"ชวน"ชี้ หัวหน้าปชป.คนใหม่ ต้องไร้ด่างพร้อย ลั่น เลือกคนมีคดี พรรครับกรรม
"ชวน หลีกภัย"ชี้สเป็ก หัวหน้าปชป. มีเกียรติประวัติ สามารถระดมความเชื่อมั่นสมาชิกพรรคได้ ย้ำหากเลือกคนที่มีคดีติดตัว พรรคก็รับกรรมไป ลั่นการมีผู้นำใหม่ ไม่ได้แปลว่าต้องร่วมรัฐบาลเสมอไป
8 กรกฎาคม 2566 "นายชวน หลีกภัย" ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการโหวตเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ขณะนี้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงตัวแคนดิเดตหัวหน้าพรรค ว่า เรื่องนี้ตนไม่อยากจะพูดอะไร เพราะมีการแข่งขันกันอยู่ หากพูดไปก่อนก็จะไม่เหมาะสม อยากให้ดูกันวันที่มีการสมัคร เพราะยังไม่รู้ว่าใครมาสมัครบ้าง
"แต่สิ่งที่พอจะให้ความเห็นได้ในวันนี้ก็คือ มีคนห่วงใยพรรคมากกว่าคนที่จะมาสมัครเป็นหัวหน้าพรรค ยังมีคนที่รักพรรคจริงๆ เพราะยิ่งเห็นพรรคแพ้เลือกตั้งอย่างยับเยินขนาดนี้เขาก็ยิ่งห่วงใย และคิดว่าควรใช้เหตุการณ์นี้มาฟื้นพรรค โดยการคัดเลือกคนที่มีความเหมาะสม เป็นที่เชื่อถือได้ มาเป็นผู้นำ ในการที่จะพัฒนาพรรคต่อไป ในโอกาสอนาคต ทั้งหมดนี้คือความหวังของคนที่ห่วงใยพรรค" นายชวน กล่าว
ทั้งนี้ ส่วนตัวไม่ขอวิจารณ์คนที่แสดงความจำนงขอสมัครเป็นหัวหน้าพรรค เพราะยังไม่รู้ว่ามีใครบ้าง เท่าที่ทราบมีประกาศตัวชัดเจน คือ "นายอลงกรณ์ พลบุตร" ซึ่งก็ไม่ใช่ครั้งแรก และไม่เรื่องแปลก แต่เชื่อว่ายังมีผู้สมัครอีกเพียงแต่ยังไม่ประกาศตัว และเชื่อว่าสมาชิกของพรรคมีเหตุมีผลในการช่วยการประคับประคองให้พรรคเดินไปข้างหน้าต่อไป
อย่างไรก็ตาม เพราะตนเองนั้นถือเป็นคนรุ่นปลายแล้ว อาจจะไม่ได้อยู่ยาวได้เห็นอนาคตของพรรคไกลนัก แต่ก็อยู่มานานจนรู้สึกว่า พรรคนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตไม่ว่าจะขึ้นจะลง แต่คนอย่างพวกตน ก็มั่นคงไม่ได้วอกแวกไปไหน แม้จะเคยถูกชวนให้ไปตั้งพรรคใหม่ เมื่อปี 2519 แต่ตนไม่มีความคิดแบบนั้น และก็อยู่รอดยืนยาวมาจนนถึงตอนนี้ เป็นเวลา 55-56 ปี แล้ว ไม่ว่าพรรคจะขึ้นจะลง ก็จะไม่เปลี่ยนแปลงรออยู่เป็นเพื่อนกับพรรค มีตำแหน่งหรือไม่อย่างไรก็ยังอยู่กับพรรค
ส่วนหัวหน้าพรรคคนใหม่จำเป็นต้องเป็นคนรุ่นใหม่เข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงหรือไม่นั้น ส่วนตัวขอย้ำว่า คนที่จะมาเป็นผู้นำพรรคต้องมีความคิดก้าวไกล มีความคิดก้าวหน้า ในทางปฏิบัติ และต้องรู้ว่ามีอดีต มีปัจจุบัน และมีอนาคต เพราะประเทศไม่ได้ตั้งมาเมื่อปีที่แล้ว
"อดีตดีๆ เราไปทิ้งมันก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย ความเชื่อมั่นในความสุจริต ความมั่นคงก็ควรจะดำรงอยู่ ส่วนการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ หรือมีความคิดใหม่ๆ เชื่อว่าทุกคนก็ทำอยู่แล้ว คนที่จะมาเป็นผู้นำพรรคเขาจะต้องรู้เรื่องเหล่านี้ เพียงแต่ว่าใครจะทำได้หรือไม่ ก็ต้องดูที่องค์ประกอบด้วยว่า คนๆนั้น มีพื้นฐานมีความน่าเชื่อถือเพียงใด สามารถระดมความเชื่อมั่นในหมู่สมาชิกได้ มากน้อยเพียงใด มันก็อยู่ที่เกียรติประวัติของคนคนนั้นเช่นเดียวกัน ว่ามีประวัติเป็นคนเชื่อถือได้หรือไม่ ทำงานกับคนอื่นได้เอาเปรียบคนอื่นหรือไม่ เป็นคนสุจริตหรือไม่ บริหารงานที่ผ่านมาเป็นอย่างไร หรือสมมุติ ยังไม่เคยเป็นอะไรมา ก็อาจจะต้องดูประวัติย้อนหลังกลับไป" นายชวน ระบุ
นายชวน กล่าวยืนยันว่า ที่ผ่านมาตนมองทุกคนมีประโยชน์ เพราะการที่ได้อยู่มาจนเห็นทุกอย่างเกิดความเปลี่ยนแปลงในพรรค ทำให้ได้เห็นคุณค่าของแต่ละคน ที่มีความหมาย มีความสำคัญด้วยกันทุกคน ในการมีส่วนร่วมพัฒนาพรรค ไม่มีใครที่ไม่มีความหมายเลย หากเปรียบเทียบ สมัยที่ตนเป็นหัวหน้าพรรค เคยแข่งขันกับ "นายมารุต บุนนาค" เมื่อตนชนะ ก็ชวนนายมารุต มาเป็นรองหัวหน้าพรรค และเชิญคู่แข่งทั้งหลายมาร่วมทำงานกัน ที่ผ่านมาไม่เคยมีปัญหา
"แต่มันเพิ่งมามีปัญหาสมัยนายจุรินทร์ ที่คู่แข่งขันเมื่อแพ้ก็ทยอยออกไปจากพรรค ดังนั้น เราจะเห็นว่าปรากฏการณ์แต่ละช่วงมันจะแตกต่างกันไป ซึ่งผมก็ไม่อยากเชื่อว่าปัญหาในสมัยของนายจุรินทร์จะเกิดขึ้นได้ แต่ผมก็เป็นคนหนึ่งที่สนับสนุนนายจุรินทร์ และพยายามปกป้องนายจุรินทร์ แม้กระทั้งในช่วงท้ายๆ ที่มีคนคิดจะปลดนายจุรินทร์ก่อนเลือกตั้ง ก็ต้องออกมาขอร้องว่าอย่าทำ" อดีตหัวหน้าพรรค ระบุ
ส่วนคนที่ออกจากพรรคไปนั้น ยอมรับว่าเป็นคนดีๆ หลายคน และตนก็ชื่นชม อย่าง "นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม" ถ้าไม่มี นพ.วรงค์ ก็คงไม่สามารถจับทุจริตจำนำข้าว ที่สร้างความเสียหายได้มากขนาดนี้ ตนจึงยกย่องเสมอ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม เพราะความดีที่ทำก็ต้องระลึกถึง และคนดีๆหลายคนที่ออกจากพรรคไปก็เป็นเรื่องที่เสียดาย
ขณะเดียวกัน หลายคนเป็นกำลังสำคัญต่อสู้จนบางคนต้องคำพิพากษาคำคุก อย่าง "นายถาวร เสนเนียม" "นายสุเทพ เทือกสุบรรณ" นพ.วรงค์ คนเหล่านี้ เคยทำงานหนักทำให้พรรคได้ประโยชน์ และทำให้บ้านเมืองดีขึ้น จึงหวังว่าหัวหน้าพรรคคนใหม่ จะได้คนที่มีศักยภาพ มาทำงานเพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง ไม่ใช่เพียงเอาคนเข้ามาเพื่อหวังจะไปร่วมรัฐบาล หรือหวังแต่จะทำอย่างไร จะให้ได้เป็นรัฐบาล ส่วนตัวไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น เพราะประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่สามารถเป็นรัฐบาลก็ได้ เป็นฝ่ายค้านก็ได้ เมื่อถึงเวลาไม่ใช่คิดเพียงแค่ว่าต้องเป็นรัฐบาลทุกสมัย เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นความเป็นสถาบันของพรรคก็จะหมดไป
ผู้สื่อข่าวถามว่า ภาพลักษณ์ของผู้ที่จะมาเป็นหัวหน้าพรรค หากเป็นคนที่ถูกกล่าวหาหรือมีคดีจะต้องทำอย่างไร นายชวน กล่าวว่า หากเป็นเช่นนั้น พรรคก็ต้องรับกรรมไป เพราะพรรคมีชีวิตด้วยคนที่เป็นสมาชิก ถ้าสมาชิกของพรรคซึ่งเป็นเจ้าของพรรค เลือกคนประเภทนั้นเข้ามา คนนอกพรรคก็ไม่สามารถทำอะไรได้ ดังนั้น วันเลือกหัวหน้าพรรคก็คงจะได้มีการพูดถึงเรื่องนี้ด้วย
ส่วนที่มีการพูดว่าการเลือกหัวหน้าพรรคจะมีผลต่อการร่วมรัฐบาลนั้น นายชวน กล่าวว่า ไม่แน่ใจเพราะไม่มีใครยอมรับว่ามีการไปเจรจาร่วมรัฐบาล ในขณะที่ข่าวลือบอกว่ามี แต่ในระยะยาวมันปิดไม่มิด มันอาจจะโผล่มาได้ ดังนั้น ใครไปทำอะไรไว้ก็ควรระวัง แม้กระทั่งคนที่เป็นรัฐมนตรี ถ้าทำถูกทำผิดวันหนึ่งมันก็ปรากฏ เพราะฉะนั้น ทุกคนต้องระมัดระวังยึดความถูกต้องชอบธรรมเอาไว้