นายกฯ ส่งเสริมการปลูกไม้มีค่า 58 ชนิด ให้ผลตอบแทนสูงถึงปีละ 18%
โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ ส่งเสริมการปลูกไม้มีค่า 58 ชนิด ทางเลือกใหม่ในการสร้างรายได้ ให้ผลตอบแทนสูงถึงปีละ 18%
เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชูมาตรการการออมทางเลือกใหม่ที่ไม่ใช่ตัวเงิน ด้วยการออมในรูปแบบของการ ปลูกไม้ยืนต้น เช่น ไม้มีค่า 58 ชนิด
โดยให้ปลูกบนที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ สามารถปลูกได้ทั้งในบริเวณที่อยู่อาศัยหรือในพื้นที่เหลือที่ไม่ได้ทำการเกษตร และการออมในรูปแบบการเลี้ยงสัตว์ เช่น โค กระบือ สุกร ไก่ และปลา ฯลฯ ซึ่งถือเป็นวิถีชีวิตของเกษตรกรและประชาชนในชนบทที่เปรียบเสมือนการเก็บออมทรัพย์ของชาวบ้าน โดยย้ำให้กระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ได้มีการประชาสัมพันธ์ สร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้เกษตรกรเห็นถึงประโยชน์ของการออมที่ไม่ใช่ตัวเงิน พร้อมส่งเสริมการดำเนินการโดยอาศัยกลไกความร่วมมือของคนในชุมชน และหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ในการให้ความรู้ และให้คำปรึกษากับเกษตรกรเพื่อให้เกิดการขยายผลในการออมที่ไม่ใช่ตัวเงินให้มากขึ้นเพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการสร้างรายได้ในอนาคตให้กับประชาชนและเกษตรได้อย่างยั่งยืน อีกทั้งการปลูกต้นไม้ยืนต้นยังช่วยในการลดโลกร้อนตามนโยบายรัฐบาลด้วย
นายอนุชา กล่าวย้ำว่า การออมเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลให้การส่งเสริมมาอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลปี 2564 พบว่า มีครัวเรือนไทยร้อยละ 72 มีการออมเงินแต่มูลค่าการออมไม่สูงและมีแนวโน้มลดลง ทำให้ครัวเรือนไทยกว่าร้อยละ 86 มีเงินออมในจำนวนที่ไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายในระยะเวลา 1 ปี หากต้องหยุดทำงาน ตลอดจนไม่เพียงพอที่จะนำมาใช้จ่ายภายหลังเกษียณ
โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมซึ่งมีรายได้ไม่แน่นอน รัฐบาลจึงได้ส่งเสริมมาตรการการออมทางเลือกใหม่ที่ไม่ใช้ตัวเงิน แต่ใช้วิธีการออมทรัพย์ในรูปแบบของการปลูกไม้ยืนต้น โดยรัฐบาลได้ทำการปลดล็อคกฎหมายไม้หวงห้ามและไม้หายาก 171 ชนิด ให้สามารถปลูกและตัดขายเพื่อสร้างรายได้ให้กับผู้ปลูกได้อย่างเสรี และได้มีมาตรการกำหนดให้ ไม้มีค่า 58 ชนิด สามารถใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจ และค้ำประกันสินเชื่อได้ตามกฎหมาย
ซึ่งการปลูกไม้มีค่าให้ผลตอบแทนสูงถึงร้อยละ 17.90 ต่อปี และการออมอีกรูปแบบหนึ่ง คือ การออมทรัพย์ในรูปแบบของการเลี้ยงสัตว์ต้น เช่น โค กระบือ สุกร ไก่ ปลา ซึ่งมีต้นทุนการเลี้ยงไม่สูงมาก โดยเฉพาะการเลี้ยงโค/กระบือ สามารถที่จะปล่อยให้หากินตามธรรมชาติได้ และได้ประโยชน์ในด้านอื่นด้วย อาทิ ช่วยในการเตรียมพื้นที่สำหรับเพาะปลูก ช่วยกำจัดวัชพืช ใช้มูลเป็นปุ๋ย หรือเก็บมูลไปขาย เป็นต้น
“อย่างไรก็ตามการเลี้ยงสัตว์เพื่อการออมยังไม่ได้รับการยอมรับมากนัก ส่วนใหญ่จะเน้นเพื่อการขายและการบริโภคในครัวเรือนเป็นหลัก จึงควรมีการส่งเสริมและขยายผลการออมที่ไม่ใช่ตัวเงินให้มากขึ้น โดยการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนและเกษตรกรเห็นถึงประโยชน์ การใช้กลไกความร่วมมือของคนในชุมชน และการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ ตลอดจนการปรับปรุงกฎระเบียบให้สอดคล้องและไม่เป็นอุปสรรคต่อการออมรูปแบบนี้” นายอนุชากล่าว