"3 ฉากทัศน์"ชิงอำนาจรัฐ ลุ้นเกมสภาฯพลิก สมการขั้วการเมืองเปลี่ยน
"3 ฉากทัศน์"ชิงอำนาจรัฐ ลุ้นเกมสภาฯพลิก สมการขั้วการเมืองเปลี่ยน จับตาเกมถอย“ก้าวไกล” ลาก“เพื่อไทย”ถึงโหวตนายกฯ
การลงคะแนนลับของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเลือกผู้ดำรงตำแหน่ง “ประธานสภาผู้แทนราษฎร” ในวันที่ 4 ก.ค.2566 คือประตูบานแรกที่จะนำไปสู่การโหวตเลือกผู้ดำรงตำแหน่ง“นายกรัฐมนตรี” ซึ่งคาดการณ์ว่า จะมีขึ้นก่อนกลางเดือน ก.ค.นี้
แม้พรรคก้าวไกล และ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรค แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จะได้คะแนนเสียงมาเป็นอันดับหนึ่ง โดยมี ส.ส. 151 เสียง ประกาศจับมือกับอีก 7 พรรคการเมือง รวม ส.ส. 312 เสียง ลงนามบันทึกความเข้าใจ หรือเอ็มโอยู เพื่อจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน แต่เงื่อนไขการเลือก “นายกรัฐมนตรี” ต้องมาจากที่ประชุมรัฐสภา โดยมี 250 ส.ว. ร่วมโหวตด้วย
ผู้ถูกเสนอชื่อ จะต้องได้รับเสียงโหวตเกินกึ่งหนึ่งคือ 376 เสียง จึงจะได้นั่งเก้าอี้นายกฯ แต่ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลมี 312 เสียง จึงขาดอีก 64 เสียง และไม่มีทีท่าว่า ขั้ว 8 พรรคจัดตั้งรัฐบาล จะสามารถรวบรวมเสียงได้เพิ่มเติม
“กรุงเทพธุรกิจ” จึงรวบรวมฉากทัศน์ทางการเมือง เพื่อนำเสนอทิศทางประเทศไทย ที่โจทย์สำคัญด่านแรกคือการโหวตเลือก “ประธานสภาฯ” ที่พรรคอันดับ 1 และ 2 ไม่มีฝ่ายใดยอมถอยให้กัน ก่อนจะนำไปสู่การโหวตเลือก “นายกฯ” ที่สถานการณ์มีโอกาสพลิกผันได้ทุกเมื่อ และอาจกลายเป็นจุดเปลี่ยนสมการเมือง และทิศทางประเทศไทย
ฉากทัศน์แรก : “ก้าวไกล” จัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ โดยมี “พิธา” เป็นนายกฯ
หาก 8 พรรคจัดตั้งรัฐบาล ไม่มีพรรคใดเสียงแตก ส.ส. 312 เสียง โหวตไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด แม้จะมีความเสี่ยงที่ ส.ส. เพื่อไทยบางส่วนไม่อยากสนับสนุน “รัฐบาลก้าวไกล” ก็ตาม
จากนั้นวัดใจ 250 ส.ว. จะสามารถเพิ่มเสียงโหวตอย่างน้อย 64 เสียง ให้กับ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ โดยหลังการเลือกตั้งมีเสียงเรียกร้องให้ ส.ว. โหวตให้กับพรรคที่ชนะการเลือกตั้ง โดยไม่ฝืนเสียงประชาชน
นอกจากนี้ เสียง ส.ส.จากขั้วรัฐบาลเดิม ที่บางพรรคยังไม่มีมติ และยังไม่ประกาศจุดยืนว่าจะโหวตให้แคนดิเดตนายกฯ พรรคอันดับ 1 หรือไม่ จึงยังมีความหวังจากเสียง ส.ส.ส่วนนี้ ทั้งจากพลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ ชาติพัฒนากล้า
อย่างไรก็ตาม ฉากทัศน์ดังกล่าว หลายฝ่ายได้จับตาถึงท่าที พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่จะส่งสัญญาณให้ ส.ส.ในสายตัวเองอย่างไร หลังจากเจ้าตัวมีทีท่า ถอยออกจากเกมชิงอำนาจตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยครั้งนี้
นักสังเกตการณ์ มองว่า หากพล.อ.ประยุทธ์ จะใช้โอกาสนี้ส่งสัญญาณให้ ส.ว.มีอิสระในการลงคะแนนเสียงเลือกนายกฯคนใหม่ ย่อมจะแสดงให้เห็นว่า เป็นสุภาพบุรุษประชาธิปไตย ได้แสดงความเป็นผู้นำ ที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม และความสงบสุขของบ้านเมือง และป้องกันความขัดแย้งก่อนที่จะเกิด
"หากพล.อ.ประยุทธ์ ส่งสัญญาณ จะทำให้อำนาจการต่อรองของพรรคก้าวไกลเพิ่มขึ้นทันที การต่อรองของเพื่อไทยในปัจจุบันเรื่องเก้าอี้ประธานสภาก็จะลดลงและจางหายไป จะปิดประตูของพรรคพลังประชารัฐและความหวังของพรรคภูมิใจไทย และจะไม่เกิดการแย่งชิงเชิงการเมืองในเลือกประธานสภา การแสดงสปิริตของพล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นการป้องกันการชุมนุมประท้วงบนท้องถนน ซึ่งฝ่ายความมั่นคงประเมินแล้วว่าจะเกิดขึ้น และกำลังเตรียมรับมือเรื่องนี้อยู่ แต่หาก พล.อ.ประยุทธ์ พลาดโอกาสในการป้องกันความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นจากการแย่งชิงตำแหน่งประธานสภา ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าจะเกิดขึ้น จะถูกตำหนิว่ามีส่วนรู้เห็น รอชิงจังหวะทางการเมือง" กฤษฎา บุญเรืองนักวิชาการอิสระ จากรัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกาวิเคราะห์
หลายฝ่ายมองว่า หาก “พิธา” ฝ่าด่าน ส.ว.ได้เป็นนายกฯ คนที่ 30 ไปได้ อุณหภูมิการเมือง และความขัดแย้งแบ่งขั้ว ก็จะลดลง ส่วนฉากต่อไป ก็เป็นอุปสรรคปัญหา เฉพาะตัวของ “พิธา” เอง ทั้งเรื่องหุ้น เรื่องคุณสมบัติที่ถูกร้อง ก็ว่ากันไปตามกระบวนการ
ฉากทัศน์ที่สอง : 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลแตกหัก
เนื่องจากไม่สามารถตกลงกันในประเด็นการโหวต “ประธานสภาฯ” โดยเพื่อไทยไม่ยอมถอย ไม่ยอมโหวตให้ ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส. พิษณุโลก ตัวแทนจากพรรคก้าวไกลได้นั่งเก้าอี้ประธานสภาฯ
การหารือครั้งล่าสุด 2 ก.ค.ก็ไร้ข้อยุติ เมื่อก้าวไกลยืนกรานถึงความชอบธรรมพรรคอันดับ 1 ส่วนเพื่อไทยก็ยกมติ ส.ส.-กรรมการบริหารพรรค ที่คณะเจรจานำมาวางบนโต๊ะพูดคุย ฉะนั้นเงื่อนไขที่ต่างฝ่ายยืนยัน ถึงต้องนำกลับไปเคาะในพรรคอีกครั้ง และกำหนดให้คำตอบสุดท้ายภายในเที่ยงวันที่ 3 ก.ค.
ที่สุดแล้ว ก็เป็นที่คาดหมายว่า ตำแหน่งประธานสภาฯ อาจต้องจบลงด้วยการเสนอชื่อแข่งกันระหว่าง 2 พรรค แล้วฟรีโหวต
หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ ก็ย่อมเป็นจุดแตกหักแรก ก่อนจะนำไปสู่การโหวตเลือก “พิธา” ให้นั่งเก้าอี้นายกฯ ซึ่งแม้เพื่อไทย จะเทโหวตให้ก้าวไกล แต่เสียงก็ไม่เพียงพอที่จะทำให้ “พิธา” ไปถึงฝั่งฝัน
ในทางกลับกัน หากตกลงกันได้ว่า ก้าวไกลเป็นประธานสภา และเพื่อไทยได้รองประธานสภา 2 ตำแหน่ง หรือเพื่อไทยได้รัฐมนตรีเพิ่ม แต่ภาพลักษณ์ออกมาจากการต้องเรียกประชุมด่วนเพื่อเคลียร์ปัญหา ก็จะกลายเป็นภาพลักษณ์ของการต่อรองโดยเพื่อไทย เพื่อให้ได้ผลตอบแทนสูงสุด
การเรียกร้องตำแหน่งประธานสภาโดยอ้างว่าสมาชิกพรรคลงมติให้ทำอย่างนั้น เพื่อไทยก็จะถูกตำหนิจากประชาชน ว่าเล่นการเมืองแบบเดิม ขาดความชัดเจน ไม่เปิดเผย ตุกติก เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาเสมอ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดพลาดมาแล้วก่อนการเลือกตั้ง
ฉากทัศน์ที่สาม : "เพื่อไทย”141 เสียง เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล
หาก 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล เดินไปไม่ถึงความสำเร็จ ตัวแปรก็จะกลับมาอยู่ที่ “เพื่อไทย” ซึ่งมีเสียงอยู่ในมือ 141 เสียง จะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลแทนก้าวไกล
ท่ามกลางสถานการณ์รุมสกัดก้าวไกล และความสับสนอลหม่าน จึงทำให้“เพื่อไทย”ประเมินว่า โอกาสที่“พิธา”จะผ่านด่านส.ว.ไปถึงเก้าอี้นายกฯ จนถึงนาทีนี้ ก็เป็นไปได้ยาก ซึ่งเพื่อไทยอาจต้องเข้ามาเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลเอง
ฉะนั้น ในเงื่อนไขสำคัญ หากประนีประนอมกันได้เรื่องตำแหน่งประธานสภาฯ โอกาสที่ก้าวไกลจะยังอยู่ร่วมในขั้วรัฐบาลเดิมก็มีความเป็นไปได้ และพร้อมโหวตให้แคนดิเดตนายกฯ ของเพื่อไทย
แต่หากก้าวไกลตัดสินใจถอยออกไปเป็นรัฐบาล ก็เป็นไฟต์บังคับให้ เพื่อไทยต้องดีลข้ามขั้ว จัดตั้งรัฐบาลโดยเปิดดีลกับ “ขั้วรัฐบาลเดิม” ซึ่งมีอยู่ 188 เสียง + 250 ส.ว.
อย่างไรก็ตามในขั้วเดิม 188 เสียง เพื่อไทยอาจเลือกแค่บางพรรคให้มาร่วมรัฐบาล เพราะหากรวมมาทุกพรรค การต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีจะยากมากขึ้น
ขณะเดียวกันยังมีกระแสข่าวว่า เพื่อไทยพร้อมจับขั้วกับพรรคพลังประชารัฐ ท่ามกลางข่าวดีลลับบนเงื่อนไขกลับบ้านของ “ทักษิณ ชินวัตร” ซึ่งที่ผ่านมา มีการปล่อยข้อมูลบางฝ่ายออกมาเป็นระยะ ไปไกลถึงขั้นชู พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นนายกฯ
หากพิจารณากันตามสภาพความเป็นจริงแล้ว พรรคก้าวไกลกับเพื่อไทย มีสภาพเป็นคู่แข่งกันอย่างชัดเจน ตั้งแต่ต้นจนถึงเวลานี้ และจะดุเดือดขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคตข้างหน้า
ไม่ใช่เป็นพันธมิตร ฝ่ายประชาธิปไตย ที่่พยายามสร้างภาพให้เห็น อาการที่เก็บไม่มิดของเพื่อไทย ก็สะท้อนจากวงประชุม ส.ส.พรรค และหลุดจากปากของ หมอชลน่าน หัวหน้าพรรค ที่อึดอัดต่อการถูกคลุมถุงชน ด้วยฉันทามติ 25 ล้านเสียง ที่เลือก 2 พรรค และคาดหวังจะให้ร่วมขั้วประชาธิปไตย
การฝืนธรรมชาติการเมือง ที่พรรคอันดับหนึ่งกับอันดับสองคะแนนใกล้เคียงกัน จะมาจับมือกันตั้งรัฐบาล จึงไม่มีใครยอมลงให้กัน ในทุกการต่อรอง
ขณะที่“ก้าวไกล” ก็รู้สถานการณ์ดี และมีการพูดคุยกันภายในพรรค ถึงเงื่อนไขการถอยออกไปเป็นฝ่ายค้าน และการมองเกมยาว
มาถึงจังหวะนี้ น่าจับตาถึงการวางเกมก่อนถอย ที่ก้าวไกลอาจจะลากให้เพื่อไทย ไปให้สุดเกมโหวตนายกฯ จนมีภาพกลายเป็นพรรคร่วมฯ ที่ไม่จริงใจ เอาเปรียบ เล่นเกมบนดิน ใต้ดิน และจากนั้นภารกิจฝ่ายค้านของก้าวไกลจะเป็นฝ่ายตรวจสอบที่ประมาทไม่ได้ไม่ว่ารัฐบาลใด
ทั้งหมดคือ “3 ฉากทัศน์” ในเกมชิงอำนาจรัฐ ในจังหวะหัวเลี้ยวหัวต่อ การโหวตประธานสภาฯ การโหวตนายกฯ จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของการเมือง และอนาคตของประเทศไทย