"กัณวีร์"ถาม"ดอน" รัฐบาลรักษาการ เชิญรมต.เมียนมาถก เพื่อ! จี้ยึดมนุษยธรรม
"กัณวีร์" อัด "ดอน" ถาม "รัฐบาลรักษาการ" เชิญรัฐมนตรีเมียนมาถกตอนนี้ เพื่อ! สอนมวย หน้าที่รัฐบาลไทยที่ต้องทำ คือการเปิดประตูมนุษยธรรม สถานการณ์ความรุนแรงในเมียนมา
นายกัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการพรรคเป็นธรรม เปิดเผยถึงกรณีมีรายงานข่าวว่า นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐบาลรักษาการของไทย เชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเมียนมา และสมาชิกอาเซียน มาเข้าร่วมประชุมอย่างไม่เป็นทางการในวันอาทิตย์ ที่ 18 มิถุนายนนี้ เพื่อหารือแผนสร้างสันติภาพในเมียนมา ว่า ตนขอตั้งคำถามว่าการทำหน้าที่รัฐบาลรักษาการ ที่ต้องการแสดงบทบาทการเป็นผู้นำในอาเซียนเรื่องการแก้ไขปัญหาในเมียนมา ตอนนี้ เพื่อ !
โดยตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 หลังจากการปฏิวัติโดยทหารพม่า โค่นล้มระบอบประชาธิปไตยในเมียนมา ตามด้วยการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง โดยการเข่นฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์ ที่ออกมาเรียกร้องอำนาจของประชาชนคืนจากปลายกระบอกปืนด้วยการเคลื่อนไหวแบบอารยขัดขืน (civil disobedient movement—CDM) รอบประเทศ
"ผมยังจำได้ระหว่างปฏิบัติหน้าที่กับ UNHCR ในเมืองพะอัน รัฐกระเหรี่ยง ในช่วงเวลาดังกล่าว การเข่นฆ่าประชาขนแบบไม่เลือกปฏิบัติทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตและการผลัดถิ่นภายในประเทศจำนวนหลายแสนคน และลี้ภัยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน อย่างบังคลาเทศ อินเดีย จีน และไทย เป็นหมื่นกว่าคน แต่การปฏิบัติของทหารพม่าต่อประชาชนเน้นการปราบแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน “ประท้วง เท่ากับ จับ ขัง ฆ่า” การค้นหากลุ่มผู้ต่อต้านในบ้านเรือนทั่วประเทศยามวิกาล เกิดขึ้นอย่างไม่ลดละ ฯลฯ"
นายกัณวีร์ กล่าวว่า ช่วงนั้นรัฐบาลไทยโดยการนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำอะไร ข้าวสารหลายร้อยกระสอบเตรียมขนไปให้ทหารพม่าวางเรียงรายที่ อ.แม่สามแลบ จ.แม่ฮ่องสอน เพื่อไปสนับสนุนการปฏิบัติการทางทหารให้ทหารพม่าถูกเปิดโปงโดยสื่อไทย จนต้องส่งข้าวสารคืน ผู้ลี้ภัยที่หนีตายทั้งลูกเล็กเด็กแดง คนป่วยมีสายน้ำเกลือระโยงระยาง
รวมทั้งคนชราและสตรี ลี้ภัยข้ามมายังฝั่งไทย ได้รับการดูแล 1 คืนแล้วผลักดันกลับ เพราะทางราชการไทยประเมินแล้วว่าสถานการณ์ฝั่งเมียนมาดีขึ้นแล้ว ทั้ง ๆ ที่ยังมีระเบิดจากเครื่องบินขับไล่เมียนมาทิ้งระเบิดไปยังพื้นที่พะพูน รัฐกระเหรี่ยงอย่างไม่หยุดหย่อน การกวาดล้างและจับกุมผู้ลี้ภัยมาไทย เพราะหนีตายและชี้แจงว่าผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ และผลักดันกลับโดยส่งมอบให้ทหารพม่า
"จริงเหรอ รัฐบาลรักษาการอยากเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหาในเมียนมา คุณดูบ้างหรือไม่ว่าคุณทำอะไรไว้ก่อนหน้านี้
นี่ยังไม่รวมถึงความพยายามรักษาความสัมพันธ์กับผู้สถาปนาอำนาจรัฐโดยกำลังทหาร อย่างทหารพม่า กับผู้นำรัฐบาลไทย เพราะกลัวสูญเสียความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างสองประเทศ โดยปราศจากการระลึกถึงการเข่นฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่สูญเสียชีวิตนับหมื่นคนในเมียนมาว่าความสัมพันธ์เลือดนี้ ไม่ควรจะถูกสร้างอีกต่อไป" นายกัณวีร์ ระบุ
โดยตนมองว่าสมควรที่ถูกอินโดนีเซียปฏิเสธการเข้าร่วมการเชิญที่ดูมีเลศนัยนี้ จากรัฐบาลรักษาการของไทย ซึ่งตนเองมีโอกาสได้เข้าพบ Special Envoy (ผู้แทนพิเศษ) ของอินโดนีเซียต่ออาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ และมีโอกาสแลกเปลี่ยนทัศนะ ในฐานะผู้เคยทำงานในเมียนมาในช่วงวิกฤตดังกล่าว และเสนอแนวทางการแก้ไขที่น่าจะเป็นไปได้ จากการพูดคุยกับท่าน Special Envoy มีความเชื่อมั่นมากขึ้นกับฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน (5 Point Concensus)
เพราะท่านได้ให้คำยืนยันว่าจะเร่งดำเนินการเดินทางเข้าเมียนมาให้ได้เพื่อเริ่มบทสนทนาโดยเร็ว โดยมีอาเซียนเป็นตัวจักรหลักในการแก้ไขปัญหา และผมได้รบกวนให้ท่านพิจารณาเรื่องรากเหง้าแห่งปัญหาด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงเป็นประเด็นสำคัญหนึ่งในการพูดคุยด้วย"
นายกัณวีร์ กล่าวอีกว่า โดยข้อเสนอของตนเอง เรื่องนำประเทศเพื่อนบ้านของเมียนมาเป็นกลุ่มสนทนาหลักอีกกลุ่มหนึ่งต่อการกดดันเมียนมานั้น ได้รับการตอบรับว่าอาเซียนก็ได้เริ่มต้นด้านนี้แล้ว และหากมีโอกาสจะได้มาแชร์ข้อมูลกันมากขึ้น ข้อเสนอสุดท้ายของตนในเรื่อง cross-border interventions ต่อผู้ผลัดถิ่นภายในประเทศเมียนมาหลักเกือบสามแสนคนที่อยู่ใกล้บริเวณชายแดนไทย
โดยผ่านการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมผ่านชายแดนไทย นั้น ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี และท่าน Special Envoy ได้ให้ความสำคัญต่อประเด็นนี้มาก ตนได้เรียนไปว่า UN ไม่สามารถทำได้อย่างเป็นทางการ เนื่องจากติดขัดด้านกระบวนการที่ต้องขอการอนุมัติจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ดังนั้น การใช้ประเทศไทยที่มีชายแดนติดกันถึง 2,401 กม. จะช่วยเหลือสถานการณ์ฉุกเฉินต่อผู้ต้องการได้รับความช่วยเหลือในสถานการณ์มนุษยธรรมได้อย่างดี
นายกัณวีร์ ย้ำว่า อาเซียนต้องรับบทบาทหลักในการจัดการกับปัญหาในเมียนมาอย่างแน่นอน แต่ไทยต้องชิงสถานการณ์ที่เราจะมีรัฐบาลของประชาชนที่เป็นประชาธิปไตยนำในการเป็นผู้นำต่อการบริหารจัดการสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชนในเมียนมาโดยเร็ว โดยใช้ภูมิรัฐศาสตร์ที่เรามี และไทยจะสามารถชิงการเป็นผู้นำในเวทีโลกได้อย่างสง่างามต่อไป
"ทำไมรัฐบาลรักษาการ จึงอยากจะมามีบทบาทในช่วงนี้เพื่อ ทั้ง ๆ ที่ผ่านมาไม่เคยแสดงบทบาทผู้นำที่ไทย ต้องทำคือการเปิด ประตูมนุษยธรรม Humanitarian Corridor ต่อสถานการณ์ความรุนแรงในเมียนมา ให้การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมกับผู้หนีภัยการสู้รบชายแดนเมียนมา-ไทย ที่ยังคงถูกประหัตประหารจากรัฐบาลเมียนมา
ซึ่งล่าสุดอพยพมายังไทยและได้รับการช่วยเหลือกว่า 3,000 คน และสถานการณ์ยังไม่มีแนวโน้มจะยุติลง เหมาะสมแล้วหรือไม่ที่รัฐบาลรักษาการจะทำแบบนี้" เลขาธิการพรรคเป็นธรรม กล่าวทิ้งทาย