“ศาลรัฐธรรมนูญ”มีทางออก พ้นหล่มขัดแย้งทางกฎหมาย
"เราต้องวางใจเป็นกลาง แล้วฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ คู่กรณีก็ต้องสู้กัน ต้องเถียงกันหัวชนฝา เพราะเดิมพันมันสูงมาก ท่านจะตัดสินละเอียดรอบคอบหมด เราคนนอก ไม่มีโอกาสได้เห็นพยานหลักฐานในแง่มุมต่างๆ ถ้าให้ความเห็น ก็จะทำให้สับสนกันไป"
ปม หุ้น ITV ของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี มีความเห็นทางกฎหมายในหลายมุมมอง เพราะจะสะเทือนถึงการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี โดย “พิธา”จะได้รับการเสนอชื่อจาก “8 พรรคการเมือง” ให้ที่ประชุมรัฐสภาลงคะแนนเสียง
ทว่า การตรวสอบคดีหุ้น ITV จะเดินคู่ขนานกันไป โดยภายหลังที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับรอง “พิธา” ให้ดำรงตำแหน่ง ส.ส.จะมีสองช่องทางให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคุณสมบัติ ส.ส.ของพิธา 1.กกต.ดำเนินการยื่นเอง 2.ส.ส. 1 ใน 10 (50 เสียง) เข้าชื่อยื่นผ่านประธานสภาฯส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
หากพิธาถูกศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.จะกระทบต่อการเสนอชื่อโหวตให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ยังเป็นคำถามที่รอคำตอบ รายการคมชัดลึก เนชั่นทีวี ช่อง 22 (15 มิ.ย.2566) พูดคุยกับ “ศ.พิเศษ จรัญ ภักดีธนากุล” อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม และ “รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก” นักวิชาการด้านกฎหมาย อดีตที่ปรึกษาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ
อ.จรัญ ให้ความเห็นต่อกรณีนี้ว่า ในฐานะ ส.ส. ถ้าศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.จะเข้าประชุมสภาฯไม่ได้ ส่วนตำแหน่งแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ศาลไม่ได้สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ และการเป็นแคนดิเดตนายกฯ ยังไม่ได้ทำหน้าที่อะไร รอให้มีการโหวตในที่ประชุมรัฐสภา และไม่มีกฎหมายเกี่ยวข้องให้ศาลสั่งให้หยุดสถานะแคนดิเดตนายกฯ
“ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีกฎหมายไหนไปวินิจฉัย จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยว่าขาดคุณสมบัติ ส.ส. ตามมาตรา 98 จึงจะขาดคุณสมบัติความเป็นแคนดิเดตนายกฯ แต่การหยุดปฏิบัติหน้าที่มี ส.ส. ส.ว.และรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม ถ้าคนที่ร้องเขาร้องต่อเนื่องด้วยว่า เมื่อขาดคุณสมบัติ ส.ส.จะเป็นแคนดิเดตนายกฯ ไม่ได้ ก็จะเปิดช่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยประเด็นหลักก่อน หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ้น ส.ส.แล้ว จึงมีโอกาสที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยประเด็นต่อเนื่องให้สะเด็ดน้ำได้ จะได้ไม่ต้องมาร้องอีกคดี" อ.จรัญ กล่าว
เมื่อถามว่า เวลานี้เผือกร้อนจะอยู่ที่ใคร ระหว่าง ส.ว.กับศาลรัฐธรรมนูญ อ.จรัญ กล่าวว่า “ศาลรัฐธรรมนูญไม่กลัวเผือกร้อน ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่ถูกสร้างขึ้นมา เพื่อให้ประเทศเดินหน้าได้ ให้ขึ้นจากหล่มความขัดแย้งทางกฎหมาย ศาลรัฐธรรมนูญต้องทำหน้าที่ แล้วคนที่ไปอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญ อายุ 60-70 ปี ผ่านงานตามระบบมาเยอะแล้ว แล้วงานนี้เป็นงานสุดท้าย ที่จะฝากเอาไว้เป็นเกียรติยศ เท่าที่ผมทำงานกับท่านทั้งหลายมา ท่านไม่หวั่นไหวหรอก ท่านจะต้องเอาตามความคิดของท่าน ไม่เบี่ยงเบนจะขอหลบพายุ หลบทัวร์หน่อย ไม่มีหรอกครับ” อ.จรัญ ระบุ
เมื่อถามว่ากรณี ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. แต่ยังเอาชื่อไปโหวตนายกฯได้ อ.จรัญ อธิบายว่า กฎหมายมีความชัดเจนว่า สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ ส.ส. ไม่ใช่ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ในฐานะแคนดิเดตนายกฯ
เมื่อถามว่า มองคดี หุ้น ITV ของพิธา อย่างไรบ้าง อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ตอนนี้ยังบอกไม่ได้ เพราะมีพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่ายก้ำกึ่ง และขัดแย้งกันอยู่ จะตีความกฎหมายจากตัวหนังสือ หรือยึดตามเจตนารมณ์ เราไม่มีทางเดาได้ว่า เสียงข้างมากใน 9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะมองไปอย่างไร
"เราต้องวางใจเป็นกลาง แล้วฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ คู่กรณีก็ต้องสู้กัน ต้องเถียงกันหัวชนฝา เพราะเดิมพันมันสูงมาก เราเป็นคนนอก ฉะนั้นให้วางใจเป็นกลางดีกว่า แล้วรอฟังคำวินิจฉัย ซึ่งท่านจะตัดสินละเอียดรอบคอบหมด เราคนนอก ไม่มีโอกาสได้เห็นพยานหลักฐานในแง่มุมต่างๆ ถ้าให้ความเห็น ก็จะทำให้สับสนกันไป"
ต่อข้อถามว่า มีคดีอื่นในการเทียบเคียง การถือหุ้นจำนวนน้อยจนรอดพ้นคดี จะมีคำวินิจฉัยที่เป็นมาตรฐานกันหรือไม่ อ.จรัญ กล่าวว่า "ศาลจะพยายามที่จะไม่ให้เกิดความขัดแย้งกัน ระหว่างศาลสูงสุดกันเอง เพราะจะสร้างปัญหาให้กับประเทศ ท่านก็จะวิเคราะห์กันให้ละเอียด และมีปัจจัยหลายอย่างที่จะนำมาประกอบคำวินิจฉัย" อ.จรัญ ระบุ
ทางด้าน อ.เจษฎ์ ให้ความเห็นถึงการดำเนินคดีตามมาตรา 151 (ผู้ใดรู้อยู่แล้วว่า ตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้าม...) ที่ กกต.ตั้งประเด็นเอาไว้ว่า อาจจะไม่เกี่ยวกับการโหวตเลือกนายกฯ แต่หากกระบวนการสอบสวนจนถึงขั้นตอนของศาลชั้นต้น เราไม่รู้หรอกว่า กระบวนการในสภาฯ จะเร็วช้าอย่างไร หากกระบวนการสภาฯ ช้าแต่กระบวนการในศาลเริ่มแล้ว เราต้องไปดูคุณสมบัติรัฐมนตรี ซึ่งหากถูกคำพิพากษาให้จำคุก ทำให้ขาดคุณสมบัติรัฐมนตรี ซึ่งขาดคุณสมบัตินายกฯ ด้วย อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนของคดีมาตรา 151 ไม่น่าจะรวดเร็วขนาดนั้น
สำหรับการดำเนินการตามมาตรา 82 (ถ้าประกาศรับรองผลไปแล้ว การให้พ้นจาก ส.ส.ก็ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82) อ.เจษฎ์ ระบุว่า ต้องให้ ส.ส. เข้าชื่อกัน 1 ใน 10 (50 เสียง) เพื่อยื่นผ่านประธานสภาฯ ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความคุณสมบัตินายพิธาได้ ซึ่งตรงนี้ ส.ว.ไม่สามารถดำเนินการได้
“การยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความคุณสมบัติ ส.ส.ของนายพิธา กระทบต่อคุณสมบัตินายกฯ อยู่แล้ว แม้รัฐธรรมนูญไม่ได้ห้ามให้คนเป็นนายกฯ ต้องเป็น ส.ส. เนื่องจากมาตรา 82 จะนำมาใช้กับนายกฯ และรัฐมนตรีด้วย แต่หลายคนบอกว่า ถ้ายื่นในส่วนผู้สมัคร ส.ส.จะไม่นับการเสนอชื่อเป็นนายกฯ แต่เท่าที่ผมจำได้ นายเรืองไกรยื่นให้ตรวจสอบคุณสมบัติ ส.ส. นายกฯ และผู้เซ็นรับรองผู้สมัคร ส.ส.ด้วย ทำให้ค่อนข้างครอบคลุมแล้ว” อ.เจษฎ์ กล่าวและว่า
ในกรณีที่ศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. แต่ยังไม่เป็นนายกฯ หรือรัฐมนตรี อาจจะไม่ได้แปลว่า ไม่ให้มีการเสนอชื่อโหวต แต่มันมีผลกระทบจากการดำเนินการ
1.เสนอชื่อให้โหวตนายกฯ ได้ แต่โดนศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. หากสภาฯ เสนอให้นายพิธา เป็นนายกฯ แล้วจะนำชื่อขึ้นทูลเกล้าอย่างไร สมมุติว่านำชื่อทูลเกล้าฯ แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ลงมา ไปถวายสัตย์ปฏิญาณ ปรากฏว่าขาดคุณสมบัติตามมาตรา 98 จะไม่ระคายเคืองพระยุคลบาทหรือ
2.ไม่เสนอชื่อนายพิธา โดยเสนอชื่อบุคคลอื่น ผ่านขั้นตอนหมดเรียบร้อย แต่ปรากฏว่านายพิธาไม่ขัดคุณสมบัติ แล้วจะทำอย่างไร แล้วจะไปเอาคนที่มาเป็นนายกฯ ออกอย่างไร
“ผมคิดการเอาชื่อนายพิธาไปลงมติ จะก่อให้เกิดปัญหา แต่ไม่เอาชื่อนายพิธาไปลงมติ ก็จะเกิดปัญหาอีก ในภาวะการณ์แบบนี้ อาจจะมีความจำเป็นที่ต้องให้กลไกที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการเร็ว หาก กกต.จะดำเนินการเอง หรือ ส.ส.50 เสียงจะยื่นจริง ผมเชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญเองท่านตระหนักในความเร่งด่วน ท่านก็คงพิจารณาเร็ว"
"หากศาลรัฐธรรมนูญบอกขาดคุณสมบัติ ก็เอาชื่ออื่นมาลงมติ หากศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าไม่ขาดคุณสมบัติ ก็ไม่ได้หมายความว่า นายพิธาจะได้เป็นนายกฯ เลย เพราะไม่รู้ว่า ส.ว. จะโหวตให้หรือไม่” อ.เจษฎ์ ระบุ