บัลลังก์ "ประธานสภา" จับตาจุดตัด วัดใจ "8 พรรค" สัญญาณฉีก MOU ?
"ศึกชิงประธานสภา" จุดตัด-เดิมพันสำคัญ ที่อาจชี้วัดว่า ที่สุดแล้ว 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล จะยังคงจับมือเหนียวแน่นมากน้อยแค่ไหน
ศึกชิง “ประธานสภา” ที่แม้ตามไทม์ไลน์ จะรู้ดำ-รู้แดงกันในวันที่ 4 ก.ค.หรืออีกราวๆ 1 สัปดาห์ข้างหน้า ทว่า นับตั้งแต่เวลานี้จนถึงวินาทีสุดท้าย ก่อนโหวต ซีรีส์เรื่องนี้ ยังมีอีกหลายฉากหลายตอน โดยเฉพาะตัวละครสำคัญอย่างพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย ยังไม่มีทีท่าว่า ฝ่ายใดจะยอมถอย
ละครฉากหน้าของทั้ง 2 พรรค แม้ต่างฝ่ายต่างบอกว่า ยังรักกันหวานชื่น และพร้อมจับมือเหนียวแน่นเพื่อรักษาประชาธิปไตยไปด้วยกัน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ศึกชิงบัลลังก์” ประมุขนิติบัญญัติ คนที่ 32 ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ยังต้องจับตา “แผนลับ-ดีลลวง” ที่เกิดขึ้นไม่หยุดหย่อน
โดยเฉพาะ “เกมซ่อนกล” ที่จะเกิดขึ้นในวันเลือกประมุข เมื่อพลิกข้อบังคับประชุมสภาฯ จะพบว่า “กลแรก” คือการ “เสนอชื่อ” ตามข้อบังคับข้อ 6 ระบุว่า การเลือกประธานสภาฯ สมาชิกแต่ละคนมีสิทธิเสนอชื่อสมาชิกได้หนึ่งชื่อ และการเสนอนั้นต้องมีจำนวนสมาชิกรับรอง “ไม่น้อยกว่า 20 คน”
หมายความว่า พรรคไหนก็เสนอชื่อได้ ขอแค่ไปหาเสียงที่รับรองมาให้ได้ แค่ 20 เสียง เพียงแต่ว่า ตามธรรมเนียมที่เคยเป็นมาในอดีต และเพื่อความสง่างาม ส.ส.จะไม่เสนอชื่อคนจากพรรคเดียวกัน ไปชิงตำแหน่งประธานสภาฯ เพื่อรักษาภาพลักษณ์ของผู้ที่ต้องทำหน้าที่เป็นกลาง
ครั้งล่าสุด เมื่อปี 2562 “ณัฐพล ทีปสุวรรณ” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ลุกขึ้นเสนอชื่อ “ชวน หลีกภัย” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ขณะที่อีกฝั่ง “ซูการ์โน มะทา” ส.ส.ยะลา พรรคประชาชาติ เป็นผู้เสนอชื่อ “สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ชิงตำแหน่งประธาน ก่อนที่ “ชวน” จะได้รับเสียงเห็นชอบในท้ายที่สุด
ฉะนั้น ศึกชิงประมุขรอบนี้หาก “ก้าวไกล” และ “เพื่อไทย” ไม่สามารถหาข้อยุติแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้ โดยเฉพาะท่าทีเพื่อไทย ล่าสุดที่ยังยึดสูตร “14 +1” คือ 14 รัฐมนตรี +1 ประธานสภาฯ ด้วยแล้ว การที่ก้าวไกลจะหวังพึ่งเพื่อไทย ให้อีกฝ่ายเสนอชื่อคนของตน ย่อมเป็นไปได้ยาก
ฉะนั้น ก้าวไกลอาจต้องพึ่งอีก 6 พรรคร่วมที่เหลือ หรือเลือกที่จะ “แหวกม่านประเพณี” เสนอชื่อคนของตัวเอง ให้รู้แล้วรู้รอด
เช่นนี้ จะกลายเป็นไปเข้าทาง “ดีลลับข้ามขั้ว” โดยเฉพาะสูตรพรรครัฐบาลเดิม เสนอชื่อคนของเพื่อไทย ตามที่ปรากฏข่าวคราวก่อนหน้านี้
“เกมซ่อนกล” ถัดมา คือขั้นตอนการ “โหวต” ตามข้อบังคับข้อเดียวกัน เขียนไว้อย่างชัดเจน ให้ลงคะแนน “เป็นการลับ” นั่นหมายความว่า ผลคะแนนที่ออกมา “จับมือใครดมไม่ได้” ว่าใครโหวตให้ใคร แม้คะแนนจะฟ้องแต้มขาด-เกินของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ตาม
ทำไปทำมา ศึกชิงบัลลังก์ประมุขนิติบัญญัติ อาจกลายเป็น“จุดตัด” สำคัญ ที่อาจส่งผลไปถึงการเมืองช็อตต่อไป นั่นคือ การโหวตนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะเป็นอำนาจของประธานสภาฯ คนใหม่ในการนัดประชุม
หากฝ่ายใด ได้ตำแหน่งประธานสภาฯ มาครอง ย่อมเป็นฝ่าย “ถือไพ่เหนือ” ใบแรก โดยเฉพาะการกำหนดเกม เลือกวันโหวตนายกฯ
ยิ่งไปกว่านั้นศึกชิงประธานสภา ยังถือเป็นเดิมพันสำคัญว่า ที่สุดแล้ว 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล จะยังคงจับมือเหนียวแน่นมากน้อยแค่ไหน
เพราะแม้แต่ “ขุนพลค่ายส้ม” อย่าง “ชัยธวัช ตุลาธน” เลขาธิการพรรคก้าวไกล ยังยอมรับว่า “การเลือกประธานสภาก็จะสะท้อน การจับมือร่วมกันของ 8 พันธมิตร ที่มีก้าวไกลเป็นแกนนำ”
อีกทั้ง ข่าวคราว “ดีลลับข้ามขั้ว” ที่สุด อาจไม่ได้หยุดอยู่แค่ศึกชิงประธานสภาฯ หากแต่ยังลามไปถึงเกมโหวตนายกฯ ด้วย
สอดรับกับท่าที “สภาสูง” ทั้งกลุ่มอิสระราว 20 คน ที่ก่อนหน้านี้ ยืนยันสนับสนุนรัฐบาลที่มาจาก “เสียงข้างมาก” แต่เมื่อไล่ลงไปลึก จริง ๆ ส.ว.กลุ่มนี้มีเพียงไม่กี่คน ที่ระบุตัวบุคคลอย่างชัดเจน ว่าจะสนับสนุน“พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เป็นนายกฯ ส่วนที่เหลือก็รอดูจังหวะว่า จะเกิดเกมพลิก เปลี่ยนตัวนายกฯ หรือไม่
ไม่ต่างจาก ส.ว. “ตระกูล ป.” ที่ยามนี้ รอสัญญาณจากแกนนำ โดยเฉพาะท่าที “ส.ว.เพื่อนประยุทธ์” พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ ที่มองว่า เอ็มโอยู มีพันธะผูกพันทางกฎหมายหรือไม่ ไม่รู้ว่ามีพรรคไหนถอนตัวหรือไม่ เพราะไม่มีข้อผูกมัดทางกฎหมาย อาจจะเปลี่ยนก็ได้ ฝ่าย ส.ส.ใน 8 พรรค ก็ยังไม่นิ่ง โดยเฉพาะประเด็นประธานสภาฯ
"ดังนั้นแต่ละพรรคมีแผนการของเขา สิ่งที่เป็นข่าว มีแต่การวิเคราะห์กัน ซึ่งผมก็บอกว่า อาจจะมีเสนอชื่ออื่น นอกจากนายพิธาก็ได้ ผมได้ยินข่าวขั้นต้นมาเหมือนกัน ในทำนองว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่ เอ็มโอยู 8 พรรคจะถูกฉีก” พล.อ.อกนิษฐ์ ระบุ
ลำพังความเห็นของ “ส.ว.อกนิษฐ์” ซึ่งเป็นฝ่ายปฏิปักษ์กับค่ายส้ม หากมองเผินๆ อาจเป็นเพียงแค่การตีกิน หาเหตุผลในการที่จะไม่โหวตให้พิธา แต่หากจับสัญญาณการเมือง บวกสารพัดกลลึกเกมลับที่เกิดขึ้นเวลานี้ สัญญาณดังกล่าวก็มิอาจมองข้ามได้เช่นกัน
ฉะนั้น เมื่อเกมออกหน้านี้ จึงไม่แปลกที่ “ก้าวไกล” จะพยายามเปิดหน้าไพ่ ด้วยการยึดตำแหน่ง“ประธานสภาฯ” มาเป็นของตน เพื่อเป็นหลักประกัน ในวันที่อาจพลาดเก้าอี้นายกฯ
ไม่เช่นนั้นแล้วที่สุด “ก้าวไกล” อาจต้องแพ้เกมยกกระดาน หรืออาจต้องถอยด้วยการประกาศเป็น“ฝ่ายค้าน” เพื่อรออีก 4 ปี ไปสู่ “ดับเบิลแลนด์สไลด์” ในรอบหน้า