บทเรียน 'เชียงใหม่สีส้ม' เมื่อ 'ทักษิณ' กบดาน 'เพื่อไทย' ถอยในรุก

บทเรียน 'เชียงใหม่สีส้ม' เมื่อ 'ทักษิณ' กบดาน 'เพื่อไทย' ถอยในรุก

เพื่อไทยไม่ปล่อยมือก้าวไกล "ทักษิณ" ส่งสัญญาณถอย บทเรียนเชียงใหม่สีส้ม เขย่าขวัญตระกูลชินวัตร รอจังหวะเกมเปลี่ยน ล้างไพ่ใหม่

ยุทธศาสตร์เพื่อไทยในชั่วโมงนี้คือ ไหลตามน้ำ จับมือก้าวไกลแน่น ส่วนสถานการณ์วันข้างหน้า หาก พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ฝ่าด่าน ส.ว.ไม่สำเร็จ ก็ค่อยกลับมาคิดอ่านกันบนกระดานการเมืองใหม่

สัปดาห์ที่แล้ว พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล มีภารกิจแอ่วเหนือ ช่วงวันที่ 14-15 มิ.ย.2566 เดินสายขอบคุณชาวลำปาง ลำพูน และเชียงใหม่ ซึ่งภาพข่าวด้อมส้มแห่ต้อนรับพิธา ที่มีการเผยแพร่ออกไปนั้น ทรงพลังและมีนัยยะทางการเมือง

ทุกเวทีใน 3 จังหวัดภาคเหนือตอนบน พิธา ได้ปราศรัยปลุกเร้าด้อมส้มตรงไปตรงมา นี่คือผนังทองแดงกำแพงเหล็กอย่างแท้จริง และมีข้อน่าสังเกต ด้อมส้มไม่ได้มีแต่คนหนุ่มสาว หากแต่มีทุกรุ่นทุกวัย มีทั้งคนในเมืองและคนชนบท

บทเรียน \'เชียงใหม่สีส้ม\' เมื่อ \'ทักษิณ\' กบดาน \'เพื่อไทย\' ถอยในรุก

 

การเลือกตั้ง 14 พ.ค.2566 พรรคก้าวไกล ชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย ในกรุงเทพฯ และจังหวัดปริมณฑล เป็นเรื่องที่มีการคาดหมายไว้ก่อนแล้ว แต่ชัยชนะในภาคเหนือตอนบน ถือว่าเป็นการหักปากกาเซียน แม้แต่นักวิชาการฝ่ายก้าวหน้าในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยังตกตะลึงกับปรากฏการณ์สีส้ม

ผลการเลือกตั้งภาคเหนือตอนบน พรรคก้าวไกล กวาดเก้าอี้ ส.ส. 14 ที่นั่ง ได้แก่เชียงใหม่ 7 ที่นั่ง, เชียงราย 3 ที่นั่ง, ลำปาง 3 ที่นั่ง และลำพูน 1 ที่นั่ง จากเดิมเมื่อปี 2562 พรรคอนาคตใหม่ ได้ ส.ส.เชียงราย 2 ที่นั่ง และแพร่ 2 ที่นั่ง

ขณะที่พรรคเพื่อไทย ได้ 22 ที่นั่ง แยกเป็นเชียงราย 4 ที่นั่ง,เชียงใหม่ 2 ที่นั่ง,น่าน 3 ที่นั่ง,แพร่ 3 ที่นั่ง,ลำปาง 1 ที่นั่ง,ลำพูน 1 ที่นั่ง,อุตรดิตถ์ 3 ที่นั่ง และสุโขทัย 4 ที่นั่ง

บทเรียน \'เชียงใหม่สีส้ม\' เมื่อ \'ทักษิณ\' กบดาน \'เพื่อไทย\' ถอยในรุก

ถ้าจำกันได้ ก่อนหน้าการเลือกตั้งครั้งนี้ วลี ‘เชียงใหม่แพ้ไม่ได้’ พูดกันปากต่อปากในกลุ่มผู้สนับสนุนตระกูลชินวัตร กลายเป็นโจทย์เลือกตั้ง 2566 ที่แกนนำพรรคเพื่อไทยเชียงใหม่ จะต้องทำทุกอย่าง เพื่อให้ได้ชัยชนะทั้ง 10 เขต 

เนื่องจากเชียงใหม่ เป็นบ้านเกิดทักษิณ ชินวัตร และชัยชนะของพรรคไทยรักไทย ปี 2544 ทำให้คนเมืองได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรก ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย

บ้านใหญ่สันกำแพง

เลิศ ชินวัตร แต่งงานกับยินดี ระมิงค์วงศ์ ปักหลักสร้างเนื้อสร้างตัวอยู่ที่ อ.สันกำแพง ก่อนจะขยับเข้าไปทำธุรกิจในเขตเทศบาลเมืองเชียงใหม่

ปี 2511 เลิศได้เข้าร่วมกลุ่มเชียงใหม่ก้าวหน้า เพื่อลงสมัครสมาชิกสภาจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีหัวหน้ากลุ่มคือ เจ้าชัยสุริยวงศ์ ณ เชียงใหม่ โดย เลิศ ชินวัตร ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาจังหวัด เขต อ.สันกำแพง และเป็นประธานสภาจังหวัดเชียงใหม่

การเลือกตั้ง ส.ส.ปี 2512 เลิศ ชินวัตร ได้ลงสมัคร ส.ส.เชียงใหม่ ในนามผู้สมัครอิสระ ได้รับเลือกเป็น ส.ส.เชียงใหม่ ถือว่าเป็นชินวัตร รุ่น 3 คนแรกที่ประสบความสำเร็จทางการเมือง 

ปี 2519 เลิศวางมือทางการเมือง แต่ได้ส่งลูกสาวคนโต เยาวลักษณ์ ชินวัตร ลงเล่นการเมืองท้องถิ่น ได้เป็นเทศมนตรีเมืองเชียงใหม่ โดยสังกัดกลุ่มประชาสันติ และเลือกตั้งปี 2529 เยาวลักษณ์ ลงสมัคร ส.ส.เชียงใหม่ สังกัดพรรคชาติไทย แต่สอบตก

เยาวลักษณ์ ลูกสาวเลิศ จึงเป็นชินวัตร รุ่น 4 คนแรก ที่เล่นการเมืองระดับชาติ ถัดมา จึงเป็นทักษิณ ตามมาด้วย เยาวภา, พายัพ และยิ่งลักษณ์ 

อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยา ลัยเชียงใหม่ เคยพูดคุยกับ The Momentum ว่าด้วยเรื่องการเมืองเชียงใหม่ จากอดีตถึงปัจจุบัน “เชียงใหม่มีระบบเศรษฐกิจที่สลับซับซ้อนกว่าที่จะมีใครมาผูกขาดทรัพยากรได้ทั้งหมด..ตระกูลชินวัตรเองก็พยายามที่จะเข้าไปเชื่อมกลุ่มที่มีอิทธิพลย่อยๆ อย่างในชุมชน ก็จะมีคนผูกขาดทรัพยากรอยู่ เพียงแต่ว่าไม่ได้ผูกขาดทั้งจังหวัด แบบจังหวัดเล็กๆ ทักษิณเองก็อยากจะไปเชื่อมกับคนพวกนี้อยู่ เพียงแต่ว่าคนพวกนี้ไม่ใช่ตัวชี้ขาด นโยบายของเขาต่างหากที่เป็นตัวชี้ขาดทั้งหมด”

บทเรียน \'เชียงใหม่สีส้ม\' เมื่อ \'ทักษิณ\' กบดาน \'เพื่อไทย\' ถอยในรุก

อาจารย์อรรถจักร พยายามบอกว่า เชียงใหม่ไม่ใช่สุพรรณบุรี บ้านใหญ่สันกำแพง ก็แค่ทุนบ้านนอก และเป็นส่วนหนึ่งในโครงข่ายทุนท้องถิ่นล้านนา 

สรุปว่า ทักษิณคิดใหม่ ทำใหม่ ด้วยการทำการเมืองเชิงนโยบายเอาชนะใจประชาชน ส่งผลให้ทักษิณครองใจคนเชียงใหม่ และคนไทยทั้งประเทศ

ชนบทล้อมเมือง

นักวิเคราะห์การเมืองส่วนใหญ่ ประเมินว่า หากก้าวไกลจะชนะในเชียงใหม่ ก็คงแค่เขต 1 และเขต 2 อ.เมืองเชียงใหม่ ส่วนรอบนอก น่าจะเป็นของพรรคเพื่อไทย

ณัฐกร วิทิตานนท์ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้พูดคุยในรายการ 101 Postscript คุยข่าวนอกสคริปต์ Ep.73 : ชัยชนะของก้าวไกล ประเทศไทยเปลี่ยน โดยตอนหนึ่งพูดถึงทักษิณกับคนเหนือ

“ถ้ามองเฉพาะพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ก่อนหน้านี้เป็นพื้นที่ของพรรคไทยรักไทย (เพื่อไทย) มาตลอด ด้วยคุณทักษิณเป็นคนสันกำแพง ก็จะใช้ความเป็นภูมิภาคนิยมบวกกับการทำนโยบาย สร้างอัตลักษณ์ว่า พรรคไทยรักไทยเป็นพรรคของคนเหนือ จนทำให้การ”เลือกตั้งในปี 2544, 2548, 2550 และ 2554...”

ณัฐกร สรุปความพ่ายแพ้ของเพื่อไทยที่ภาคเหนือว่า “ผมคิดว่ามีปัจจัยสำคัญคือ หนึ่ง-คนในพื้นที่เบื่อตัวผู้สมัครหน้าเดิม สอง-มีการตัดคะแนนกันเองในพื้นที่ที่มีการแข่งขันสูง สาม-กลไกอำนาจรัฐหลังรัฐประหารที่ส่งผลต่อเพื่อไทย”

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ ทำไมก้าวไกล จึงชนะในเขตชนบทของเชียงใหม่ อาจารย์ณัฐกร มีคำตอบเรื่องนี้

บทเรียน \'เชียงใหม่สีส้ม\' เมื่อ \'ทักษิณ\' กบดาน \'เพื่อไทย\' ถอยในรุก

“ก่อนหน้านี้เรามักมองว่าโซเชียลมีเดีย เป็นแค่เครื่องมือสร้างภาพลักษณ์ที่ไม่ได้ส่งผลต่อการโหวต มองว่าโลกโซเชียลกับโลกจริง เป็นคนละโลก แต่ผลเลือกตั้งบอกเราว่าโลกโซเชียลกับโลกจริงขยับเข้าใกล้กัน จนแทบจะเป็นโลกเดียวกันแล้ว ก่อนหน้านี้ผมคิดว่าก้าวไกลจะชนะเฉพาะในเขตเมือง ไม่มีทางเจาะชนบทได้ แต่ปรากฏว่าไม่ใช่ เพราะพื้นที่ไกลๆบนดอย คะแนนรายหน่วยย่อย ก้าวไกลชนะ”

นอกจากนี้ อาจารย์ณัฐกร ยังวิเคราะห์ว่า การขยายและการเคลื่อนย้ายของประชากรในอำเภอรอบนอกที่ไม่ไกลจาก อ.เมืองเชียงใหม่ ส่งผลให้พรรคก้าวไกลชนะ โดยผู้คนต่างถิ่นในหมู่บ้านจัดสรรใหม่ คือ คะแนนลับที่เลือกสีส้ม

เชื่อว่า แกนนำเพื่อไทยเองคงยอมรับสภาพเป็นฝ่ายรับ ในสมรภูมิเชียงใหม่ และจังหวัดใกล้เคียง คงต้องปล่อยให้ก้าวไกลเล่นบทพระเอกไปก่อน

เมื่อเครื่องจักรสีส้มกำลังทำงาน พรรคเพื่อไทยคงไม่กล้าทวนกระแส แม้แต่นายห้างดูไบก็ต้องเก็บตัวเงียบ ไม่เคลื่อนไหวอะไร ในช่วงนับจากนี้ไป จนเกมโหวตนายกฯจะถึงทางตัน