จิ๊กซอว์“กบฏรัฐปาตานี” สุมไฟแบ่งแยกดินแดน ?
โครงสร้างขบวนการแบ่งแยกดินแดน 3 จชต.ของหน่วยงานความมั่นคง ที่กำลังปะติดปะต่อ หน้าตาจะออกมาเป็นเช่นไร พร้อมพยานหลักฐานว่า สิ่งเหล่านี้กำลังเกิดขึ้นจริง ไม่ใช่แค่แนวคิดที่เอาผิดไม่ได้ตามกฎหมาย
แม้ “หน่วยงานความมั่นคง” จะเชื่อว่า แนวคิดที่จะนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดนจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นมีอยู่จริง ซึ่งขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 1 ที่เขียนไว้ว่า ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้ แต่การเอาผิดในข้อหา“กบฏ” กับผู้เกี่ยวข้อง ทั้ง นักการเมือง นักวิชาการ นักศึกษา ไม่ใช่เรื่องง่าย
หลังเจอบทเรียนปี 2562 ในเวทีเสวนา “พลวัตแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่นับหนึ่งรัฐธรรมนูญใหม่” ที่ลานวัฒนธรรม หน้าศาลากลาง จ.ปัตตานี ของแกนนำ 12 พรรคการเมืองร่วมกับนักวิชาการ และมีการเสนอแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 1
จนเป็นที่มา กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าแจ้งความดำเนินคดี ในฐานความผิดตามมาตรา 116 ทั้ง สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขา สมช. ชลิตา บัณฑุวงศ์ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สมพงษ์ สระกวี สงคราม กิจเลิศไพโรจน์ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ มุข สุไลมาน นิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย รักชาติ สุวรรณ อสมา มังกรชัย วันมูหะมัดนอร์ มะทา พรรคประชาชาติ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์
นอกจากไม่สามารถเอาผิดได้ ยังนำไปสู่การถอนแจ้งความ ม.116 และข้อหากบฏก็ถูกตีตก เนื่องจาก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ไม่สามารถเชื่อมโยงพยานหลักฐานการกระทำทั้ง 12 คนเกี่ยวข้องกลุ่มติดอาวุธในพื้นที่ และนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดนอย่างไร นอกจากงานด้านการข่าว
ไม่ต่างกับการเคลื่อนไหวของขบวนนักศึกษาแห่งชาติ (Pelajar Bangsa) องค์กรที่รวมตัวกันเพื่อเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่มีความเชื่อถึงการมีอยู่ของชาติปาตานี (Bangsa Patani) และต้องการกําหนดชะตากรรมตนเอง เคารพประชาธิปไตย และภักดีต่อชาติมาตุภูมิ ยึดมั่นในการต่อสู้ทางการเมืองด้วยสันติวิธี
ด้วยการเปิดตัวองค์กรและจัดเสวนาในหัวข้อ สิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง (Self-Determination) กับสันติภาพปาตานี ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี พร้อมทำกิจกรรมประชามติจำลอง เห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย การแยกตัวเป็นเอกราชได้อย่างถูกกฎหมาย เพื่อสอบถามผู้ที่อาศัยใน จ.นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และ 4 อำเภอ จ.สงขลา
ส่วนการเสวนา มีผู้เข้าร่วมได้แก่ รศ.ดร.มารค ตามไท อดีตอาจารย์สาขาการสร้างสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ จ.เชียงใหม่ ผศ.ดร.วรวิทย์ บารู รองหัวหน้าพรรคประชาชาติ ว่าที่ ส.ส.ปัตตานี ฮากิม พงติกอ รองเลขาธิการพรรคเป็นธรรม อาเต็ฟ โซ๊ะโก ประธานองค์กร The Patani ในฐานะองค์กรเคลื่อนไหวประเด็นทางการเมืองเพื่อการกำหนดชะตากรรมตนเอง เป็นที่น่าสังเกตว่า รอมฎอน ปันจอร์ ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ไม่ได้เข้าร่วมเสวนาครั้งนี้
หน่วยงานความมั่นคงพบว่า ขบวนนักศึกษาแห่งชาติมีองค์กรนักศึกษาที่เป็นเครือข่ายในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้(จชต.) แบ่งเป็น 3 พื้นที่วิทยาเขต ได้แก่ วิทยาเขตปัตตานี วิทยาเขตยะลา วิทยาเขตนราธิวาส ในแต่ละพื้นที่จะประกอบด้วย กลุ่มและองค์กรนักศึกษาต่างๆ ภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยรวม 45 กลุ่ม มีทีมบริหาร 5 คน คือ
1. อิรฟาน อูมา นักศึกษา นายกสโมสรนักศึกษา สถาบันอาหรับฯ ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ลูกชายคนเล็กของ นัจมุดดีน อูมา ผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย อดีต ส.ส.พรรคประชาชาติ และอดีตประธานกลุ่ม P.N.Y.S และแกนนำองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ จชต. ทำหน้าที่เป็นประธาน
2. อักรอม วาบา นักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา (แกนนำพรรครวมใจจันทร์กะพ้อ) ทำหน้าที่ รองประธาน 3. ฮูเซ็น บือแน นักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา (แกนนำพรรครวมใจจันทร์กะพ้อ) ทำหน้าที่ เลขาธิการวิทยาเขตยะลา
4. อัฟฟาน เจ๊ะแม นักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ทำหน้าที่ เลขาธิการวิทยาเขตปัตตานี 5.อัมรู มะ นักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ทำหน้าที่ เลขาธิการวิทยาเขตนราธิวาส
โดยเครือข่ายสมาชิกของขบวนนักศึกษาแห่งชาติ คือองค์กรเดิมของสหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี หรือเปอร์มาส (PerMAS) เคยเคลื่อนไหวประเด็นดังกล่าวตั้งแต่ปี 2550 ก่อนยุติบทบาทปี 2564 หลังถูกเจ้าหน้าที่กดดันหนัก
มีแกนนำเชื่อมโยงกับนักการเมือง องค์กรภาคประชาสังคม NGO เช่น ประธานขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ เป็นลูกชายของนัจมุดดีน อูมา ทีมบริหารทั้ง 4 คน ปัจจุบันยังทำงานร่วมกับ The Patani และ Patani Baru เคยร่วมกิจกรรมและชุมนุมเรียกร้องทั้งในพื้นที่ จชต. และส่วนกลางกรุงเทพฯ
ขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ พัฒนาต่อยอดแนวคิดเดิมกลุ่มเปอร์มาส ซึ่งเดิมทีต่อสู้เฉพาะในพื้นที่ จชต.เป็นหลัก แต่ปัจจุบันจะขยายพื้นที่ต่อสู้ออกไปสู่เวทีทางการเมืองมากขึ้น ด้วยพลังของนักศึกษาร่วมกับกลุ่มทางการเมืองอื่นๆในประเทศ มีช่องทางการเผยแพร่กิจกรรมในเพจชื่อ “Patanian Student Movement-Pelafar Bangsa”
กิจกรรมล่าสุดก่อนเปิดตัวองค์กร คือการรณรงค์ และสังเกตการเลือกตั้งในพื้นที่ จชต. และการลงนามในแถลงการณ์ เรียกร้องให้ ส.ว.เคารพมติเสียงของประชาชน โหวตให้กับนายกฯ เสียงข้างมากจากการเลือกตั้ง
แม้เป็นเรื่องยาก แต่หน่วยงานความมั่นคง ทั้ง สมช. กองทัพ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ต้องการตัดไฟแต่ต้นล้ม ไม่ให้เหมือนที่แล้วมา ทำได้เพียงตีแค่สลบ พอฟื้นกลับมาเคลื่อนไหวต่อ ด้วยการปะติดปะต่อหลักฐาน โดยไม่อาศัยเพียงกระดาษประชามติเพียงแผ่นเดียว หรือ บทเสวนาบนเวทีของนักวิชาการ
หน่วยงานความมั่นคงต้องเชื่อมโยงให้ได้ว่า ขบวนการนักศึกษาแห่งชาติเกี่ยวพันกับกองกำลัง 3 จชต.อย่างไร รูปแบบขบวนการเมือง โครงสร้างจัดตั้งรัฐบาล ใครเป็นแกนนำกลุ่มมวลชน เพื่อชี้ให้เห็นว่ามีการเตรียมการเพื่อแบ่งแยกดินแดน
พล.ต.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะ รอง ผอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ระบุว่า ได้หารือหน่วยเกี่ยวข้อง ประเมิน วิเคราะห์วิธีการปฏิบัติ สรุปได้ว่าเป็นพฤติกรรมเข้าข่ายทำผิดกฎหมาย จะแจ้งความร้องทุกข์พนักงานสอบสวน รวบรวมวัตถุพยาน หาความเชื่อมโยง อาจใช้เวลาอีกระยะ เพราะใน 3 จชต. ไม่เหมือนเหตุการณ์อื่นๆ นอกพื้นที่
“เป็นเรื่องการต่อสู้เพื่อนำไปสู่เป้าหมายแบ่งแยกดินแดน เราจะต้องอาศัยฐานข้อมูลพอสมควรเพื่อนำมาประกอบแจ้งความเอาผิด แต่ยืนยันว่า ต้องมีการดำเนินคดี ส่วนจะกับใครบ้าง ข้อหาอะไร ไม่สามารถเปิดเผยได้ สำหรับกรณีปี 2562 เราจะนำข้อมูลมาประกอบด้วย ดูความเชื่อมโยง เพราะมองว่าคือประเด็นเดียวกัน”
จากนี้คงต้องรอดูโครงสร้างขบวนการแบ่งแยกดินแดน 3 จชต.ของหน่วยงานความมั่นคง ที่กำลังปะติดปะต่อ หน้าตาจะออกมาเป็นเช่นไร พร้อมพยานหลักฐานว่า สิ่งเหล่านี้กำลังเกิดขึ้นจริง ไม่ใช่แค่แนวคิดที่เอาผิดไม่ได้ตามกฎหมาย