สภา กทม.ผ่านวาระ 1 ร่างข้อบัญญัติพื้นที่สีเขียว ดันโดย ส.ก.ก้าวไกล
สภา กทม. ผ่านวาระ 1 ‘ร่างข้อบัญญัติพื้นที่สีเขียว’ เสนอโดย ส.ก.ก้าวไกล กำหนดทุกอาคารสร้าง-ซ่อม-ต่อเติมใหม่ต้องมีพื้นที่สีเขียว 50% ของพื้นที่ว่างนอกอาคาร มุ่งเป้าเพิ่มพื้นที่สีเขียว กทม. ตามมาตรฐานสหประชาชาติ
เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2566 ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง สภากรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้จัดประชุมสภา กทม.สมัยสามัญ ครั้งที่ 1 ประจำปี 2566 โดยมีการพิจารณาลงมติที่สำคัญ ต่อร่างข้อบัญญัติ กทม. เรื่องกำหนดลักษณะของอาคารและพื้นที่ว่างนอกอาคารเพื่อการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม (ร่างข้อบัญญัติพื้นที่สีเขียว) ซึ่งเสนอขึ้นโดยนายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ ส.ก.เขตยานนาวา พรรคก้าวไกล เป็นวาระที่ยกยอดมาจากการประชุมสภา กทม. สมัยก่อนหน้านี้
จากหลักการและเหตุผล ประกอบกับคำอภิปรายของสมาชิกผู้เสนอร่างที่ได้อภิปรายไปในการประชุมสมัยก่อนหน้านี้ ชี้ว่าในปัจจุบันกรุงเทพมหานครประสบปัญหาขาดแคลนพื้นที่สีเขียวเมื่อเทียบกับค่ามาตรฐานที่องค์การสหประชาชาติประกาศกำหนด แม้กรุงเทพมหานครและหน่วยงานของรัฐอื่นจะมีการตั้งงบประมาณเพื่อก่อสร้างปรับปรุงสวนทุกปี แต่กรุงเทพมหานครก็ยังมีสัดส่วนพื้นที่สีเขียวที่ไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร จึงได้มีการเสนอร่างข้อบัญญัติฉบับนี้ขึ้นมา
โดยร่างข้อบัญญัติพื้นที่สีเขียว จะกำหนดให้ผู้ที่จะสร้าง ซ่อมแซม หรือต่อเติมอาคารใหม่ จะต้องมีพื้นที่สีเขียวคิดเป็น 50% ของพื้นที่ว่างนอกอาคาร ตามที่กฎหมายควบคุมอาคารกำหนดให้พื้นที่บ้านอยู่อาศัย 100 ตารางเมตร ต้องมีพื้นที่ว่าง 30 ตารางเมตร ส่วนตึกแถว สำนักงาน และทาวน์เฮ้าส์ กำหนดให้ 10% ของพื้นที่ต้องเป็นพื้นที่ว่าง
"ดังนั้น ผลของข้อบัญญัตินี้ เช่น บ้านอยู่อาศัย 100 ตารางเมตร มีพื้นที่ว่าง 30 ตารางเมตร จะมีพื้นที่สีเขียว 15 ตารางเมตรนอกอาคาร ส่วนตึกแถว สำนักงาน และทาวน์เฮ้าส์ 100 ตารางเมตร จะมีพื้นที่ว่าง 10 ตารางเมตร ต้องมีพื้นที่สีเขียว 5 ตารางเมตรนอกอาคาร เป็นต้น" นายพุทธิพัชร์ กล่าว
โดยนายพุทธิพัชร์ อภิปรายว่า ในการประชุมสภา กทม. สมัยก่อนหน้านี้ที่ผ่านมา ส.ก. พรรคก้าวไกลได้มีการนำเสนอข้อบัญญัติรถเมล์ไฟฟ้ามาแล้ว โดยได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกสภา กทม. ทุกคนเป็นอย่างดี และได้เสนอร่างข้อบัญญัติพื้นที่สีเขียวต่อเนื่องเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ กทม. เพิ่มพื้นที่สีเขียวมาดักจับฝุ่นควัน ลดอุณหภูมิในกรุงเทพมหานคร และเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน
นายพุทธิพัชร์ กล่าวอีกว่า ทุกคนอยากให้เกิดพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพมหานครทั้งนั้น ในหลายๆ ประเทศ มีการกำหนดพื้นที่สีเขียวอยู่ที่ 9 ตารางเมตรต่อคน แต่โดยข้อเท็จจริงแล้ว กทม. สามารถทำได้แค่ 7 ตารางเมตรต่อคนเท่านั้น และแม้ที่ผ่านมาจะมีคำสั่ง กทม. ให้เพิ่มพื้นที่สีเขียว แต่ผลที่เกิดขึ้นคือสำนักงานเขตต่างๆ ทำได้เพียงการไปปลูกต้นไม้ที่เกาะกลางถนน หรือปลูกไม้เลื้อยจนทางเดินเท้าเสียหาย หรือนำถุงต้นกล้าไปวางไว้ใต้สะพานทางด่วน ซึ่งไม่สามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุด
นายพุทธิพัชร์ กล่าวด้วยว่า เหตุนี้ ตนและ ส.ก.พรรคก้าวไกล จึงขอร่วมกันเสนอร่างข้อบัญญัติพื้นที่สีเขียว ซึ่งจะเป็นการบังคับใช้ต่อเฉพาะผู้ที่สร้าง ซ่อมแซม ต่อเติมใหม่ ไม่รวมถึงตึกเก่าและอาคารที่มีอยู่แล้ว และไม่เป็นการขัดต่อกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน คือ พ.ร.บ.ผังเมืองรวม และ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร แต่อย่างใด เพราะเป็นการบังคับให้เพิ่มพื้นที่สีเขียวในพื้นที่ว่างที่แต่ละอาคารจะต้องมีอยู่แล้วตามที่กฎหมายระดับ พ.ร.บ. กำหนดไว้ โดยทั้งหมดนี้ จะมุ่งเน้นให้เกิดผลบังคับใช้กับอาคาร ที่อยู่อาศัย คอนโด และหมู่บ้านจัดสรร ที่จะมีการสร้างขึ้นมาใหม่ ซึ่งจะเป็นการกำหนดกฎหมายออกมาได้อย่างตรงประเด็น ไม่ต้องหาทางอ้อมเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวเหมือนที่ผ่านมาอีก
“กฎหมายเพิ่มพื้นที่สีเขียวฉบับนี้จะเป็นมาตรการเชิงรุก เพื่อปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของพี่น้องประชาชน และจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้สมาชิกและสภาต่างๆ ทั่วประเทศไทยในการเสนอข้อบัญญัติเพื่อดูแลสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสุขภาพของพี่น้องประชาชนทุกคน” นายพุทธิพัชร์ กล่าว
โดยการประชุมวันนี้ มี ส.ก.จากพรรคต่าง ๆ อภิปรายให้การสนับสนุนร่างข้อบัญญัติพื้นที่สีเขียว โดยบางส่วนระบุว่า ต้องมีการพิจารณาให้ดีว่าร่างข้อบัญญัติดังกล่าวจะไปขัดแย้งกับกฎหมายใหญ่หรือไม่ ในขณะที่ผู้อภิปรายบางรายมีความกังวลว่า อาจทำให้ผู้ใช้อาคารมีความลำบากมากขึ้น มีนิยามที่ยังไม่ครอบคลุม และหลายข้อยังต้องมีการตีความ อาจส่งผลในทางปฏิบัติได้
ในส่วนของนายพุทธิพัชร์ อภิปรายต่อที่ประชุมว่า ข้อบัญญัติฉบับนี้ไม่ขัดต่อกฎหมายระดับ พ.ร.บ. แต่อย่างใด และเป็นการยกมาจาก พ.ร.บ. ทั้งหมด อย่างไรก็ตามที่เสนอในวันนี้เป็นเพียงร่างเท่านั้น หลังตั้งคณะกรรมการพิจารณาจะมีการปรับปรุงรายละเอียดโดยหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อนำเข้าสู่สภา กทม. ในวาระต่อไป
หลังจากนั้น จึงได้มีการลงมติในวาระที่ 1 ซึ่งผลการลงมติมีผู้เห็นชอบทั้งสิ้น 31 คน งดออกเสียง 2 คน ให้มีการตั้งคณะกรรมการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างข้อบัญญัติฯ จำนวน 17 คน มาดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมร่างข้อบัญญัติดังกล่าวต่อไป