91 ประชาธิปไตยไทย ภาวะการณ์ชำรุด รอการซ่อมใหญ่ กับรัฐประหารครั้งสุดท้าย?
นับเนื่องจาก 24 มิถุนายน 2475 การเปลี่ยนแปลงการปกครองสยามผ่านมาถึงปัจจุบันครบ 91 ปี จึงเห็นอาการ "เวียนกลับไป-วนกลับมา" ระหว่างการเลือกตั้งและการรัฐประหาร จนไม่รู้ว่าอะไรเป็นจุดเริ่มต้นของอะไร โดย 'สุรชาติ บำรุงสุข'
"ไม่มีใครกล้ารับประกันว่า "รัฐประหารครั้งสุดท้าย" ในการเมืองไทยจะเกิดขึ้นจริงเมื่อใด?"
การเปลี่ยนแปลงการปกครองสยามเดินทางมาเป็นระยะเวลา 91 ปีแล้ว และเป็น 91 ปีที่เห็นได้ว่า การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยที่เริ่มในปี 2475 จนถึงปัจจุบันนั้น มีปัญหาสำคัญในเรื่องการพัฒนาประชาธิปไตย และการสร้างเสถียรภาพทางการเมือง จนเสมือนหนึ่งการเมืองไทยตกอยู่ในภาวะ "ประชาธิปไตยชำรุด" ที่อาจต้องรอการซ่อมใหญ่ (คำว่า "ชำรุด" เป็นคำที่นักรัฐศาสตร์ในสาขา "เปลี่ยนผ่านวิทยา" ใช้ในการอธิบายถึงภาวะถดถอยของระบอบประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นในหลายประเทศในช่วงที่ผ่านมา)
ดังจะเห็นได้ว่า ระยะเวลาของการเมืองในระบอบเลือกตั้งนั้น มีอายุของจำนวนปีน้อยกว่าระบอบทหารที่กำเนิดมาจากการรัฐประหาร เช่นเดียวกับที่ระยะเวลาของการอยู่ในอำนาจของผู้นำพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งนั้น นับรวมแล้วน่าตกใจว่า น้อยกว่าผู้นำทหารมาก
หรืออยู่กับ "การเมืองแบบแต่งตั้ง" มากกว่า "การเมืองแบบเลือกตั้ง"ซึ่งภาวะเช่นนี้ในอดีตอาจเรียกว่าเป็น "การเมืองของประเทศด้อยพัฒนา" หรือเรียกด้วยคำสุภาพในวิชารัฐศาสตร์ว่า "การเมืองของประเทศกำลังพัฒนา" ที่มีปัญหาเรื่องความ "ไร้เสถียรภาพแบบเรื้อรัง" และการเมืองแบบนี้มักจะจบลงด้วยการรัฐประหาร จนจำนวนรัฐประหารเป็นเรื่อง "น่าอับอาย" ของการเมืองไทย
ภาวะเช่นนี้กล่าวในทางทฤษฎีได้ว่า การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยที่เกิดขึ้น และดำเนินมาตั้งแต่ปี 2475 นั้น ยังไม่สามารถเดินไปถึง "จุดสิ้นสุด" ที่จะก่อให้เกิด "ความเข้มแข็งของระบอบประชาธิปไตย" (หรือที่เรียกในทางทฤษฎีว่า "Democratic Consolidation") อันมีนัยว่า การเปลี่ยนผ่านได้เดินถึงจุดที่ตัวระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นนั้น มีเสถียรภาพมากพอที่จะดำรงอยู่ได้โดยไม่ถูกโค่นล้มลงด้วยการรัฐประหาร
ฉะนั้น พัฒนาการทางการเมืองของไทยในรอบ 91 ปีจึงเห็นอาการ "เวียนกลับไป-วนกลับมา" ระหว่างการเลือกตั้งและการรัฐประหาร จนไม่รู้ว่าอะไรเป็นจุดเริ่มต้นของอะไร…อาการเวียนไป-วนมาเช่นนี้ กลายเป็น "วงจรอำนาจนิยม" มากกว่าจะเป็นโอกาสในการสร้าง "วงจรประชาธิปไตย"
ถ้าบางครั้ง ประชาธิปไตยทำท่าจะเดินหน้าไปได้บ้าง แต่แล้วด้วยปัญหาบางประการ ประชาธิปไตยก็ถูกทำให้ต้องหยุดลง และเดินกลับเข้าสู่การรัฐประหารอีกครั้ง จนภาวะเช่นนี้อาจถูกเรียกอย่างหดหู่ว่า "วงจรรัฐประหาร" ในการเมืองไทย เพราะวงจรเช่นนี้ทำให้การพัฒนาระบอบประชาธิปไตยมีอาการสะดุดลงเป็นระยะๆ จนไม่มีใครกล้ารับประกันว่า "รัฐประหารครั้งสุดท้าย" ในการเมืองไทยจะเกิดขึ้นจริงเมื่อใด?
แต่สังคมก็มีความหวังเสมอว่า ในที่สุดแล้ว การเมืองไทยจะมี "รัฐประหารครั้งสุดท้าย" เช่นสังคมการเมืองของประเทศพัฒนาอื่นๆ ที่เกิดประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพ และนำไปสู่การพัฒนาในด้านต่างๆ ของสังคม โดยเฉพาะเรื่องของการพัฒนาทางเศรษฐกิจ เช่นกรณีของสังคมเกาหลีใต้หลังระบอบทหาร และพัฒนาไปสู่ยุค "เค ป๊อบ" (K Pop) ที่ชี้ให้เห็นถึงการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างมากดังเช่นในปัจจุบัน เป็นต้น
หากพิจารณาในมุมมองเปรียบเทียบแล้ว จะเห็นได้ว่ามีประเทศในเอเชียที่หนีออกจากวงจรรัฐประหารได้อย่างมีนัยสำคัญ เช่น เกาหลีใต้ และอินโดนีเซีย ทั้งสองประเทศในอดีตล้วนเคยอยู่ภายใต้ระบอบทหารที่เข้มแข็ง และอยู่ในช่วงเวลาเดียวไล่เลี่ยกับระบอบทหารไทยด้วย อีกทั้ง อาจต้องยอมรับว่า ระบอบทหารในประเทศทั้งสอง มีความเข้มแข็งมากกว่าระบอบทหารไทย แต่ผู้คนในสังคมก็สามารถพาประเทศออกจากวงจรนี้ได้
สำหรับวันนี้ต้องถือว่า รัฐประหารและระบอบทหารในเกาหลีใต้และอินโดนีเซีย ได้จบไปแล้ว แม้ฟิลิปปินส์และกัมพูชาก็ไม่เผชิญกับการรัฐประหาร ซึ่งบางคนอาจโต้แย้งว่า การเมืองฟิลิปปินส์เป็นอำนาจนิยมพลเรือน และไม่มีประเพณีของการยึดอำนาจโดยทหาร ส่วนกัมพูชาก็เป็นการเมืองอำนาจนิยมอีกแบบที่เป็นระบอบพันทาง ภาวะเช่นนี้ทำให้รัฐประหารและระบอบทหารยังคงเหลือเป็นมรดกสำคัญในการเมืองไทย และการเมืองเมียนมา อันส่งผลให้ไทยต้องเผชิญ "สงครามการเมือง"ส่วนเมียนมาก็ต้องพบกับ "สงครามกลางเมือง"
แม้ภาวะของ "วงจรรัฐประหาร" ที่ไม่จบในการเมืองไทย อาจจะดูเป็นเรื่องที่หดหู่อย่างมาก แต่ในการเดินทาง 91 ปีเช่นนี้ ก็เห็นส่วนที่เป็นบวก… ถ้าไม่นับการเปลี่ยนแปลงในปี 2475 แล้ว เราได้เห็น "กรุงเทพสปริง" (The Bangkok Spring) หรืออาจจะเรียกว่า "ฤดูใบไม้ผลิที่กรุงเทพ" ถึง 2 ครั้งในปี 2516 และ 2535 อีกทั้ง เรายังได้มีโอกาสสัมผัสกับ "รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน" ในปี 2540 ก่อนที่จะถูกล้มทิ้งด้วยรัฐประหาร 2549
ฉะนั้น หากพิจารณาหลังรัฐประหาร 2549 เราได้เห็นผลการเลือกตั้งที่ล้มระบอบทหาร เช่น ชัยชนะในปี 2550 (แม้ชัยชนะนี้จะถูกล้มด้วยรัฐประหาร 2557) และต่อมาคือ ชัยชนะของพรรคฝ่ายค้านในปี 2566… เรื่องราวเหล่านี้ ต้องถือเป็น "มุมบวก" ของการเมืองไทย ที่มิได้มีแต่ "มุมลบ" เท่านั้น อีกทั้ง ยังเป็นสัญญาณการปิดฉากของ "พรรคทหาร" ในยุคปัจจุบัน เพราะไม่มีพลังที่จะขับเคลื่อนการเมืองหลังการเลือกตั้งได้จริง
นอกจากนี้ ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในปีที่ 91 คือ ชัยชนะของฝ่ายค้านผ่านการเลือกตั้งที่ได้เห็นในปัจจุบัน แม้การจัดการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคฝ่ายค้านในวันนี้จะยังคงเป็นปัญหาก็ตาม แต่อย่างน้อยคะแนนเสียงที่ไม่ตอบรับกับพรรคทหารและอดีตผู้นำรัฐประหาร จึงเป็นเสมือน "คำชี้แนะ" ทางการเมืองที่บ่งบอกว่า การเมืองแบบเก่าของผู้นำทหารและพรรคทหารน่าจะหมดเวลาทางการเมืองแล้ว ทั้งยังบอกถึง การไม่ตอบรับกับการสร้าง "วงจรรัฐประหาร" ด้วย… แม้รัฐประหารอาจจะยังเกิดได้ แต่โอกาสของความสำเร็จจะยุ่งยากมาก
ดังนั้น "91 ปี 2475" จึงเป็นความหวังว่า การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยจะเกิดได้อย่างแท้จริง เพื่อนำไปสู่การมีรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งตามมติมหาชน ตัวแบบรัฐบาลแต่งตั้งน่าจะจบลงเสียทีแล้ว!