รำลึกครบ 91 ปีอภิวัฒน์สยาม 24 มิ.ย. 2475 วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง

รำลึกครบ 91 ปีอภิวัฒน์สยาม 24 มิ.ย. 2475 วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ครบ 91 ปี ระลึกถึงวันสำคัญของประเทศไทย 24 มิถุนายน 2475 วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง ประเทศไทยเปลี่ยนผ่าน ผลัดใบจาก สมบูรณาญาสิทธิราชย์ สู่ประชาธิปไตย

วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 หรือ ค.ศ. 1932 ถือเป็นวันสำคัญสำหรับ การสร้างรากฐานระบบประชาธิปไตยในประเทศไทย มาจนถึงทุกวันนี้ แม้จะล้มลุกคลุกคลาน ไปบ้าง จากการปฏิวัติรัฐประหาร หลายต่อหลายครั้ง (นับถึงวันนี้ ปี 2566 ไทยมีรัฐประหาร 13 ครั้ง และขอให้ยุติ และต้องหยุดแค่นี้ ได้แล้ว) แต่ อย่างน้อยระบอบประชาธิปไตย ก็ทำให้ผู้คนในประเทศตื่นรู้ ในเรื่องการเมืองการปกครอง 
 
24 มิถุนายน 2475 เป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยให้พระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ  ถอยเข็มนาฬิกากลับไปวันนั้น คณะราษฎรได้นำกำลังทหารและพลเรือนเข้ายึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน ในขณะนั้นรัชกาลที่ 7  ได้เสด็จแปรพระราชฐานประทับอยู่ที่พระราชวังไกลกังวล หัวหิน ประจวบคีรีขันธ์

คณะผู้ยึดอำนาจที่มี พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นหัวหน้า ได้ตั้งคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารที่มีนายทหารระดับนายพันเอก 3 คนคือ พระยาพหลพลพยุหเสนา พระยาทรงสุรเดช และพระยาฤทธิอัคเนย์

รำลึกครบ 91 ปีอภิวัฒน์สยาม 24 มิ.ย. 2475 วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง

เมื่อสามารถระดมกำลังทหารมาชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้าได้เป็นจำนวนมากจากหลายกองพันในกรุงเทพฯ จึงประกาศแถลงการณ์ของคณะราษฎรถึงเหตุและความตั้งใจในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ตลอดจนกุมตัวพระบรมวงศานุวงศ์และนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของรัฐบาลมาไว้ที่พระที่นั่งอนันตสมาคมแล้ว คณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารก็ได้มีหนังสือ และส่ง นาวาตรี หลวงศุภชลาศัย ไปยังพระราชวังไกลกังวล กราบบังคมทูลอัญเชิญรัชกาลที่ 7 เสด็จกลับพระนคร ดังมีความสำคัญว่า

 “คณะราษฎรไม่ประสงค์จะแย่งราชสมบัติแต่อย่างใด ความประสงค์อันยิ่งใหญ่ก็เพื่อที่จะมีธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จึงขอเชิญใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทกลับคืนสู่พระนคร ทรงเป็นกษัตริย์ต่อไปโดยอยู่ใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน”

เพื่อให้  การอภิวัฒน์สยามประสบผลสำเร็จทั้งโดยพฤตินัยและนิตินัย คณะราษฎร จึงทำหนังสือขึ้นกราบบังคมทูลอัญเชิญพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จนิวัติกลับสู่พระนคร เพื่อดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน ที่คณะราษฎรจะจัดร่างขึ้นในลำดับต่อไป 

รำลึกครบ 91 ปีอภิวัฒน์สยาม 24 มิ.ย. 2475 วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชหัตถเลขาตอบคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารของคณะราษฎร ก่อนเสด็จจากวังไกลกังวลกลับพระนครโดยขบวนรถไฟพิเศษว่า

“ข้าพเจ้าเห็นแก่ความเรียบร้อยของอาณาประชาราษฎร ไม่อยากให้เสียเลือดเนื้อกับทั้งเพื่อจัดการโดยละม่อมละไม ไม่ให้ขึ้นชื่อว่าได้จลาจลเสียหายแก่บ้านเมือง และความจริงข้าพเจ้าก็ได้คิดอยู่แล้ว ที่จะเปลี่ยนแปลงตามทำนองนี้ คือมีพระเจ้าแผ่นดินตามพระธรรมนูญจึงยอมรับที่จะช่วยเป็นตัวเชิด เพื่อให้คุมโครงการตั้งรัฐบาลให้เป็นรูปวิธีเปลี่ยนแปลงตั้งพระธรรมนูญโดยสะดวก เพราะว่าถ้าข้าพเจ้าไม่ยอมรับเป็นตัวเชิดนานาประเทศก็คงไม่ยอมรับรัฐบาลใหม่นี้ ซึ่งคงจะเป็นความลำบากยิ่งขึ้นหลายประการ…”

ในคืนวันที่ 25 มิถุนายน 2475 รัชกาลที่ 7 เสด็จกลับพระนครโดยรถไฟพระที่นั่งที่ทางคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารส่งไปรับ และในวันที่ 26 มิถุนายน 2475 ให้บุคคลสำคัญของคณะราษฎรเข้าเฝ้าฯ และพระองค์ได้ทรงลงพระปรมาธิปไธยพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่คณะผู้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน

ต่อมาในวันที่ 27 มิถุนายน 2475 รัชกาลที่ 7 ได้พระราชทานพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ซึ่งเดิมทีคณะผู้ก่อการตั้งใจจะใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับถาวร  และในเวลาต่อมา  10 ธันวาคม 2475 จึงมีการพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวร

  • สร้าง “อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย” เพื่อระลึกถึง การเปลี่ยนแปลงการปกครอง

จากนั้น ได้มี การก่อสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เริ่มขึ้นในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 และทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2483 ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี  เพื่อเป็นการระลึกถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศ และเกร็ดข้อมูลที่น่าสนใจก็คือ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถือ เป็นหลักกิโลเมตรที่ 0 ของกรุงเทพมหานคร และประเทศไทย ยกเว้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 หรือ ถนนมิตรภาพ ที่เริ่มนับกิโลเมตร 0 ที่ อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี

โดย รอบๆ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีปืนใหญ่จำนวน 75 กระบอก โดยปากกระบอกปืนฝังลงดิน ซึ่งเลข 75 เป็นเลขท้ายสองหลักของปี พ.ศ. 2475 ที่มีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง

ขณะที่ พระขรรค์ 6 เล่ม ที่รายล้อมรอบป้อมกลางตัวอนุสาวรีย์ หมายถึง หลัก 6 ประการ ของคณะราษฎร ได้แก่

  • จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในบ้านเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
  • จะรักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลง
  • จะต้องบำรุงความสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ
  • จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน
  • จะต้องให้ราษฎรมีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ
  • จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร