ใครเป็นใคร? เปิดไทม์ไลน์ปม 'พิธา' ถือ 'หุ้น ITV' สรุป 'ITV' ยังเป็นสื่อไหม
สรุปให้แล้ว! เปิดไทม์ไลน์ รู้จักใครเป็นใคร? ปมถือ “หุ้น ITV” หลังมีหลักฐานใหม่คลิปประชุมผู้ถือหุ้น จาก “ข่าว 3 มิติ” ระบุว่า “ITV” ไม่เป็นสื่อ อาจช่วยให้ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หลุดจากการยื่นร้อง “หุ้นสื่อ”
ประเด็นร้อนล่าสุด ปมหุ้น ITV ที่มีประเด็นออกมาให้ตามอย่างต่อเนื่อง เกี่ยวกับการ “ถือหุ้น ITV” ของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ที่อาจจะทำให้ชวดเก้าอี้นายกฯ และอาจร้ายแรงถึงขั้นยุบพรรค “ก้าวไกล”
เมื่อคืนวันที่ 11 มิ.ย. 2566 “ข่าว 3 มิติ” ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ได้เผยแพร่บางช่วงบางตอนของการประชุมประจำปีของผู้ถือหุ้น ITV (ไอทีวี) เมื่อวันที่ 26 เม.ย. โดยมีช่วงหนึ่ง “คิมห์ สิริทวีชัย” ประธานคณะกรรมการบริษัท ในฐานะประธานที่ประชุม ได้ตอบคำถามผู้ถือหุ้นว่า
“มีคำถามมาจาก คุณภาณุวัฒน์ ขวัญยืน มาด้วยตัวเองนะครับ มีการดำเนินกิจการเกี่ยวกับสื่อหรือทีวีไหมครับ… ตอนนี้บริษัทยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ ก็รอผลคดีความให้สิ้นสุดก่อน”
ที่เป็นประเด็นก็เนื่องจากคลิปดังกล่าว ขัดแย้งกับรายงานการประชุมที่ถูกเผยแพร่ก่อนหน้านี้ราวกับหนังคนละม้วน โดยในรายงานฯระบุว่า "ปัจจุบันบริษัทยังมีการดำเนินกิจการอยู่ ตามวัตถุประสงค์ของบริษัท และมีการส่งงบการเงินและยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคลตามปกติ"
ส่งผลให้หลายคนตั้งคำถามว่า แล้วความจริงคืออะไรกันแน่? สำหรับใครที่ไม่ได้ตามข่าวมาตั้งแต่แรกอาจจะงงว่าเรื่องนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร “กรุงเทพธุรกิจ” จึงสรุปเรื่องราว พร้อมตัวละครสำคัญ ปม “หุ้น ITV” มาให้ เพื่อง่ายต่อการทำความเข้าใจในการติดตามข่าว
1. จุดเริ่มต้นของประเด็นนี้ เริ่มเมื่อวันที่ 24 เม.ย. ที่ผ่านมา “นิกม์ แสงศิรินาวิน” ผู้สมัครพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเคยเป็นอดีตสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวให้ หัวหน้าพรรคที่มีหุ้น ITV 42,000 หุ้น มอบตัวกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.
2. ต่อมาวันที่ 26 เม.ย. มีการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 ของ ITV ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ โดย “บันทึกการประชุม” แสดงให้เห็นว่า “ภาณุวัฒน์ ขวัญยืน” ผู้ถือหุ้น ซึ่งทราบภายหลังว่าเป็นผู้ใกล้ชิดและได้รับการโอนหุ้นมาจาก นิกม์ แสงศิรินาวิน ถามประธานที่ประชุมว่า บริษัท ไอทีวี มีการดำเนินงานเกี่ยวกับสี่อหรือไม่
คิมห์ ศิริทวีชัย ประธานที่ประชุม ตอบว่า ปัจจุบันบริษัทยังดำเนินกิจการอยู่ ตามวัตฤประสงค์ของบริษัท จึงเป็นที่เข้าใจว่าบริษัท ITV ยังคงประกอบธุรกิจสื่ออยู่
3. ถัดมา 10 พ.ค. “เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ยื่นหนังสือต่อกกต. ขอให้ตรวจสอบว่า การที่พิธาถือหุ้นใน ITV ที่เป็นธุรกิจสื่อและดำเนินงานมาจนถึงปัจจุบัน เข้าข่ายลักษณะต้องห้ามไม่ให้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) หรือไม่
4. ในวันเดียวกัน ITV ยื่นแบบนำส่งงบการเงิน (สบช.3) ที่ ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยระบุว่า ITV เป็นสื่อโทรทัศน์ ผลิตสินค้าหรือบริการประเภทสื่อโฆษณาและผลตอบแทนจากการลงทุน ซึ่งถูกเปลี่ยนจากปีบัญชี 2561-2562 เคยระบุประเภทธุรกิจไว้ว่า กิจกรรมของบริษัทโฮลดิ้งที่ไม่ได้ลงทุนในธุรกิจการเงินเป็นหลัก
5. ก้าวไกลชนะการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 14 พ.ค. ส่งผลให้พิธาขึ้นเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และเป็นผู้นำในการจัดตั้งรัฐบาล ส่วนเรืองไกรยังคงยื่นเรื่องและส่งหลักฐานเพิ่มเติมให้กกต. อีกหลายครั้ง รวมถึงมี “นักร้อง” คนอื่นเข้ายื่นเรื่องต่อกกต. เกี่ยวกับประเด็นถือหุ้นสื่อ ซึ่งอาจทำให้ก้าวไกลโดนยุบพรรคได้
6. ขณะที่ฝั่งพิธาไม่ค่อยได้ตอบโต้ในประเด็นนี้มากนัก จนกระทั่ง 6 มิ.ย. เขาได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า ในฐานะที่ตนเองเป็นผู้จัดการมรดก ได้โอนหุ้น ITV ทั้งหมดให้แก่ทายาทเรียบร้อยแล้ว เพื่อป้องกันการพยายามฟื้นคืนชีพไอทีวี ไม่ใช่การหลีกหนีความผิดแต่อย่างใด และยืนยันว่าพร้อมชี้แจงกับกกต. โดยไม่ได้กังวล ขอให้ทุกคนสบายใจและเดินหน้าเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ไปด้วยกัน
7. 9 มิ.ย. กกต. ตั้งกรรมการไต่สวนการถือหุ้น ITV ของพิธา ตาม มาตรา151 แห่งพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. เหตุรู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งแต่ยังฝืน โดยมีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 20 ปี
8. 11 มิ.ย. กกต. มีมติเป็นเอกฉันท์ 6 เสียง ไม่รับคำร้อง ปมพิธาถือหุ้น ITV แต่ให้รับเรื่องไว้พิจารณาเป็นความปรากฏ โดยจะตั้งคณะกรรมการสืบสวนไต่สวนต่อไป
9. คืนวันที่ 11 มิ.ย. “ฐปณีย์ เอียดศรีไชย” นักข่าว “ข่าว 3 มิติ” เปิดเผยคลิปวิดีโอการประชุมประจำปีของผู้ถือหุ้น ITV ช่วงที่ภาณุวัฒน์ถามว่า ITV ยังดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับสื่อหรือไม่ โดย คิมห์ ประธานคณะกรรมการบริษัท ได้ตอบว่า “ตอนนี้บริษัทยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ ก็รอผลคดีความให้สิ้นสุดก่อน”
10. รายการกรรมกรข่าวคุยนอกจอช่วงเช้าวันที่ 12 มิ.ย. นิกม์ได้ยอมรับว่า “ภาณุวัฒน์” ซึ่งเป็นคนที่ถามในที่ประชุมว่า ไอทีวียังคงดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับสื่อหรือไม่นั้น เป็นอดีตลูกน้องคนสนิทของตัวเองเคยทำงานที่คลินิก และตนก็เป็นผู้ขายหุ้นให้กับนายภาณุวัฒน์ โดยในวันประชุมเขาก็นั่งอยู่กับภาณุวัฒน์ พร้อมกล่าวว่า เรื่องนี้เขาเป็นทำคนเดียวไม่มีใครจ้างวาน
11. ช่วงเช้าวันที่ 12 มิ.ย. บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ INTOUCH ที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน ITV ออกหนังสือชี้แจง ถึงกรณีที่รายงานการประชุมไม่ตรงกับคลิปในรายการข่าว 3 มิติ ว่าทางบริษัทกำลังสอบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งเรื่องนี้ส่งผลต่อหุ้นของ INTOUCH และ GULF บริษัทแม่ ร่วงลงทันที
12. ขณะที่พรรคก้าวไกล โดย ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล แถลงข่าวถึงข้อเท็จจริงคดีหุ้น ITV โดยตั้งข้อสังเกตว่า เรื่องนี้เป็นการพยายาม “คืนชีพ ITV” ให้เป็นสื่ออีกครั้ง เพื่อสกัดไม่ให้ก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาล พร้อมตั้งคำถามว่า INTOUCH รู้เรื่องการแก้บันทึกการประชุมนี้หรือไม่ แถมยังเป็นวันเดียวกันกับที่เรืองไกลยื่นหนังสือถึงกกต. อีกด้วย
นอกจากนี้ยังพบพิรุธเอกสารงบการเงินไตรมาสแรกของปี 2566 และการเปลี่ยนแปลงในแบบ สบช.3 หลังสุดของ ITV ซึ่งไม่สอดคล้องกับคำตอบของคิมห์ในที่ประชุมผู้ถือหุ้น พร้อมขอบคุณสื่อมวลชนที่ช่วยเปิดโปงขบวนการ “ปลุกผี ITV”
อย่างไรก็ตาม ศึกครั้งนี้ยังคงดำเนินต่อไป ยังไม่มีข้อสรุป จนกว่ากกต. จะไต่สวนเสร็จ แต่คลิปเสียงที่ปล่อยออกมานี้ ถือว่ามาได้ถูกช่วงถูกเวลา เพราะที่ผ่านมาก้าวไกลแทบไม่เคยเคลื่อนไหวในเรื่องนี้อย่างชัดเจน ปล่อยให้สื่อมวลชนได้ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง และให้ประชาชนคอยจับจ้องการทำงานของทุกฝ่ายอย่างใกล้ชิด เรียกได้ว่าเป็น “ไพ่ตาย” ที่สามารถพลิกเกมและทำให้ก้าวไกลถือไพ่เหนือกว่าอย่างชัดเจน
กราฟิก: ณัชชา พ่วงพี