"นายกฯ" หวั่นอลหม่าน เสนอ "เมียนมา" ลดสู้รบ ย้ำจุดยืนไทยไม่เอียงข้าง

"นายกฯ" หวั่นอลหม่าน เสนอ "เมียนมา" ลดสู้รบ ย้ำจุดยืนไทยไม่เอียงข้าง

"บิ๊กตู่" เผย อาเซียน หวัง ไทย แก้ปัญหาเมียนมา ย้ำจุดยืนไม่เอียงข้าง พร้อมเสนอลดการสู้รบ ปิดทางไปสู่ความอลหม่านในอนาคต ย้ำ แค่หาทางออก ไม่มีข้อตกลงร่วม

วันที่ 20 มิ.ย.2566 เวลา 13.15
ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  ให้สัมภาษณ์ถึง กรณีนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ต่างประเทศ ประชุมหารือกับผู้แทนรัฐมนตรี และผู้แทนระดับสูงประเทศอาเซียน เพื่อหาทางออกปัญหาสถานการณ์ในเมียนมา เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.ที่ผ่านมา ว่า  ก็รายงานแล้ว  ก็ไม่มีปัญหาอะไร เป็นการประชุมครั้งที่ 3 แล้ว ซึ่งมีประเทศที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด 9 ประเทศ ไม่ใช่ประเทศใด ประเทศหนึ่ง ประเทศเดียว บางประเทศเขาไม่มา ก็ไม่เป็นอะไร แต่ทั้งหมดก็ต้องส่งให้ทราบกันอยู่แล้ว มันไม่ใช่เป็นการไปตกลงอะไรกับใคร แต่เป็นการเดินหน้าการแก้ปัญหาในกรอบอาเซียน 

 

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า การประชุมพบปะแบบสนทนาอย่างไม่เป็นทางการของกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบ จากปัญหาความขัดแย้งในประเทศเมียนมา ไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร ซึ่งต้องระวังผลกระทบ ที่อาจจะเกิดขึ้น จากมาตรการของสหประชาชาติด้วย ในฐานะที่เราเป็นเพื่อนบ้านติดกัน อาเซียนทุกประเทศก็คาดหวังว่า ประเทศไทยจะสามารถแก้ไขปัญหาได้มากที่สุด แต่อย่าลืมว่าประเทศเราก็มีปัญหาของเราเหมือนกัน ในเรื่องผลประโยชน์ของชาติ และประชาชน วันนี้ถ้าหากติดตามจะเห็นได้ว่าการสู้รบรุนแรงขึ้น เราก็ได้มีการหารือกันว่าจะลดความรุนแรงได้หรือไม่ ในเรื่องการรบตามแนวชายแดน วันนี้มีประชาชนหลายพันคน ที่อยู่ตามแนวชายแดน ที่เข้ามาอยู่ในฝั่งไทย เราก็ดูแลตามหลักสิทธิมนุษยชน และส่งกลับไปตามความสมัครใจของเขา ซึ่งได้มีการดำเนินการตรงนี้ไปแล้ว และเรื่องต่อไปที่ต้องดำเนินการ ลดการสู้รบและได้ส่งข้อเสนอ ว่าจะทำอย่างไรที่จะลดการสู้รบให้ได้มากที่สุด โดยขอให้เขาได้พิจารณา เรื่องข้อเสนอต่างๆที่จะไม่นำไปสู่ ความอลหม่านในอนาคต  ซึ่งจำเป็นที่จะต้องพูดคุยกัน ครั้งนี้เป็นการพูดคุยกันเป็นครั้งที่ 3 และย้ำว่าไม่ได้มีการไปตกลงอะไรทั้งสิ้น เพียงแต่เป็นการเสนอแนะแนวปฏิบัติ ก็สุดแล้วแต่ว่าเขาจะนำไปปฏิบัติอย่างไร

เมื่อถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่าประเทศไทยเอียงไปทางเมียนมา พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า 
ยืนยันว่า ไม่มีการเอียง มันเอียงไม่ได้ เราปฏิบัติตามมติสหประชาชาติไปแล้ว รวมถึงมติของอาเซียน ซึ่งมันยังไม่ก้าวหน้าเราก็ต้องหาวิธีการพูดคุยอย่างอื่น เพิ่มเติมมาซึ่งจะต้องมีการนำเสนอในอาเซียนอยู่แล้ว ไม่ใช่ไปขัดแย้งอะไรกับใคร ทั้งนี้เราต้องมองถึงผลประโยชน์ของประเทศด้วย ว่าความเสียหายจะเกิดผลกระทบอะไรกับเราบ้าง ต้องมอง 2 มิติด้วยกัน แต่ความคิดเห็นจากภายนอกเราก็รับฟัง อะไรที่ปฏิบัติได้เราก็ปฏิบัติไปจนครบแล้ว แต่หลังจากนี้จะมีแรงกดดันอะไรเพิ่มมากขึ้น ไปยังเมียนมา เราก็ต้องพยายามลดปัญหาตรงนี้ให้ได้ เพราะมีผลกระทบกับประเทศไทย ในเรื่องการค้าขายชายแดน การข้ามแดน แรงงาน แรงงานผิดกฎหมาย ก็จะทำให้เกิดปัญหาการค้ามนุษย์ตามมา รวมถึงปัญหาอื่นๆที่จะตามมาหากยุติไม่ได้ ซึ่งทุกประเทศที่มาประชุมก็เห็นด้วยว่า ควรจะต้องหารือกัน ในฐานะที่เป็นประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกัน เพื่อแสวงหาทางออกและนำเข้าไปสู่ที่ประชุมอาเซียนในครั้งต่อไป ทุกรัฐบาลก็ทราบกันดีอยู่แล้ว ว่าเป็นสิ่งที่ต้องทำ อย่างที่บอกเรารับแรงกดดันสูงมาก ในฐานะที่เรามีชายแดนติดกับประเทศเมียนมากว่า 3,000 กิโลเมตร