ฉากทัศน์การเมือง หลัง "พิธา"ติดชนัก-เปลี่ยน "พท." คุมเกม
2นักวิชาการ ผู้คร่ำหวอดการเมือง วิเคราะห์ผ่านรายการ DEEP Talk กรุงเทพธุรกิจ มองตรงกันว่า "ปมคุณสมบัติ" ขวางทาง "พิธา" ได้ และจากนั้น การเมืองจะเปลี่ยนมือ ให้ "พรรคเพื่อไทย" เป็นผู้คุมเกม
รายการ Deep Talk กรุงเทพธุรกิจ ตั้งประเด็น ให้ 2 นักวิชาการณ์ ไขข้อข้องใจ ปม “คุณสมบัติ” ของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าและแคนดิเดตนายกฯ พรรคก้าวไกล
ว่าด้วย การถือครองหุ้นไอทีวี จำนวน 4,200 หุ้น ฐานะ ผู้จัดกการกองมรดก ที่แม้ตอนนี้ “พิธา” จะโอนหุ้นดังกล่าวให้กับทายาท ถือครองแล้ว ทว่ามิวายที่ถูกตั้งเรื่องไต่สวนจาก “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” (กกต.) ปมเข้าข่ายผิดพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 151 กรณีรู้ว่าตนเองขาดคุณสมบัติ แต่ยินยอมให้พรรคเสนอชื่อลงเลือกตั้ง หรือไม่
ทว่าไม่ว่า ผลของการพิจารณาคดีจะเป็นอย่างไร แน่นอนว่าย่อมส่งผลถึงฉากทัศน์การเมืองนับจากนี้ เป็นต้นไป และมีแนวโน้มอย่างยิ่งที่ “ว่าที่นายกฯ คนที่30” อาจไม่ใช่ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์”
ต่อประเด็นนี้ "รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต” ผู้อำนวยการหลักสูตรการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา นิด้า มองว่า ด่านที่จะหยุด พิธา ไม่ให้ขึ้นเป็น นายกฯ ได้ ไม่ใช่เรื่องคดี หรือ เรื่องขาดคุณสมบัติ ซึ่ง เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นหลังจากการเปิดประชุมสภาฯ หากมีส.ส.เข้าชื่อต่อประธานสภาฯ เพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญให้ชี้ขาด
“กรณีถูกฟ้องไม่ทำให้ถูกตัดขาดจากการเสนอชื่อเป็นนายกฯ แม้จะมีเรื่องไต่สวน มาตรา 151 แต่การทำงานไม่เร็ว ทั้งในชั้นของ กกต. อัยการ หรือแม้จะถูกส่งไปยังศาลทั้งศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา ต้องมีกระบวนการอีกหลายขั้นตอน ซึ่งอาจกินเวลานานให้ พิธา อาจอยูในตำแหน่งนายกฯ จนครบเทอม ส่วนข้อถกเถียงว่า ความเป็นผู้จัดการมรดก เท่ากับการถือครองหุ้นหรือไม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ระบุว่าผู้จัดการมรดกไม่ใช่เจ้าของมรดก แม้จะเป็นทายาท แต่เมื่อมรดกยังไม่ถูกแบ่ง ไม่ถือว่าผู้นั้นครอบครอง ขณะเดียวกันการโอนหุ้นให้ทายาทนั้น ตามกฎหมายเดียวกันกำหนดให้ย้อนไปตั้งแต่เจ้ามรดกตาย” รศ.ดร.พิชาย ระบุ
สำหรับประเด็นการถือครองหุ้น “รศ.ดร.พิชาย” ขยายความไว้ด้วยว่า ผู้จัดการมรดก คือ เป็นคำสั่งจากศาล เป็นสถานะทางกฎหมาย แม้ในใบการแสดงผู้ถือครองหุ้นระบุชื่อ พิธา ไม่ได้หมายความว่าเขาคือผู้ถือหุ้น แต่มีชื่อเขาเพราะหุ้นนั้นเป็นของกองมรดก
“หากตีความแบบ พิศดาร ปาฏิหาริย์ หรือไสยศาสตร์ ทางกฎหมายว่า ผู้จัดการกองมรดก คือ ผู้ถือหุ้น เมื่อพิธาเป็นผู้จัดการกองมรดก เท่ากับเป็นผู้ครอบครอง หรือ เจ้าของหุ้น เท่ากับหักล้างบรรทัดฐานกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยผู้จัดการมรดก จะวุ่นทั้งประเทศ ดังนั้นเมื่อพิจารณาความที่อยู่ในมือ และอำนาจของ กกต. ปัจจุบัน ไม่มีเหตุใดที่จะขวางการรับรอง พิธา ให้เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ของพรรคก้าวไกล ได้”
ขณะที่ประเด็นที่อาจไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ หากมี ส.ส.เข้าชื่อ 1 ใน 10 หรือ 50 คนจาก 500 คน นั้น “รศ.ดร.พิชาย” มองว่า ที่ผ่านมา แนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มี 2 แนวทาง คือ แนวที่วินิจฉัยช่วงแรก หากบริษัทใดมีวัตถุประสงค์ว่าเป็นสื่อ เท่ากับว่า เป็นสื่อ แต่อีกแนวที่เกิดขึ้นในช่วงหลัง พบว่าตีความซับซ้อนขึ้น คือ นอกจากดูวัตถุประสงค์ ยังดูว่าปัจจุบันดำเนินการ และมีรายได้จากกิจกรรมทำสื่อหรือไม่ ถ้าไม่ทำ ไม่มีรายได้จากการทำสื่อ เท่ากับสิ้นสภาพความเป็นสื่อ
รศ.ด.พิชาย ขยายความด้วยว่าศาลนำเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ แง่มุมของการครอบงำมาพิจารณา ผ่านสัดส่วนการถือครองหุ้นที่ สำหรับหุ้นของ พิธาเมื่อเทียบเป็นสัดส่วนเท่ากับ 0.0035% ถือว่าน้อยมาก ดังนั้นศาลวินิจฉัยว่าครอบงำสื่อไม่ได้
“ระยะหลังศาลใช้บรรทัดฐานแบบที่สอง แต่ในการพิจารณาศาลรัฐธรรมนูญไม่มีข้อผูกมัด หรือมีข้อผูกพันว่า ต้องนำคดีจากศาลอื่น พิจารณาด้วย เพราะศาลรัฐธรรมนูญมีความอิสระ เช่น กรณีไอทีวี ศาลปกครอง เคยวินิจฉัยไว่าไอทีวีไม่ได้เป็นสื่อ แต่ศาลรัฐธรรมนูญอาจไม่เป็นไปตามนั้น”
ทว่าในอุปสรรคขัดขวางการเสนอชื่อ “พิธา” ให้เข้าสู่ขั้นตอนโหวตนายกฯ นั้น ยังมีอีกด่าน ที่ “รศ.ดร.พิชาย” วิเคราะห์ คือ เสียงสนับสนุนจากรัฐสภา ที่ต้องได้เกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา คือ 750 คน หรือต้องได้เสียงโหวตเห็นชอบ 376 เสียงขึ้นไป หากนับจำนวน ส.ส.พรรค ที่สัญญาจะร่วมรัฐบาล ที่มี 312 เสียง ยังขาดอีก 64 เสียง ดังนั้นการหาเสียงมาเติม อาจต้องพิจารณาปัจจัยต่างๆ เช่น ดึงพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลเพิ่มเติม เช่น พรรคประชาธิปัตย์ อีก 25 เสียง, พรรคชาติไทยพัฒนา อีก 10 เสียง และ ขอเสียงจาก “ส.ว.” เพิ่มเติมอีก 20 เสียง
แต่ในชั้นนี้ ที่ “พิธา” ยังมีชนักปักหลัง ถือเป็นอุปสรรคและข้ออ้างที่ “ส.ว.” จะยกขึ้นมาเพื่อไม่โหวตได้ ทว่า “รศ.ดร.พิชาย” มองโดยความเชื่อว่าจะมี ส..ว.ที่มีใจเป็นกลาง และต้องการเห็นการเมืองเดินไปบนวิถีประชาธิปไตย และโหวตให้กับ “พิธา”
อย่างไรก็ดีในประเด็นการเมือง ที่เป็นเรื่องการชิงผลประโยชน์และแย่งอำนาจ แถมมีประเด็นของขั้วอนุรักษ์นิยม ที่ไม่ยอมถูกเปลี่ยน “นักวิชาการจากนิด้า” มองว่า โหวตพิธาให้เป็นนายกฯ คงไม่สำเร็จในการโหวตแค่ครั้งเดียว ซึ่งเท่ากับเปิดช่องให้ “เปลี่ยน” และเป็นโอกาสของ “พรรคเพื่อไทย” ที่จะขึ้นขอเสียงสนับสนุน
“ผมให้เต็มที่ โหวตพิธา ไม่เกิน 3 ครั้ง ซึ่งแค่การโหวตครั้งแรกแล้วไม่ได้ พรรคร่วมรัฐบาลต้องกลับมาคิดให้หนักว่า จะให้ พิธา สู้ต่อ หรือเปลี่ยน ซึ่งผมเชื่อว่า ขั้วรัฐบาลยังเป็นขั้วเดิม เพียงแต่คนที่จะถูกเสนอชื่อให้โหวตเป็นนายกฯ อาจเป็นคนของพรรคเพื่อไทย"รศ.ดร. พิชาย ประเมิน
ทว่าในสมการที่ "ส.ว." ยังถือหาง "ขั้วอำนาจเก่า" และมีคนมองว่า "พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ" อาจเป็น นายกฯ ตาอยู่ "อ.พิชาย" มองว่าไม่มีทางที่จะสวิงไปให้พรรคพลังประชารัฐได้ เพราะเชื่อว่า ส.ส.ที่อยู่ในสภาฯ แม้ไม่ได้เข้าร่วมรัฐบาลต้องมองเกมยาว ตระหนักในที่ยืนและบทบาทของตนเองจากนี้ไปให้ดี เพราะหากหนุนรัฐบาลเสียงข้างน้อย จะไปไม่รอด และเท่ากับพาตัวเองลงเหว แต่หากช่วยประคับประคองประชาธิปไตย สนับสนุนรัฐบาลเสียงข้างมาก แม้ตัวเองเป็นฝ่ายค้าน แต่ยังมีที่ยืนในสภาฯ รอสู้กันต่อใน 4 ปีข้างหน้า
รศ.ดร. พิชาย ประเมิน พร้อมฟันธงอีกครั้งว่า “เราต้องมีรัฐบาลที่มีเสียงข้างมากเกิดขึ้น ตามกลไก คือ ก้าวไกล และ เพื่อไทย หากพิธาหลุด ต่อจากนี้ไปคือ แคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทย แต่หากใครมองว่าต้องเป็น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ นั้น รอเผชิญหายนะของประเทศได้เลย”
ต่อกันที่ในมุมมองของ “ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล" อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นทางด้านกฎหมายไว้ว่า กรณีที่ กกต. ตรวจสอบ พิธา เรื่องมาตรา 151 นั้น เท่ากับเป็นการข้ามขั้นตอน และอาจซวย เพราะใช้อำนาจไม่ชอบ ข้ามขั้นตอน เพราะกรณีที่เป็นจุดเริ่มต้น คือ การถือหุ้นสื่อ ซึ่งการวินิจฉัยว่าเป็นหุ้นสื่อ หรือไม่ใช่สื่อฯ ยังไม่ชัดเจน แต่ กกต.ตั้งข้อหาอาญาไปแล้ว
“กกต. ตั้งเรื่องสอบ แล้วบอกว่ามีหลักฐาน คือ การฟังความข้างเดียว และไม่ยอมใช้บรรทัดฐานของศาลกีฏา ที่ชี้ในคดีของนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ผู้สมัครส.ส.ประชาธิปัตย์ ที่ กกต.ไม่รับสมมัครเพราะถือหุ้น AIS จำนวน 400 หุ้น โดยศาลฎีกาบอกว่า ถือหุ้นน้อยมากไม่มีผลในการให้คุณให้โทษหรือครองงำ จึงสั่งให้ กกต. รับรองการสมัคร ผมมองว่าบรรทัดฐานตรงนี้ กกต. ควรนำมาพิจารณาในกรณีของพิธา แต่อย่างไรก็ดีแม้มีประเด็นตรวจสอบ ตามมาตรา 151 สุดท้าย กกต. ต้องรับรอง พิธาให้เป็น ส.ส. เพราะตามกฎหมาย กกต. จะไม่รับรองมีกรณีเดียวคือ ทุจริตเลือกตั้ง” ผศ.ดร.ปริญญา ให้ความเห็น
ขณะที่ประเด็นทางสังคมที่ผ่านมา 1 เดือนแล้ว “กกต.” ยังไม่ประกาศรับรองผลเลือกตั้ง ทั้งที่ส่วนใหญ่ไม่มีเรื่องร้องคัดค้านหรือร้องเรียนที่เป็นปัญหาให้ตรวจสอบตามกฎหมาย “อ.ปริญญา” มองว่า เป็นการชะลอเวลาของการเปลี่ยนแปลงเท่านั้น แต่บทสรุปสุดท้าย เชื่อมั่นว่าไม่มีใครขวางพรรคอันดับหนึ่งเป็นนายกฯ ได้
ทว่าขวากหนามของการเสนอชื่อ “พิธา” เป็นนายกฯ นั้น “นักวิชาการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” เห็นพ้องว่า ยังมี โดยเฉพาะ การกำหนดให้ ส.ว.ร่วมโหวต ซึ่งเกี่ยวโยงกับคดีที่ พิธา ถูกตรวจสอบในระหว่างนี้ ไปจนถึงวันที่ถูกเสนอชื่อให้โหวตเป็นนายกฯ ส่วนตัวมมองว่า ความที่เกิดขึ้นเป็นโอกาสที่ พิธา จะได้เป็นหรือไม่ อยู่ที่ 50 ต่อ 50
“หลังการเลือกประธานสภาฯ ไปจนถึงวันโหวตนายกฯ มีช่องว่างประมาณ 1 เดือนที่เรื่องอาจถูกส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรนูญอาจรับคำร้องและสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้นเสียงโหวตนายกฯ ที่ต้องได้ 376 เสียง เมื่อพิจารณาแล้วยังขาดอีก 64 เสียง หรืออาจจะมากกว่านี้ หาก กกต. ไม่รับรอง ว่าที่ส.ส.จากพรรคก้าวไกล ส่วนที่หวังเสียงจากส.ว. นั้น ประเมินได้ว่า ส.ว. 250 คน มีคนที่เป็นของ พล.อ.ประยุทธ์ 100 คน เป็นของ พล.อ.ประวิตร 80 คน ส่วนที่เหลือ คือ กลุ่มอิสระ ประมาณ 70 คน ดังนั้นโอกาจจะได้ 50เสียง จาก 70 เสียงก็มี ทั้งนี้ต้องดูคีย์แมน อย่าง พล.อ.ประวิตร ด้วย” นักวิชาการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุ
ขณะที่การโหวต “พิธา” เป็นนายกฯ นั้น “อ.ปริญญา” มองตรงกันกับ อ.พิชาย ว่า ครั้งแรก ไม่สำเร็จ และให้โอกาสไม่เกิน 3 ครั้ง ส่วนตัวคิดว่าพรรคเพื่อไทยจะยอมได้กี่ครั้ง หากครั้งแรกไม่ผ่าน ครั้งที่สองก็ไม่ง่าย เพราะเมื่อรอบแรกไม่ได้ รอบต่อมาต้องให้เพื่อไทย ขณะที่ท่าทีของ ส.ว. เองเชื่อว่าจะยอมให้เพื่อไทยมากกว่า
“ผมเห็นว่าต้องเป็นรัฐบาล เพื่อไทย ก้าวไกล แน่นอน แต่นายกฯ จะเป็นพิธาหรือไม่ แต่ผมคิดว่าจบที่พรรคเพื่อไทย โดยไม่ไปถึงสูตร จับมือกับ พรรคพลังประชารัฐ พราะหากให้ก้าวไกลเป็นฝ่ายค้านจะเสี่ยงมาก และรอบหน้าก้าวไกลจะแลนด์สไดล์ ขณะที่พรรคเพื่อไทยจะแพ้มากกว่านี้ ดังนั้นหากพิธา ไม่ได้เป็น ต้องจบที่เพื่อไทย ส่วนจะเป็น เศรษฐา ทวีสิน หรือ แพทองธาร ชินวัตร นั้นเป็นอีกเรื่อง" อ.ปริญญา ประเมิน
อ.ปริญญา ขมวดประเด็นให้สังคมขบคิดต่อว่า “ฉากทัศน์การเมืองใน 1-2 เดือนจากนี้ จะเป็นไปตามขั้นตอน ทั้งการเปิดประชุมสภา เพื่อเลือกประธานสภา โหวตนายกฯ โดยคาดว่าการโหวตนายกฯ จะอยู่ในช่วงเดือนกรกฏาคม หากครั้งแรกไม่สำเร็จต้องมีครั้งที่สอง อาจจะจบที่เดือนสิงหาคม ครั้งแรกพิธาไม่ได้ จะจบที่พรรคเพื่อไทย ตอนนี้เหลือแค่รอดูว่า พิธาจะถูกสอยสำเร็จหรือไม่”