‘ประยุทธ์’ กลับบ้าน ‘รทสช.’ จะเดินไปสู่หนไหน
การขยับของคนในพรรค รทสช. จะเริ่มเห็นร่องรอยอีกครั้ง หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขนของออกจากทำเนียบรัฐบาล และต้องจับตาดูว่า รทสช.ในฐานะฝ่ายค้านนั้น จะเหลือ ส.ส.อยู่มากน้อยกี่คน
เหลืออีกไม่กี่วัน ก็จะถึงวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี สุดสัปดาห์ที่แล้ว มีข่าวพรรครวมไทยสร้างชาติ จะเสนอชื่อ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี คนที่ 2 ลงแข่งกับ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์
ข่าวชิ้นนี้ มีนักวิเคราะห์การเมืองรายหนึ่งไปปูดเรื่องนี้ทางทีวีช่องหนึ่ง และมีการทำเป็นคอนเทนท์เผยแพร่ทาง tiktok คราวนี้ก็กลายข่าวลือประยุทธ์ไม่ถอยดันพีระพันธุ์ราวไฟไหม้ลามทุ่ง
จริงๆแล้ว พีระพันธุ์ ก็แจ้งกับผู้สื่อข่าวว่า เรื่องนี้ไม่เป็นความจริง ไม่ได้คิดจะลงชิงเก้าอี้นายกฯ เพียงแต่สละสิทธิ์ตำแหน่ง ส.ส.เท่านั้น
บังเอิญว่า พรรค รทสช.ส่ง วิทยา แก้วภราดัย สส.บัญชีราชชื่อ ลงแข่งรองประธานสภา อันดับ 2 ได้คะแนน 105 เสียง พอวันประชุม ครม. ธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์นักข่าวทำนองว่า พรรค รทสช.อาจพิจารณา ส่งคนลงแข่งนายกฯ
จากนั้น ข่าวปล่อยเรื่องพีระพันธุ์ ก็กลับมาอยู่ในความสนใจของคอการเมืองอีกครั้ง ดังนั้น เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรค รทสช. จึงโพสต์เฟซบุ๊กชี้แจงถึงจุดยืนทางการเมืองของพรรคว่าจะไม่เสนอชื่อพีระพันธุ์ ชิงเก้าอี้นายกฯกับพิธา และไม่เคยมีแนวคิดและสนับสนุนตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย
จากกรณีของพีระพันธุ์ ทำให้เห็นร่องรอยของความต่างในแนวทางการทำงานการเมืองของนักการเมืองหลากหลายสายพันธุ์ ที่มารวมตัวกันสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี
ความหลากหลายของคนการเมืองในพรรค รทสช. พิจารณาได้จากที่มาของ ส.ส.ระบบเขต 23 คน และบัญชีรายชื่อ 13 คน
เริ่มจาก ส.ส.บัญชีรายชื่อ ประกอบด้วยพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ,สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ,เอกนัฏพร้อมพันธุ์ , มล.ชโยทิต กฤดากร, สุชาติ ชมกลิ่น ,พิชชารัตน์ เลาหพงศ์ชนะ ,วิทยา แก้วภราดัย,ชัชวาลล์ คงอุดม ,จุติ ไกรฤกษ์ ,ธนกร วังบุญคงชนะ,เกรียงยศ สุดลาภา ,ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุลชัยรุ่งเรือง และชัยวัฒน์ เป้าเปี่ยมทรัพย์
เมื่อพีระพันธุ์ สละสิทธิ์การเป็น ส.ส. จึงมีการเลื่อนลำดับที่ 14 คือ อนุชา บูรพชัยศรี ขึ้นมาเป็นส.ส.
ธนกร วังบุญคงชนะ เติบโตมาจากค่ายสามมิตร ของ สมศักดิ์ เทพสุทิน และในวันที่ลูกพี่เก่าย้ายไปพรรคเพื่อไทย ก็ยังเหลือเสี่ยแฮงก์-อนุชา นาคาศัย ส.ส.ชัยนาท เป็นที่ปรึกษาในการทำงานการเมือง
มินับเสี่ยจ๊ะ ธนพร ศรียางกูร ที่เคยร่วมหัวจมท้ายกับเสี่ยแฮงก์ มาตั้งแต่กลุ่มวังน้ำยม ในวันนี้เสี่ยจ๊ะก็ยังทำงานร่วมกับธนกร และอนุชา ภายใต้รัฐบาลประยุทธ์
พื้นฐานความคิดการเมืองและเครือข่ายของ ธนกร วังบุญคงชนะ กับ เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ย่อมแตกต่างกัน เหมือนคนละดีเอ็นเอ
มินับซุ้มเสี่ยเฮ้ง ที่ได้ ส.ส.เขต มา 3 คน ประกอบด้วย จิรวุฒิ สิงห์โตทอง ส.ส.ชลบุรี ,ธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ส.ส.เพชรบุรี และจ่าอากาศเอกอภิชาติ แก้วโกศล ส.ส.เพชรบุรี และ กุลวลี นพอมรบดี ส.ส.ราชบุรี พร้อมกับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 2 คนคือ สุชาติ ชมกลิ่น และชัยวัฒน์ เป้าเปี่ยมทรัพย์
รวมถึง ส.ส.ที่ไม่ได้สังกัดซุ้มไหน อย่าง อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี และ พท.สินธพแก้วพิจิตร ส.ส.นครปฐม
หลังจากนี้ ให้จับตาเสี่ยเฮ้ง และเสี่ยแฮงก์ ว่าจะนำพาเพื่อน ส.ส.โซนภาคกลาง ไปทิศทางไหนหากเกิดสูตรรัฐบาลดีลข้ามขั้ว ไม่มีสีส้ม
สำหรับ หิมาลัย ผิวพรรณ แม่ทัพเหนือ ผิดหวังต่อผลเลือกตั้งพอควร เพราะมีลูกน้องสอบได้คนเดียวคือ สัญญา นิลสุพรรณ ส.ส.นครสวรรค์
เช่นเดียวกับ จุติ ไกรฤกษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่ได้คนสนิท พงษ์มนู ทองหนัก ส.ส.พิษณุ โลก เข้าสภาฯ มาคนเดียว
ส่วนภาคใต้เป็นพื้นที่ความหวังของพรรครวมไทยสร้างชาติ เพราะกระแสประยุทธ์มาแรง แต่ผลเลือกตั้งครั้งนี้ ก็ได้ ส.ส.ใต้ เพียง 14 ที่นั่ง
ซุ้มลูกหมี ชุมพล จุลใส ชนะยกจังหวัดชุมพร ได้แก่ วิชัย สุดสวาทดิ์ ส.ส.ชุมพร, สันต์ แซ่ตั้งส.ส.ชุมพร และสุพล จุลใส ส.ส.ชุมพร
ซุ้มกำนันศักดิ์ พงษ์ศักดิ์ จ่าแก้ว นายก อบจ.สุราษฏร์ธานี คือ พันธ์ศักดิ์ บุญแทน ส.ส.สุราษฏร์, ปรเมษฐ์ จินา ส.ส.สุราษฏร์ และธานินท์ นวลวัฒน์ ส.ส.สุราษฏร์
ซุ้มชุมพล กาญจนะ ได้แก่ กานสินี โอภาสรังสรรค์ (กาญจนะ) ส.ส.สุราษฏร์, พิพิธ รัตนรักษ์ส.ส.สุราษฏร์ และวชิราภรณ์ กาญจนะ ส.ส.สุราษฏร์
ซุ้มวิสุทธิ์ ธรรมเพชร นายก อบจ.พัทลุง ได้แก่ นิติศักดิ์ ธรรมเพชร ส.ส.พัทลุง และวัชระ ยาวอหะซัน ส.ส.นราธิวาส
นอกจากนี้ ก็มี ส.ส.ที่ไม่ได้สังกัดซุ้มไหน ศาสตรา ศรีปาน ส.ส.สงขลา, พิมพ์ภัทรา วิชัยกุลส.ส.นครศรีธรรมราช และถนอมพงษ์ หลีกภัย ส.ส.ตรัง
การขยับของคนในพรรค รทสช. จะเริ่มเห็นร่องรอยอีกครั้ง หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาขนของออกจากทำเนียบรัฐบาล และต้องจับตาดูว่า รทสช.ในฐานะฝ่ายค้านนั้น จะเหลือ ส.ส.อยู่มากน้อยกี่คน