ลุ้น“1 เสียง”สุดท้าย "ก้าวไกล" เพิ่มงานเสี่ยง ใน "เกมโหวต"
กรณีที่ "ก้าวไกล" ยอมเฉือน 1ส.ส.ที่ต้องคดีเมาแล้วขับ เพื่อรักษาภาพลักษณ์ "พรรค" ขณะเดียวกันต้องยอมรับ "ความเสี่ยง" ที่เสียงโหวตจะแพ้ เกมในรัฐสภา
การที่ “ก้าวไกล” ยอมให้สภาผู้แทนราษฎรตัดสิทธิ “ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์” เป็น ส.ส.เนื่องจากขาดคุณสมบัติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101(13) ว่าด้วย ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก แม้จะมีการรอลงรอการลงโทษในคดี “เมาแล้วขับ” ตามคำพิพากษาของศาลอาญามีนบุรีที่ถือเป็นที่สุด เพราะเจ้าตัวไม่ใช้สิทธิอุทธรณ์
ถือเป็นทางที่ก้าวไกลเลือกแล้ว ว่าเป็นทางออกเพื่อรักษาภาพลักษณ์ของพรรค ที่ต้องแสดงภาวะความรับผิดชอบ ฐานะพรรคที่เตรียมขึ้นผู้นำสูงสุด
แม้รู้ว่าในอนาคตอาจมีปัญหาต่อเสียงสนับสนุน ทั้งในการชิงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร และชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
เนื่องจาก ส.ส.ที่เลื่อนขึ้นมาแทน “ณธีภัสร์” ตามบัญชีรายชื่อคือ “สุเทพ อู่อ้น” อาจเข้ามาเติมเสียงโหวตให้ก้าวไกลไม่ทัน ทั้งในการโหวตประธานสภาฯ วันที่ 4 กรกฎาคม หรือการโหวตนายกรัฐมนตรีที่คาดว่าจะไม่เกินไปกว่าเดือนกรกฏาคมนี้
เพราะตามขั้นตอนปฏิบัติที่ พรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร แจ้งไว้คือ การเลื่อน ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับถัดไป ต้องรอให้มีประธานสภาผู้แทนราษฎรคนใหม่เข้ามาทำหน้าที่ จากนั้นคือการเสนอเรื่องเพื่อให้ประธานสภาฯ ออกประกาศการเลื่อนลำดับบัญชีรายชื่อ และต้องรอให้ลงประกาศราชกิจจานุเบกษา ซึ่งตามขั้นตอน จะใช้เวลา 7-10 วัน
ทว่า ตามไทม์ไลน์แล้ว หลังจากสภาฯ ชุดที่ 26 มี “ประธานสภาฯ” ทำหน้าที่แล้ว ต้องเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อเลือก “นายกรัฐมนตรี” ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ซึ่ง ส.ส.ที่จะเข้าไปโหวตได้ ต้องผ่านการกล่าวคำปฏิญาณตนต่อที่ประชุมของสภาฯ ที่ตนเป็นสมาชิกก่อน
แม้ “สุเทพ อู่อ้น” จะได้รับการเลื่อนลำดับให้เป็น ส.ส.ได้ก่อนวันโหวตนายกฯ แต่หากไม่มีการเปิดประชุมสภาฯ เพื่อให้ ส.ส.กล่าวคำปฏิญาณตนก่อนเข้ารับหน้าที่ ก็ไม่สามารถร่วมโหวตนายกฯ ในที่ประชุมรัฐสภาได้
ขณะนี้มีความพยายามจากฝ่ายการเมือง ตีความของมาตรา 115 ของรัฐธรรมนูญว่า ส.ส.สามารถเข้าไปกล่าวคำปฎิญาณตนก่อนเข้ารับหน้าที่ในรัฐสภาได้ในฐานะที่เป็นสมาชิกรัฐสภา แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น
ขณะเดียวกัน “ฝ่ายกฎหมายของสภาฯ” มองว่ามาตรา 115 มีความชัดเจนว่า “ส.ส.ต้องปฏิญาณตนก่อนเข้ารับหน้าที่ในที่ประชุมแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิก” เท่านั้น
สำหรับ “1 เสียง” ที่ไม่ชัดเจนว่า จะเข้ามาเติมเต็มเสียงก้าวไกลได้ทันหรือไม่ ในภาวะที่ 1 เสียงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในเกมชิงอำนาจที่ “เหลี่ยมการเมือง” ยังต้องต่อสู้อีกหลายยก ย่อมเป็น “จุดเสี่ยง-จุดอันตราย” ของก้าวไกลเป็นอย่างยิ่ง
แม้ก่อนหน้านี้ “เกมของก้าวไกล” ที่เซ็ตไว้ตั้งแต่ “ดึง 7 พรรค” เป็นพันธมิตร รวมเป็นเสียงข้างมาก 312 เสียงได้ก่อน “พรรคขั้วรัฐบาลเดิม” (แม้ภายหลังจะลดเหลือ 311 เสียง) จับมือ รับปากเป็นสัญญาว่าจะตั้งรัฐบาลร่วมกัน และต่อมาคือตั้งโต๊ะแถลง “การลงนามความร่วมมือ MOU” เพื่อตอกย้ำว่า ไม่ใช่สัญญาปากเปล่า ทว่าในแต่ละย่างก้าวของ “ก้าวไกล” หาได้มีความมั่นคงและมั่นใจ
ตั้งแต่ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” แคนดิเดตนายกฯ 1 เดียวของพรรคก้าวไกล ถูกตรวจสอบทั้งในแง่คุณสมบัติของการเป็น ส.ส. ประเด็น ถือหุ้นไอทีวี ซึ่งเป็น “ข้อต้องห้าม” ของการดำรงตำแหน่ง ซึ่งถูก กกต.ขยายผลไต่สวน “ปมรู้ตัวขาดคุณสมบัติแต่ยอมให้พรรคส่งเลือกตั้ง” รวมถึงยังมีประเด็นการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินที่ถูกครหาว่า “ปกปิด”
และยิ่งถูกขยายผลจาก “การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112” ทำให้สังคมการเมืองไม่ไว้ใจว่า รัฐบาลก้าวไกลจะมั่นคง หรือไปได้ตลอดรอดฝั่ง ในเมื่ออำนาจของ “นิติบัญญัติ” ยังมี “ขั้วเก่า” แฝงอยู่ในรูปแบบของ “ส.ว.” ที่มีสิทธิขวางในชั้นการโหวตนายกฯได้ ตามเงื่อนไข นายกฯต้องได้เสียงสนับสนุน 376 เสียงขึ้นไป
ลำพัง เสียงจาก 8 พรรค ที่มี 311 เสียงในมือ บวกกับ 2 เสียงจาก พรรคใหม่ และพรรคท้องที่ไทย ที่มี ส.ส.พรรคละ 1 เสียง ยังห่างจากตัวเลข 376 ถึง 63 เสียง
โดยจำนวนนั้น หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า ส.ว.จะแบ่งคะแนนมาให้ 20 เสียง แต่อีก 43 เสียง ยังหวังได้ยาก แม้จะมีข้อเสนอ ให้ดึงเสียงจาก ส.ส.พรรครัฐบาลเดิม แต่ 9 พรรคที่ว่านั้น ต่างแสดงจุดยืนแล้วว่า ไม่เอากับพรรคที่คิดแก้มาตรา 112
เมื่อ “ก้าวไกล” ยอมเสีย “1 เสียง” เพื่อหวังสร้างบรรทัดฐานและมาตรฐานการเมืองที่ดี ก็ต้องพร้อมยอมรับเกมเสี่ยงในการโหวตสำคัญที่จะตามมา และ เพิ่มงานยากที่จะดันฝ่ากระแสต้านจาก "รัฐสภา".