‘ภูมิใจไทย’ ตัวแปร ก๊อก 2 ปิดสวิตช์รัฐบาลเสียงข้างน้อย

‘ภูมิใจไทย’ ตัวแปร ก๊อก 2  ปิดสวิตช์รัฐบาลเสียงข้างน้อย

สัญญาณ "ภูมิใจไทย" กำลังทอดไมตรีไปถึง "ขั้วการเมือง" โดยเฉพาะช็อตโหวตนายกฯ ที่ต้องจับตาหลังวันที่13ก.ค. ที่สุดแล้ว "พิธา" จะไปถึงฝั่งฝันเป็นนายกฯคนที่30หรือไม่ หรือ พรรคไหนคุมเกม?

ฉากทัศน์การเมือง หลังเสร็จศึกชิงบัลลังก์ “ประธานสภา” จบลงด้วยสูตรคนกลาง นาทีนี้ ต้องจับตาอย่างยิ่งยวดไปที่การโหวตเลือกนายกฯ ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 13 ก.ค. นี้

อย่างที่รู้กันว่า เสียงที่ “8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล” มีอยู่ในมือตอนนี้มีอยู่แค่ 312 เสียง ยังขาดอีก 64 เสียง จึงจะเกินกึ่งหนึ่งของ 2 สภาหรือ 376 เสียง ในการดัน “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ขึ้นแท่นนายกรัฐมนตรี คนที่30

ท่าทีพรรคก้าวไกล โดยเฉพาะ “ชัยธวัช ตุลาธน” เลขาธิการพรรคก้าวไกล ล่าสุดยังหวังว่า ถึงวันจริงจะมีเสียงส.ว.ทั้งในส่วนที่ได้มีการพูดคุยทำความเข้าใจกันไปก่อนหน้านี้ หรือ กลุ่ม ส.ว.พลังเงียบ ให้การสนับสนุนพิธาเป็นนายกฯ

ขณะที่อีกส่วน “ก้าวไกล” ยังหวังไปที่ 188 เสียงในขั้วอำนาจเดิม เทียบเคียงจากผลการลงมติเลือก“หมออ๋อง” ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พรรคก้าวไกล เป็นรองประธานสภา ที่พบว่า มี 3 เสียงจาก “ขั้ว 188” โหวตหนุน ขณะที่ 77 เสียงที่ “งดออกเสียง”

‘ภูมิใจไทย’ ตัวแปร ก๊อก 2  ปิดสวิตช์รัฐบาลเสียงข้างน้อย

จากสมการดังกล่าวทำให้มีการจับตาไปที่ “พรรคภูมิใจไทย” ที่อาจเป็นตัวแปรสำคัญ หลัง “อนุทิน ชาญวีรกูล” ออกมายอมรับภายหลังเสร็จสิ้นการโหวตวันดังกล่าวว่า “ปล่อยลูกพรรคฟรีโหวต”

ท่าทีดังกล่าวของ “อนุทิน” ถูกมองว่า ไม่ต่างอะไรกับการส่งสัญญาณพลิกขั้ว ด้วยการ “ทอดไมตรี” ไปยังขั้ว 8 พรรค

‘ภูมิใจไทย’ ตัวแปร ก๊อก 2  ปิดสวิตช์รัฐบาลเสียงข้างน้อย

หากยังจำกันได้ในวันประกาศชัยชนะเลือกตั้งที่พรรคก้าวไกล เมื่อวันที่ 14 พ.ค. วันนั้นนักข่าวถาม “พิธา” ถึงสูตรจับขั้วหลังจากที่ เจ้าตัวยืนยันจุดยืน “มีลุงไม่มีเรา-มีเราไม่มีลุง” ว่า ถ้าเป็นพรรคภูมิใจไทยจะได้หรือไม่?

พิธา ตอบว่า ต้องมาพูดคุยกันอีกครั้ง ดูน้ำหนักทางการเมือง อย่างที่บอกตอนนี้ ไม่มีความจำเป็นที่ต้องนำพรรคอื่นมาร่วมด้วย

การตอบคำถามของ “พิธา” ในวันดังกล่าว แม้จะบอกว่า “ยังไม่มีความจำเป็น” แต่ก็ไม่ถึงขั้น“ปิดประตูตาย” ที่จะจับมือกับพรรคภูมิใจไทยเสียทีเดียว

อีกทั้งหากก้าวไกลดึง 71 เสียงจากภูมิใจไทยมาได้ นั่นหมายความว่า “8+1” พรรคจะมีเสียงอยู่ที่ 383 เสียง เกินกึ่งหนึ่งโดยไม่จำเป็นต้องลุ้นเสียงจาก ส.ว.อีกต่อไป

 

‘ภูมิใจไทย’ ตัวแปร ก๊อก 2  ปิดสวิตช์รัฐบาลเสียงข้างน้อย

ทว่าต้องไม่ลืม ทั้ง “ก้าวไกล” และ “ภูมิใจไทย” จนถึงเวลานี้ ยังถือว่าเป็นคู่กรณีกัน โดยเฉพาะการอภิปรายไม่ไว้วางใจ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” เลขาธิการพรรค กรณีถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น นำมาสู่การยื่นตรวจสอบ กระทั่งศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่อยู่จนถึง ณ เวลานี้

กรณีดังกล่าวแม้จะมองได้ว่า เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล แต่หากมีการจับมือร่วมรัฐบาลระหว่าง “พรรคก้าวไกล” และ “พรรคภูมิใจไทย” เกิดขึ้น ย่อมหนีไม่พ้นเสียงครหาในเรื่องการต่อรองเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

ขณะเดียวกัน ต้องไม่ลืมอีกว่า“ภูมิใจไทย” ก็ออกแถลงการณ์อย่างชัดเจนเมื่อวันที่ 17 พ.ค. ระบุว่า “ พรรคภูมิใจไทยไม่สนับสนุนแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่มาจากพรรคการเมือง ที่มีนโยบายแก้ไข หรือยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ”

ฉะนั้น หากที่สุดแล้วภูมิใจไทยเลือกที่จะไปจับมือพรรคก้าวไกลหรือโหวตให้พิธา ก็จะกลายเป็นว่าภูมิใจไทยกลืนน้ำลายตัวเอง

จับสัญญาณยามนี้ ดูเหมือนว่า “ภูมิใจไทย” จะมีการวางบท อยู่ในแทบทุกฉากทัศน์ ไม่ว่าจะเป็น

ฉากทัศน์แรก ก้าวไกล เป็นแกนนำตั้งรัฐบาล มี “พิธา” เป็นนายกฯ โดยฉากทัศน์นี้ รัฐบาลก้าวไกล ซึ่งมีเสียง 8 พรรคเดิม 312 เสียง จะมี 2 ทางให้เลือก คือ หาเสียง ส.ว.อีก 64 เสียง หรือดึงเสียงจากขั้ว 188 โดยเฉพาะ ภูมิใจไทย หรือประชาธิปัตย์ ให้ครบ 376 เสียง

ฉากทัศน์ที่สอง ก้าวไกล รวมเสียงสนับสนุนพิธา “ไม่สำเร็จ” หลีกทางให้ “พรรคเพื่อไทย” ชิงนายกฯ โดยใช้เสียงขั้ว 8 พรรคเดิม 312 เสียง บวกเสียง ส.ว.ซึ่งมีสายสัมพันธ์อันดีกับเพื่อไทย หรืออาจมีขั้ว 188 เสียง อาทิ ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ สอดแทรกอยู่ในสมการ ภายใต้เงื่อนไข “มีเราไม่มีลุง” คือ ไม่มีพลังประชารัฐและรวมไทยสร้างชาติ

ฉากทัศน์ที่สาม สูตรพลิกขั้วเพื่อไทย 141 เสียง บวกขั้ว 8 พรรคเดิม รวมกับขั้ว 188 เสียง คอนเซ็ป “มีลุงไม่มีเรา” ผลักก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน

‘ภูมิใจไทย’ ตัวแปร ก๊อก 2  ปิดสวิตช์รัฐบาลเสียงข้างน้อย

โดยเฉพาะ 2 ฉากทัศน์หลัง ที่เห็นสัญญาณมาจากพรรคภูมิใจไทย โดยเฉพาะ “อนุทิน” ที่เคยให้สัมภาษณ์ไปเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. วันนั้น นักข่าวถามถึงกรณี “พิธา” ไม่ได้รับการสนับสนุนให้เป็นนายกฯ และพรรคเพื่อไทยจะจัดตั้งรัฐบาลแทน พรรคภูมิใจไทยมองเรื่องนี้อย่างไร?

“อนุทิน” ตอบว่า รอให้เกิดขึ้นก่อน พรรคภูมิใจไทย ก็มีแนวทางอยู่ในใจ

ฉะนั้นจึงต้องจับตาการโหวตนายกฯ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้า หากเสียงสนับสนุน “พิธา” มีเพียงพอ การเมืองฉากทัศน์ถัดไปก็จะเข้าสู่โหมดจัดตั้งรัฐบาล

แต่หากเสียงโหวต “พิธา” ไม่ผ่าน ก็จะต้องนัดโหวตใหม่ในอีก 7 วันข้างหน้า ดูหน้างานตอนนนี้แล้ว ถึงที่สุด “8 พรรค” คงเลือกที่จะดันโหวต “พิธา” ไม่เกิน 3 รอบ หากไม่ผ่านจริงๆ ก็คงต้องมาพูดคุยกันว่า จะเอาอย่างไรต่อไป

โดยเฉพาะสูตรที่ “พรรคเพื่อไทย” ชิงเกมนำจัดตั้งรัฐบาล ที่จะเป็นจังหวะของภูมิใจไทยในการทอดไมตรีร่วมจัดตั้งรัฐบาล สอดรับกับกระแสการเปิดดีลรัก-ดีลลับ ของบรรดาบิ๊กเนมการเมือง ที่ปรากฎอยู่เป็นระยะในช่วงที่ผ่านมา