วิกฤติเพื่อนบ้าน ‘เมียนมา’ รัฐบาลไทยต้องโปร่งใส

วิกฤติเพื่อนบ้าน ‘เมียนมา’ รัฐบาลไทยต้องโปร่งใส

ไทยได้รับแรงกดดันสูงมาก ในฐานะที่มีพรมแดนติดกับเมียนมากว่า 3,000 กิโลเมตร มีความจำเป็นที่ไทยต้องมีรัฐบาลใหม่มาดำเนินการแก้ปัญหาร้อนๆ นี้อย่างโปร่งใส ถูกกติกา ได้รับการยอมรับจากประชาคมโลก  

นับว่าน่าชื่นใจเมื่อได้ยินข่าวจาก อนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี วานนี้ (20 มิ.ย.)  รองนายกรัฐมนตรี วิษณุ เครืองาม อัปเดตปฏิทินการทำงานของรัฐบาลชุดปัจจุบัน หลัง กกต.ได้ประกาศผลการเลือกตั้งรับรอง ส.ส.ทั้ง 500 คน ไล่ไปจนถึงรัฐพิธีเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 3 ก.ค. 

หลังจากนั้นจะมีการประชุมเพื่อเลือกประธานสภารองและประธานสภาผู้แทนราษฎรซึ่งข้อบังคับกำหนดไว้ว่าต้องประชุมภายใน 10 วันนับตั้งแต่วันเปิดประชุม ถ้าทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไทยก็จะได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ภายในกลางเดือน ก.ค. จากนั้นเป็นการฟอร์มรัฐบาลซึ่งไม่น่าจะยากพรรคไหนได้กระทรวงไหนจะให้ใครมาดูแลเป็นเรื่องที่ว่าที่พรรคร่วมรัฐบาลคุยกันตลอดอยู่แล้ว  

แค่ได้ยินว่าไทม์ไลน์รัฐบาลใหม่ขยับมาเร็วขึ้นประชาชนก็ใจชื้น ภาคเอกชนก็รับลูก ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เกรียงไกร เธียรนุกุล พูดเอง หลังจาก ก.ก.ต. ประกาศรับรอง 500 ส.ส. ถือว่าเป็นข่าวดีของภาคเอกชน เพราะนักลงทุนต้องการเห็นความชัดเจนของรัฐบาลใหม่ ความชัดเจนนี้สำคัญมาก การมีรัฐบาลผู้มีอำนาจเต็มได้รับการยอมรับจากประชาคมโลก นำพาประเทศไทยไปในทิศทางที่ถูกต้องอย่างมีศักดิ์ศรีเกียรติภูมิ เป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการ

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดล่าสุดคือกระทรวงการต่างประเทศเป็นเจ้าภาพจัดหารืออย่างไม่เป็นทางการของกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาความขัดแย้งในเมียนมาเมื่อวันที่ 19 มิ.ย. หนังสือเชิญออกเมื่อวันที่ 14 มิ.ย. แต่รายงานข่าวการไม่เห็นด้วยจากสมาชิกอาเซียนมีมาตั้งแต่วันที่ 16 มิ.ย. เสียงแรกที่ต้องฟังคือเสียงจากอินโดนีเซีย ประธานอาเซียน เรตโน มาร์ซูดี  รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย บอกชัด “อาเซียนไม่มีฉันทามติกลับเข้าไปเกี่ยวข้องหรือพัฒนาแนวทางใหม่กับเมียนมาอีกครั้ง และเป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่เราต้องปกป้องแนวทางที่มีอยู่”

วิเวียน บาลากริสนัน รัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์ แสดงความเห็นไปในทำนองเดียวกัน “เร็วเกินไปที่จะกลับไปยุ่งเกี่ยวกับรัฐบาลทหาร เนื่องจากไม่มีการทำแผนสันติภาพให้คืบหน้ามากขึ้นเลย” กระทรวงการต่างประเทศมาเลเซีย ระบุ “การประชุมผู้นำอาเซียนครั้งที่ 42 ที่ลาบวนบาโจ ย้ำว่าการแก้ปัญหาเมียนมาต้องยึดตามฉันทามติห้าข้อ” ส่วนตัวดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ตอบคำถามผู้สื่อข่าวก่อนประชุม ครม.วานนี้ ถึงผลการหารือ 

“ได้มีการตกลงกันว่าจะไม่เปิดเผยเนื้อหาสาระต่อสาธารณชน แต่ขอให้รับรู้ว่าเป็นประโยชน์และอยากให้เราจัดอีก” ฟังแล้วชวนสงสัย ดี มีประโยชน์ แต่เปิดเผยไม่ได้คืออะไร แล้วทำไมต้องทำกันแบบอุบอิบ ลับๆ ล่อๆ ยิ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาย้ำว่า เป็นสิ่งที่ต้องทำ เพราะไทยได้รับแรงกดดันสูงมากในฐานะที่มีพรมแดนติดกับเมียนมากว่า 3,000 กิโลเมตร ยิ่งเน้นถึงความจำเป็นที่ไทยต้องมีรัฐบาลใหม่มาดำเนินปัญหาร้อนๆ นี้อย่างโปร่งใส ถูกกติกา ได้รับการยอมรับจากประชาคมโลก