"ชวน" ชี้ทางออก ปม "ประธานสภาฯ" ควรศึกษาบทบาท หากเอาทุกอย่างปัญหาไม่จบ
"ชวน" เตือนสติ ปมขัดแย้ง ชิง "ปธ.สภาฯ" หากเอาทุกอย่างปัญหาไม่จบ แนะให้ 2พรรคหารือกันใกล้ชิด เชื่อ หากพลาดตำแหน่ง ปธ.สภาฯ ไม่ใช่ปมพลาดตำแหน่งนายกฯ เหตุไม่เกี่ยวข้องกัน
นายชวน หลีกภัย อดีตประธานรัฐสภา ให้สัมภาษณ์ผ่านทีวีรัฐสภา ในรายการ 91 ปี ก้าวแห่งความมั่นคงรัฐสภาไทย เนื่องในวันสถาปนารัฐสภา วันที่ 28 มิถุนายน ว่า ตำแหน่งประมุขของสภานิติบัญญัติมีความสำคัญ เพราะเป็น 1 ใน 3 ของอำนาจอธิปไตย ซึ่งตำแหน่งประธานสภาฯ นั้นสภาฯ จะเป็นผู้เลือกโดยยึดดุลยพินิจของส.ส. ทั้งนี้ที่ผ่านมาเคยมีกรณีที่ ประธานสภาฯ ไม่ได้มาจากพรรคอันดับหนึ่ง เพราะเป็นข้อตกลงของพรรคร่วม บางครั้งที่ผลเลือกตั้งออกมา พบว่าพรรคการเมืองมีคะแนนเสียงใกล้เคียงกัน สามารถตกลงกันได้ว่าใครจะเป็นนายกฯ หรือ ประธานสภาฯ แต่ที่ผ่านมา พบว่าพรรคการเมืองที่ได้เสียงใกล้เคียงกัน จะไม่ร่วมเป็นรัฐบาลเพราะจะทะเลาะกันเหมือนปัจจุบัน ทั้งนี้ใครที่ได้เสียงข้างมากชัดเจน สามารถตกลงได้ว่าได้เป็นนายกฯและประธานสภาฯ
เมื่อถามว่าขณะนี้เสียงของพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยที่ใกล้เคียงกันทำให้เกิดความไม่ชัดเจน นายชวน กล่าวว่า ถือเป็นประสบการณ์ตั้งรัฐบาล ฐานะที่ตนเคยเป็นทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านมาหลายสมัย ปกติการตกลงร่วมกันจะใช้ตำแหน่งนายกฯ เป็นสำคัญ เพราะจะง่ายต่อการแบ่งปันตำแหน่ง ทั้งนี้การตั้งรัฐบาลในปัจจุบันตนมองว่าง่ายกว่าในอดีต เพราะมีเพียง 8 พรรคการเมือง ขณะเดียวกันมีเพียง 2 พรรคเท่านั้นที่รวมเสียงได้เกินครึ่ง
“แต่เที่ยวนี้ ดูแล้วมีปัญหา เพราะมีประเด็นความต้องการประธานสภาฯ และ ตำแหน่งนายกฯ ซึ่งเขามีเหตุผลและเป็นปกติที่เป็นไปได้ แต่หากเอาทุกอย่างปัญหาไม่จบ” นายชวน กล่าว
เมื่อถามว่าพรรคก้าวไกล กังวลว่าหากไม่ได้ประธานสภาฯ จะผลักดันกฎหมายของตนเองไม่ได้ นายชวน กล่าวว่า ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะประธานสภาฯ ไม่สามารถทำตามอำเภอใจหรือทำสิ่งที่ขัดกับข้อบังคับการประชุมได้ ส่วนที่ระบุว่าหากไม่ได้ประธานสภาฯ จะไม่ได้ตำแหน่งนายกฯ ตนมองว่าไม่จริง เพราะการเลือกนายกฯ ต้องลงมติจากสมาชิก ซึ่งประธานสภาฯ ต้องดำเนินการตามมติของสภาฯ ไม่สามารถเปลี่ยนคนได้ หรือประธานสภาฯจะเกี่ยง ถ่วง หรือ เสนอชื่อคนอื่นไม่ได้ ดังนั้นหากไม่ได้ตำแหน่งประธานสภาฯ ตำแหน่งนายกฯ จะมีปัญหา นั้นไม่เกี่ยวกัน อีกทั้งการผลักดันกฎหมาย ประธานสภาฯ ไม่สามารถทำตามอำเภอใจว่าจะเอากฎหมายของใครขึ้นมาพิจารณาก่อนได้ ต้องเป็นไปตามลำดับการเสนอจากสมาชิก หากจะเปลี่ยนวาระต้องขอมติจากที่ประชุม ไม่ใช่อำนาจของประธานสภาฯ
“ฝ่ายที่ตั้งรัฐบาล ไม่ใช่เอาทุกอย่างเป็นของตนเอง ต้องต่อรอง เพราะนอกจากเรื่องนี้ยังมีการต่อรองอื่นๆ เช่นกระทรวง ผมมองว่าหากเขาสามารถพูดคุยกันอย่างใกล้ชิด และเข้าใจภาระกิจบทบาทหน้าที่ การแบ่งอำนาจ จะทำให้เกิดความขัดแย้งน้อยลง แต่ที่มีความขัดแย้งมาก เพราะไม่เข้าใจหลายเรื่อง” นายชวน กล่าว
นายชวน กล่าวย้ำด้วยว่าพรรคที่ต้องการเสนอร่างกฎหมาย 100 ฉบับ เขาสามารถผลักดันได้ โดยใช้ช่องเป็นกฎหมายของรัฐบาล เพราะตามข้อบังคับกฎหมายของรัฐบาลจะบรรจุเป็นเรื่องด่วน โดยสมัยสภาฯ ที่ผ่านมา พบว่าร่างกฎหมายที่รัฐบาลเสนอไม่มีค้าง แต่กฎหมายของฝ่ายค้านค้างจำนวนมาก ซึ่งเป็นปกติของการปกครอง หากเสนอร่างกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับกฎหมายหรือนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้ และงบประมาณ
“สำหรับปัญหาของพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย ผมมองว่าหากเข้าใจบทบาทสภาฯ จะทำให้มีข้อยุติง่าย แต่หากไม่เข้าใจและมองว่า่ ประธานสภา บันดาลให้ใครเป็นนายกฯ ก็ได้ แบบนี้หารือกันยาก หากไม่แน่ใจว่า การตั้งนายกฯ จะผ่านหรือไม่ หากไม่ผ่านเขาไม่ได้ทั้งนายกฯ และประธานสภา จนกลายเป็นความวิตก ผมมองว่าหาก 2 ฝ่ายหารือกันอย่างใกล้ชิด จะทำให้คุยกันได้ง่าย ดังนั้นปัญหาของประธานสภาฯ ควรยุติด้วยการศึกษา เข้าใจ ในบทบาท อำนาจ หน้าที่ ทุกฝ่ายไม่สามารถเอาอะไรได้ตามมอำเภอใจได้ทุกอย่าง ซึ่งผมมองว่าการตั้งประธานสภาฯ ไม่มีปัญหา แต่สมัยนี้มีปัญหา” นายชวน กล่าว
นายชวน กล่าวถึงสเปคบุคคลที่จะเป็นประธานสภาฯ ว่า ไม่ว่าจะเป็นใครต้องเตรียมตัว ศึกษากฎเกณฑ์ ข้อบังคับและระเบียบ คนที่ได้เป็นประธานสภาฯ ต้องลาออกจากตำแหน่งในพรรคการเมือง เพื่อไม่ให้เกี่ยวกับพรรคตัวเอง หากพรรคเลือกคนของตัวเองเข้ามาเพื่อให้เลือกปฏิบัติไม่สามารถทำได้
“พรรคที่เลือกตัวแทนเข้ามา ต้องเลือกคนที่เป็นหน้าตาให้พรรค และเลือกคนที่จะมาเป็นหัวหน้าของ 500 คนในสภาฯ ดังนั้นพฤติกรรม นิสัยใจคอ ต้องแสดงให้เห็นว่าเป็นตัวแทนของฝ่ายนิติบัญญัติ พรรคการเมืองต้องเลือกคนที่เข้ามาเพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย รวมถึงต้องคำนึงด้วยว่าจะทำให้การเมืองในระบอบประชาธิปไตยเป็นไปในทิศทางบวกหรือลบ” นายชวน กล่าว