กทม.เอาจริงด้านปราบโกง! คุย ป.ป.ช.-ป.ป.ท.-ACT แก้ปัญหาคอร์รัปชัน
กทม.จับมือ ป.ป.ช.-ป.ป.ท. เอาจริงเรื่องปราบโกง สร้างความโปร่งใส สอนเด็กเรื่องค่านิยมสุจริต พร้อมถก ACT คุย 5 ปัญหาแก้คอร์รัปชัน
เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2566 ที่ห้องนพรัตน์ ศาลาว่าการ กทม. (เสาชิงช้า) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 6/2566 ว่า การประชุมวันนี้เป็นการติดตามงานเรื่องต่าง ๆ ที่มีการสืบสวนอยู่ ซึ่งก็มีความคืบหน้า ทั้งในส่วนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ที่ดูเรื่องอาญา ส่วนเราก็ดูเรื่องวินัยต่าง ๆ รวมทั้งความร่วมมือระหว่าง กทม. กับ ป.ป.ช. ในการทำโครงการตามแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ
นายชัชชาติ กล่าวว่า ป.ป.ช. ได้เข้ามาหารือเพื่อดำเนินการ 2 เป้าหมาย
เป้าหมายแรก คือประชาชนมีวัฒนธรรมและพฤติกรรมที่ซื่อสัตย์สุจริต โดยจะมีการทำโครงการเรื่องให้ความรู้ความเข้าใจและเสริมสร้างวัฒนธรรมของความสุจริต เราก็อยากจะเน้นเรื่องว่าสุจริตมากกว่าพูดว่าไม่ทุจริต คือเราพูดในเชิงบวกว่าสุจริต โดยเริ่มตั้งแต่ที่โรงเรียนให้เด็กทำหลักสูตรต่าง ๆ เพื่อให้เน้นถึงความสุจริต คุณค่าของความซื่อสัตย์ต่างๆ อันที่ 2 คือนอกเหนือจากเยาวชนแล้วต้องให้ความรู้ประชาชนและข้าราชการโดยเฉพาะข้าราชการสำคัญเพราะเป็นส่วนสำคัญของการมีส่วนร่วมเพื่อทำให้สุจริตขึ้นได้
เป้าหมายที่สอง เรื่องคดีทุจริตประพฤติมิชอบลดลง ข้อนี้เชื่อว่าในช่วงแรกตัวเลขคดีทุจริตจะเพิ่มขึ้นก่อน เนื่องจากประชาชนไว้ใจเรามากขึ้นก็จะมีการแจ้งเพิ่มมากขึ้น จากนั้นจะเห็นตัวเลขที่ลดลงหลังจากที่เราแก้ไขปัญหา คิดว่าในระยะยาวจะเห็นตัวเลขที่ลดลงได้
พร้อมทั้งหารือความร่วมมือระหว่าง ป.ป.ท. กับ กทม. คือ ป.ป.ท.ใช้ พ.ร.บ.อำนวยความสะดวก ระบุว่า การให้บริการ เราต้องใช้เวลาเท่าไร นานเท่าไรในการดำเนินการ ป.ป.ท. ขอความร่วมมือว่า เขาจะไปดูการให้บริการที่เขต แล้วอาจจะมีคำถามประชาชนว่า เข้าใจกระบวนการหรือไม่ เราดำเนินการครบถ้วนตามพรบ. อำนวยความสะดวกหรือไม่ ซึ่งเราก็ยินดีที่จะร่วมมือกับ ป.ป.ท.อย่างใกล้ชิด
ส่วนเรื่องการทำงานร่วมกับองค์กรต่อต้านคอร์รับชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ในปีที่ 2 นี้ มี 5 เรื่องก็ได้คุยกับ ACT ไว้ คือ
1. ปรับปรุงแก้ไขระเบียบที่ล้าสมัย เพราะระเบียบที่ล้าสมัยทำให้เป็นช่องโหว่ในการไปสู่ช่องทางในการไปเรียกรับสินบน
2.นำผู้ค้า ผู้รับเหมา กทม. เข้ามาร่วมแสดงเจตนารมณ์ต่อต้านทุจริต มาแสดงเจตจำนงร่วมกันด้วยก็จะอุดช่องโหว่
3. การประเมินภาษีที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง ราคาภาษีป้ายต่างๆ โดยใช้วิธีเปิดเผยข้อมูลให้รู้ว่าประเมินภาษีเท่าไหร่อย่างไรมีข้อมูลที่โปร่งใส
4. ให้ประชาชนเป็นแนวร่วมในการชี้ช่องทางการต้านโกง เพราะว่าประชาชนผู้สัมผัสโดยตรงกับการโกง
5 .ก็คือประชาสัมพันธ์ช่องทางการแจ้งให้ประชาชนรับรู้ให้มากที่สุด
"ในปีนี้เราจะนำ ISO ต้านโกง มาจับด้วยเพื่อให้ได้มาตรฐาน ระดับ ISO เกี่ยวกับการต่อต้านทุจริต โดยปีนี้เราจะเริ่มสู่กระบวนการให้ความรู้ก่อน จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการในการประเมินเพื่อให้ได้ ISO ต่อต้านทุจริตต่อไป" นายชัชชาติ กล่าว
สำหรับสถิติการรับเรื่องร้องเรียนและการดำเนินงานของศูนย์ปฏิบัติการติดตามการต่อต้านการทุจริตของกรุงเทพมหานคร ประจำเดือน มิ.ย. 2566 จำนวนทั้งสิ้น 35 เรื่อง แจ้งผ่าน Traffy Fondue จำนวน 28 เรื่อง คิดเป็น 80% แจ้งผ่านช่องทาง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รองปลัดกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานอื่นๆ จำนวน 7 เรื่อง คิดเป็น 20% จำแนกตามสายงาน โยธา 6 เรื่อง เทศกิจ 7 เรื่อง รายได้ 1 เรื่อง และอื่นๆ 21 เรื่อง รวมจำนวนเรื่องร้องเรียนตั้งแต่เดือน ก.พ.-มิ.ย.66 รวม 161 เรื่อง