กสม.จี้ศูนย์บริการโลหิต หยุดปฏิเสธรับเลือดคนข้ามเพศ เสี่ยงละเมิดสิทธิ
กสม.จี้ศูนย์บริการโลหิต หยุดเหมาเข่ง ปฏิเสธรับบริจาคเลือดกลุ่ม 'คนข้ามเพศ' เสี่ยงตีตราละเมิดสิทธิมนุษยชน เร่งวิจัยระยะปลอดภัย หลังมีเพศสัมพันธ์ ลุยปรับเกณฑ์เอื้อการรับบริจาค
เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2566 นายพิทักษ์พล บุณยมาลิก เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยว่า กสม. ได้พิจารณาเรื่องร้องเรียนจากสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย กรณี ผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้หญิงข้ามเพศ (transgender) รายหนึ่ง ไปบริจาคโลหิตกับศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทยเมื่อเดือนก.ค. 2562 แต่ไม่สามารถบริจาคโลหิตได้ แม้ผู้เสียหายมีใบรับรองผลการตรวจหาเชื้อเอชไอวีเป็นลบ โดยให้เหตุผลว่าเนื่องจากกลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวี และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การที่ตรวจไม่เจอเชื้ออาจอยู่ในระยะเวลาที่เชื้อฯ มีปริมาณน้อยมาก ทำให้ตรวจไม่พบเชื้อ และแม้ปริมาณเชื้อในระดับน้อยจะไม่สามารถแพร่ผ่านทางเพศสัมพันธ์ แต่ก็มิได้หมายความว่าจะไม่แพร่ทางการรับโลหิต ดังนั้นจึงปฏิเสธการรับบริจาคตามระเบียบของสภากาชาดสากล อย่างไรก็ตาม ผู้เสียหายได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) ซึ่งมีคำวินิจฉัยเมื่อเดือนมี.ค. 2563 ว่า การปฏิเสธไม่รับบริจาคโลหิตดังกล่าวเข้าลักษณะการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ
กสม.เห็นว่าศูนย์บริการโลหิตฯ เป็นธนาคารโลหิตแห่งชาติ ที่ต้องมีความรับผิดชอบสูงสุดทั้งมาตรฐาน ความปลอดภัยของโลหิตที่จะนำไปรักษาผู้ป่วยต่อ รวมถึงสร้างสภาวะที่ประกันการบริการทางการแพทย์และการดูแลรักษาพยาบาลอย่างมีคุณภาพตามมาตรฐานสูงสุด จึงเป็นเหตุให้ ปฏิเสธไม่รับบริจาคโลหิตของผู้เสียหาย อย่างไรก็ดี การสอบถามประวัติด้านเพศสัมพันธ์สำหรับทุกคน ควรมุ่งถามถึงความเสี่ยงรายบุคคล เช่น การมีเพศสัมพันธ์ผ่านทางทวารหนัก การไม่ใช้ถุงยางอนามัย ในกรณีที่ไม่ใช่คู่ของตน เป็นต้น ไม่จำเป็นต้องเชื่อมโยงกับกลุ่มประชากรหลักที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี นอกจากนี้ ลักษณะคำถามถึงประวัติด้านเพศสัมพันธ์ของชายที่เคยมีเพศสัมพันธ์กับชาย อาจเป็นประเด็นที่อ่อนไหวต่อการสื่อสาร ที่ทำให้เข้าใจได้ว่า เป็นการตีตรากลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศ และเสี่ยงต่อการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม อาจจะนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน
กสม.เห็นว่า กลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศไม่ควรถูกปิดกั้นการบริจาคโลหิตเป็นการถาวรอันจากการประเมินความเสี่ยงด้วยฐานข้อมูลสถิติกลุ่มประชากร หรือพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ จึงมีมติให้มีข้อเสนอไปยังศูนย์บริการโลหิตให้ปรับปรุงใบสมัครผู้รับบริจาคโลหิตและคู่มือการคัดเลือกผู้บริจาคโลหิตโดยเน้นสอบถามลักษณะพฤติกรรมเพศสัมพันธ์ที่มีความเสี่ยงสำหรับทุกเพศ ทุกวัย หลีกเลี่ยงการเชื่อมโยงไปยังกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีตามฐานข้อมูลสถิติกลุ่มประชากร กลุ่มบุคคล หรือกลุ่มอาชีพ นอกจากนี้ให้เร่งรัดการศึกษาวิจัยเพื่อกำหนดช่วงเวลางด/เลื่อนการบริจาคโลหิต (deferral period) ที่ปลอดภัยสำหรับผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ และนำผลการศึกษาวิจัยมาใช้ประกอบการพิจารณาผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศให้สามารถบริจาคโลหิตได้ภายใต้เงื่อนไขการกำหนดระยะเวลารอคอย