ยุติศึกใน ‘ก้าวไกล-เพื่อไทย’ “บิ๊กเนมหลังฉาก”ปิดดีล ประธานสภาฯ

ยุติศึกใน ‘ก้าวไกล-เพื่อไทย’  “บิ๊กเนมหลังฉาก”ปิดดีล ประธานสภาฯ

จบศึกในเรื่องชิงประธานสภาฯ ไปได้แล้ว ทั้ง “ก้าวไกล-เพื่อไทย” ก็ส่งสัญญาณผนึกกันเหนียวแน่นเพื่อลุยศึกนอก ตีฝ่าด่านต่อไป คือการโหวตเลือก“นายกรัฐมนตรี” ต้องติดตามอย่างระทึกว่า จะมีเกมพลิก หรือมีคนมาพลิกเกมหรือไม่

เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศรับรอง 500 ส.ส. ระหว่างนี้จะอยู่ในขั้นตอนให้ ส.ส.เข้ารายงานตัว ก่อนจะมีรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา และเข้าสู่การเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานสภาฯ ในช่วงวันที่ 3-13 ก.ค.2566

โดยก่อนหน้านี้ พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย เปิดศึกแย่งเก้าอี้ “ประธานสภาฯ” มาอย่างต่อเนื่อง โดยต่างฝ่ายต่างงัดเหตุผลของตัวเอง ถึงความจำเป็นที่ต้องได้ตำแหน่งนี้  ทำให้ “แฟนคลับ” ของทั้งสองพรรคออกมาฟาดฟันกันจนเจ็บหนักทั้งคู่ ก่อนจะแยกย้าย หลบฉากเข้าที่ตั้ง

จากนั้นจึงมอบหมายให้ “ทีมเจรจา” ซึ่งเป็นตัวแทนของ “ก้าวไกล-เพื่อไทย” เปิดโต๊ะพูดคุยกันในหลักการ เพื่อหาข้อสรุปให้ได้ก่อน เพื่อหย่าศึก ที่อาจบานปลายทำให้ต้องแตกร้าวกัน จนกระทบถึงการร่วมรัฐบาล

บทสรุปของ “ทีมเจรจา” เห็นตรงกันว่า ตำแหน่งประธานสภาฯ ควรจะเป็นของพรรคที่มีคะแนนเสียงอันดับหนึ่ง (พรรคก้าวไกล 151 เสียง) ส่วนพรรคอันดับสอง (เพื่อไทย 141 เสียง) ควรได้เก้าอี้รองประธานสภาฯ 2 ตำแหน่ง

โดยหลังจากนี้ ทั้ง “ก้าวไกล-เพื่อไทย” จะกลับไปเฟ้นหาบุคคลที่มีความเหมาะสมเข้ามาทำหน้าที่ “ประมุข-รองประมุข” ของฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อขับเคลื่อนงานสภาฯ

ทว่า งานใหญ่ของเก้าอี้ “ประธานสภาฯ” คือการควบคุมการประชุมรัฐสภา เพื่อโหวตเลือกผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หาก “8 พรรคจัดตั้งรัฐบาล” ไม่มีพรรคการเมืองไหนเล่นนอกเกม ตำแหน่งประธานสภาฯ ย่อมตกลงกันได้

แต่หากเกิดมีบางพรรคหวัง “ส้มหล่น” เก็บตกเก้าอี้นายกฯ ตามที่มีกระแสทั้งข่าวปล่อย-ข่าวเสี้ยม ย่อมทำให้การโหวตเลือกเก้าอี้ประธานสภาฯ มีปัญหาได้

โดยล่าสุด มีกระแสข่าวว่า “บิ๊กเนมหลังฉาก” ของ “ก้าวไกล” และ “เพื่อไทย” มีเงื่อนไขที่ตกลงกันได้ในตำแหน่งสำคัญทางการเมือง ทั้งโควตารัฐมนตรี โควตาฝ่ายนิติบัญญัติ และรวมถึงโควตาบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ทำให้คลื่นลมใน “ก้าวไกล-เพื่อไทย” ลดความแรงลง

จับอาการของ “เสี่ยอ้วน” ภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ออกมาส่งสัญญาณชัดเจนว่า ตามหลักการต้องให้พรรคอันดับหนึ่งได้เก้าอี้ประธานสภาฯ ซึ่งเมื่อ กกต.รับรองผลการเลือกตั้งแล้ว ยอด ส.ส. ของพรรคก้าวไกลมี 151 เสียง มากกว่าพรรคเพื่อไทย 141 เสียง อยู่ 10 เสียง ทำให้ก้าวไกลมีความชอบธรรมที่จะได้เก้าอี้ประธานสภาฯ

“พรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งอันดับ 1 ควรครองตำแหน่งประธานสภาฯ และพรรคอันดับ 2 หากคะแนนเสียง ส.ส.ห่างกันไม่มาก ก็ควรได้รองประธานสภาฯ ทั้ง 2 ตำแหน่ง ซึ่งผมไม่ได้ระบุว่า จะมอบตำแหน่งประธานสภาฯ ให้กับพรรคการเมืองใด หรือ ส.ส.คนใด เพราะในทางปฏิบัติ จะต้องพูดคุยในรายละเอียดร่วมกันก่อน” ภูมิธรรม ระบุ

ขณะเดียวกัน หมอชลน่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ออกมายืนยันในหลักการของพรรคอย่างมีนัยว่า “พรรคเพื่อไทยเองก็ยินดีหากสิทธิของประธานสภาฯ จะให้เป็นของพรรคอันดับหนึ่ง ส่วนพรรคเพื่อไทยจะได้ตำแหน่งรองประธานสภาฯ ทั้งสองคน ก็เป็นเพียงประการที่เสนอเหมือนกัน โดยสรุปเพื่อไทยกับก้าวไกลยังไม่ได้เจรจากัน แต่เป็นเพียงการพูดกันภายในพรรคเพื่อไทย”

เมื่อเพื่อไทยยืนยันในหลักการการเจรจากับก้าวไกล โอกาสที่จะเปลี่ยนเกมไปเปิดศึกรบกันก็แทบไม่เหลือ ดังนั้นจึงต้องจับตาว่า “บิ๊กเนมหลังฉาก” มีการต่อรองทางการเมืองกันในทิศทางใด จึงทำให้ศึกแย่งเก้าอี้ “ประธานสภาฯ” จบแบบแฮปปี้เอนดิ้ง

หลังจากนี้ เป็นวาระของ “ก้าวไกล” ที่จะคัดตัวผู้ดำรงตำแหน่ง “ประธานสภาฯ” โดยให้ 151 ส.ส. ฟรีโหวตเลือกกันเอง ในงานสัมมนาพรรควันที่ 21 มิ.ย.นี้ จาก 4 ตัวเต็ง ประกอบด้วย “ณัฐวุฒิ บัวประทุม - ธีรัจชัย พันธุมาศ - ปดิพัทธ์ สันติภาดา - พริษฐ์ วัชรสินธุ” 

ว่ากันว่า “เลขาต๋อม” ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ออกแรงเชียร์ “ณัฐวุฒิ” แต่สมาชิกพรรคหลายคนเชียร์ “ปดิพัทธ์” ดังนั้นจึงต้องจับตาว่าการ “ฟรีโหวต” ของพรรคก้าวไกลจะออกมาในทิศทางใด

จบศึกในเรื่องชิงประธานสภาฯ ไปได้แล้ว ทั้ง “ก้าวไกล-เพื่อไทย” ก็ส่งสัญญาณผนึกกันเหนียวแน่นเพื่อลุยศึกนอก ตีฝ่าด่านต่อไป คือการ“โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี” ต้องติดตามอย่างระทึกว่า จะมีเกมพลิก หรือมีคนมาพลิกเกมหรือไม่