เป็นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 20/2563 ว่า “ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์” ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ (ขณะนั้น) มีลักษณะต้องห้ามลงสมัคร ส.ส. เนื่องจากถือครองหุ้นสื่อ โดยยึดตามตัวบทกฎหมายเพียงว่าถือหุ้นหรือไม่ และบริษัทยังประกอบกิจการ หรือมีความสามารถที่จะกลับมาประกอบกิจการได้หรือไม่ ไม่ได้มีการวางหลักต้องถือมากน้อยแค่ไหน

   - 5 มิ.ย.2566 มีกระแสข่าวว่า “พิธา” ขายหรือโอนหุ้น ITV ไปแล้ว

   - 6 มิ.ย.2566 “เรืองไกร” ให้ถ้อยคำและหลักฐานกับ กกต.เพิ่มเติม โดยขอให้ตรวจสอบคำสั่งของศาลปกครอง กรณีมีคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ในข้อพิพาทระหว่างสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) กับ ITV ว่า สัญญาการ่วมผลิตสื่อโทรทัศน์ยังคงมีผลอยู่หรือไม่

   - 6 มิ.ย.2566 “พิธา” ชี้แจงว่า มีการโอนหุ้น ITV ให้กับทายาทไปแล้ว ช่วงปลายเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา แต่จำวันที่โอนไม่ได้ และไม่ใช่เป็นการขาย โดยอ้างว่า ITV กำลังถูกฟื้นคืนชีพให้กลายเป็นบริษัทสื่อ และอาจส่งผลกระทบต่ออนาคตทางการเมืองของตัวเอง

   - 6 มิ.ย.2566 “เรืองไกร” ตั้งข้อสังเกตกรณี “พิธา” โอนหุ้น ITV ให้กับทายาทไปแล้ว คล้ายคลึงกับกรณี “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่อ้างว่าขายหุ้นบริษัท วีลัค มีเดีย จำกัด ซึ่งทำธุรกิจสื่อไปก่อนหน้านี้

สรุปละเอียดยิบปมร้อน \'หุ้น ITV\' คดีซ่อนเงื่อน พลิกเกมหักเหลี่ยม

   - 9 มิ.ย.2566 “กกต.” มีมติไม่รับคำร้อง 3 คำร้อง ปม “พิธา” ถือหุ้น ITV เหตุคำร้องยื่นเกินระยะเวลาตามกฎหมายกำหนด แต่มีมติรับเรื่องไว้พิจารณา ตาม ม.151 เหตุรู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง แต่ยังฝืน โดยจะมีการตั้งคณะกรรมการสืบสวนไต่สวน

   - มาตรา 151 ระบุว่า ผู้ใดรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิรับสมัครเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง แต่ยังลงสมัคร ต้องระวางโทษจำคุก 1-10 ปี ปรับ 20,000-200,000 บาท ให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี

   - 11 มิ.ย.2566 “ฐปณีย์ เอียดศรีไชย” เปิดคลิปวิดีโอบันทึกการประชุมผู้ถือหุ้น ITV ที่มีการร้องเรียนให้ตรวจสอบ ในรายการข่าว 3 มิติ ที่ปรากฏว่าคำตอบของประธานที่ประชุมเรื่องการดำเนินกิจการ ไม่ตรงกับเอกสารบันทึกการประชุม

   - ย้อนกลับไปที่ “กิตติ สิงหาปัด” พิธีกรรายการข่าว 3 มิติ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก เป็นภาพเอกสารบันทึกการประชุม เมื่อวันที่ 26 เม.ย.2566 ระบุว่า ภาณุวัฒน์ ขวัญยืน ผู้ถือหุ้น สอบถามว่า “ITV มีการดำเนินการเกี่ยวกับสื่ออยู่หรือไม่" ประธานในที่ประชุม ตอบว่า “ปัจจุบันบริษัทยังมีการดำเนินกิจการอยู่ ตามวัตถุประสงค์ของบริษัท และมีการส่งงบการเงินและยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคลตามปกติ” แต่ในคลิปการประชุมที่เปิดเผยในรายการ ภาณุวัฒน์ หนึ่งในผู้ถือหุ้นถามว่า “มีการดำเนินการเกี่ยวกับสื่อหรือทีวีไหมครับ” ขณะที่ “คิมห์ สิริทวีชัย” ประธานที่ประชุม ตอบว่า “ตอนนี้บริษัทยังไม่มีการดำเนินการใดๆ รอผลคดีความให้สิ้นสุดก่อน”

สรุปละเอียดยิบปมร้อน \'หุ้น ITV\' คดีซ่อนเงื่อน พลิกเกมหักเหลี่ยม

   - 12 มิ.ย.2566 “คิมห์ สิริทวีชัย” กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ออกแถลงการณ์ สั่งตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีบันทึกการประชุมผู้ถือหุ้นไม่ตรงกับข้อความในที่ประชุม

   - ค้นข้อมูลของ “ภาณุวัฒน์ ขวัญยืน” พบว่าเมื่อเดือน ก.พ.ปีเดียวกันนี้ ได้เข้าให้ปากคำในฐานะพยาน บริษัทคลีนิคนวลจันทร์ ของนิกม์ แสงศิรินาวิน ซึ่งเขาเป็นผุ้จัดการอยู่ ได้แจ้งความเมื่อปลายปี 2565 ว่าโดนปลอมใบสั่งซื้อยาอันตราย มูลค่ากว่าร้อยล้านบาท ยาดังกล่าวสามารถนำไปผลิตยาเสพติดได้ และเขายังถูกตั้งคำถามจากพรรคก้าวไกลว่าได้หุ้นมาอย่างไร ทำไมจึงตั้งคำถามดังกล่าว

   - “นิกม์ แสงศิรินาวิน” เปิดใจในรายการข่าว 3 มิติ ยอมรับว่า รู้จักกับ “ภาณุวัฒน์ ขวัญยืน” ซึ่งเป็นรุ่นน้องในที่ทำงาน และนิกม์ได้โอนหุ้น ITV ก่อนลงสมัคร ส.ส.ในการเลือกตั้ง 2566 ส่งผลให้ ภาณุวัฒน์ ขวัญยืน กลายเป็นผู้ถือหุ้น ITV

   - “นิกม์” ผู้สมัคร ส.ส.กทม.เขต 17 คลองสามวา พรรคภูมิใจไทย และอดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ เมื่อครั้งการเลือกตั้งปี 2562 โดยนิกม์ได้ปรากฏตัวบนสื่อสังคมอีกครั้ง ในประเด็นการยื่นร้องให้ กกต.ตรวจสอบ “พิธา” กรณีปมถือหุ้น ITV ที่ “นิกม์” ได้โพสต์แฉผ่านเฟสบุ๊กเมื่อวันที่ 24 เม.ย.2566 เตือนให้หัวหน้าพรรคที่มีหุ้น ITV จำนวน 42,000 หุ้น ออกมามอบตัวกับ กกต. หลังจากนั้น เป็นต้นมา ส่งผลทำให้ชื่อของ “นิกม์” เป็นที่จับตามองจากกระแสสังคมอีกครั้ง

สรุปละเอียดยิบปมร้อน \'หุ้น ITV\' คดีซ่อนเงื่อน พลิกเกมหักเหลี่ยม

   - “ชัยธวัช ตุลาธน” เลขาธิการพรรคก้าวไกล แถลงตอบโต้ 3 ประเด็น

    1.ความขัดแย้งระหว่างคลิปการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 ของ บ.ITV เมื่อวันที่ 26 เม.ย.2566 กับรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปีของบริษัท ในประเด็นที่ว่า ITV ยังดำเนินกิจการเกี่ยวกับสื่อหรือไม่

   2.ความขัดแย้งกันระหว่างคลิปการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 ของ บ.ITV เมื่อวันที่ 26 เม.ย.2566 กับแบบนำส่งงบการเงิน (ส.บช.3) ที่ไอทีวียื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเมื่อวันที่ 10 พ.ค.2566 และเอกสารงบไตรมาสแรกปี 2566 ของ ITV

   3.สุดท้าย พรรคก้าวไกลขอยืนยันกับว่าเราจะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อปกป้องรักษาเสียงของประชาชนผู้มีอำนาจสูงสุดของประเทศในระบอบประชาธิปไตยให้ได้

   - “เรืองไกร” เปิดหลักฐาน “พิธา” โอนหุ้น ITV 42,000 หุ้นให้ "น้องชาย" เมื่อวันที่ 25 พ.ค.2566 หลังรับสมัคร-เลือกตั้ง ส.ส. พร้อมเปิดงบการเงินฉบับย่อของ ITV และบริษัทย่อย ที่ระบุว่า 24 ก.พ.2566 มีการนำเสนอการลงสื่อให้กับกิจการที่เกี่ยวข้อง โดยเมื่อวันที่ 28 เม.ย.2566 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 2/2566 มีมติรับทราบรูปแบบการดำเนินธุรกิจของบริษัท โดยเป็นผู้ให้บริการลงสื่อโฆษณา

   ทั้งหมดคือความเคลื่อนไหวของคดี “หุ้น ITV” ที่ยังเป็นด่านสกัด “พิธา” บนเส้นทางสู่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 โดยต่างฝ่ายต่างงัดทุกกลยุทธ์และหลักฐานมาหักล้างข้อมูลอีกฝ่าย เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับ “ขั้ว” ของตัวเอง