ปชป. แจง รอมติ กรรมการบริหารชุดใหม่-ส.ส.พรรค ร่วมรัฐบาลหรือไม่
โฆษก ปชป. ระบุ ร่วมรัฐบาลหรือไม่ รอมติ กรรมการบริหารชุดใหม่-ส.ส.พรรค เผยกติกา หากมีชื่อ "มาดามเดียร์" ชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรค
1 ก.ค. 2566 ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายราเมศ รัตนเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการนัดประชุมส.ส.ของพรรคนัดแรก ทั้ง 25 คน ในเวลา 13.00 น.วันที่ 2 ก.ค. นี้ ว่า การประชุมดังกล่าวมีวาระการเลือกประธาน รองประธานส.ส. และเลขานุการส.ส.ของพรรค พร้อมมีเจ้าหน้าที่จากสภาฯมาชี้แนวทางในเรื่องต่างๆในการทำหน้าที่ส.ส. ส่วนการกำหนดแนวทางการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรของพรรค ขณะนี้ยังไม่ได้มีการพูดคุยลงลึกในรายละเอียด เพราะยังไม่มีความชัดเจนเรื่องตัวบุคคลที่จะเสนอชื่อให้ส.ส.เลือก ซึ่งในการประชุมส.ส.นัดแรกอาจมีการหารือเบื้องต้นด้วย ซึ่งตนไม่สามารถยืนยันได้ เช่นเดียวกับการจะเข้าร่วมรัฐบาล เพราะต้องใช้มติของที่ประชุมร่วมกันระหว่างกรรมการบริหารพรรคและส.ส.พรรค แต่การเลือกประธานสภาฯ จะฟังเสียง ส.ส.25 คนของพรรคเป็นหลัก คาดว่าน่าจะมีความชัดเจนในเช้าวันที่ 4 ก.ค.
“พรรคไม่ได้มีการ ดีลลับในการจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคการเมืองใด แต่ยอมรับว่าเป็นเรื่องปกติที่จะมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนสถานการณ์ทางการเมืองกับนักการเมืองต่างพรรค จึงขอให้รอฟังมติที่ประชุมร่วมกันระหว่างกรรมการบริหารพรรคและส.ส.ของพรรคก่อน” นายราเมศ กล่าว
นายราเมศ กล่าวต่อว่า ส่วนการประชุมใหญ่วิสามัญประจำปี 2566 ของพรรค เพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่และหัวหน้าพรรคคนใหม่ ในวันที่ 9 ก.ค. นี้ ก็มีความพร้อมแล้วในทุกด้าน ขณะนี้มีนายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคที่ประกาศเสนอตัวลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ส่วนคนอื่นยังไม่มีการประกาศตัวอย่างเป็นทางการก็รวมถึงกรณีที่มีชื่อนายเดชอิศม์ ขาวทอง หรือ นายก ชาย รองหัวหน้าพรรค ตนจึงไม่ทราบว่า สุดท้ายจะมีใครเสนอตัวบ้าง
ส่วนกระแสข่าวว่าจะมีการแข่งขันระหว่างนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตหัวหน้าพรรคกับนายเดชอิศม์นั้น ตนยืนยันว่า ยังไม่ทราบถึงตัวบุคคลว่า สุดท้ายใครจะลงแข่งขัน
เมื่อถามว่า หากน.ส.วทันยา บุนนาค หรือมาดามเดียร์ จะลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคต้องขอมติยกเว้นข้อบังคับพรรคหรือไม่ นายราเมศ กล่าวว่า ข้อบังคับพรรคเขียนไว้ค่อนข้างชัด ว่าต้องเคยเป็นส.ส.หรือสมาชิกพรรคไม่น้อยกว่า 5ปี และใช้เสียงรับรองขององค์ประชุม 3 ใน 4 รับรอง ซึ่งตนยังไม่ทราบว่า มาดามเดียร์ จะลงสมัครด้วยหรือไม่
ถามว่าการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่จะมีผลต่อการเข้าร่วมรัฐบาลของพรรคใช่หรือไม่ นายราเมศ กล่าวว่า การจะเข้าร่วมรัฐบาลหรือไม่ ต้องเป็นไปตามมติของกรรมการบริหารพรรคและส.ส.พรรค ซึ่งในการเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ มีกระบวนการขั้นตอนตามระเบียบข้อบังคับพรรค โดยเฉพาะ ข้อที่ 31 ( 6 ) ที่ระบุว่า หากเป็นสมาชิกพรรคไม่ครบ 5 ปี จะต้องใช้มติรับรอง 3 ใน 4 ขององค์ประชุม หรือคิดเป็น 282 จากองค์ประชุม 374 คน ส่วนการเลือกหัวหน้าพรรค ถ้าคุณสมบัติเป็นสมาชิกไม่ครบ 5ปี ก็จะต้องขอมติที่ประชุมรับรองโดยไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง หรือ 187 เสียงจาก 374 เสียง