4 แคนดิเดตนายกฯ ลุ้นเกมพลิก “พิธา”รุกด่าน 250 ส.ว. “เศรษฐา-แพทองธาร” รอแผนสอง
4 แคนดิเดตนายกฯ ลุ้นเกมพลิก “พิธา”รุกด่าน 250 ส.ว. “เศรษฐา-แพทองธาร” รอแผนสอง รัฐบาลเสียงข้างน้อย โอกาส “ประวิตร”
13 ก.ค.2566 นัดหมายโหวตเลือกผู้ดำรงตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” คนที่ 30 ของประเทศไทย ภายหลังผ่านการเลือกตั้ง 14 พ.ค. มา 2 เดือนเต็ม
กระบวนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ตามบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ 60 มาตรา 272 บัญญัติไว้ว่า การพิจารณาให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรี ให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา (ส.ส. -ส.ว.) และต้องมีคะแนนเสียง มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้ง 2 สภา ทั้งหมด 750 เสียง ต้องได้ 376 เสียง โดย ส.ส. 500 คนที่มาจาก ส.ส. เขต 400 เสียง และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 100 เสียง และ ส.ว. 250 เสียง มาจากการแต่งตั้งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เมื่อปี 2562
ขั้นตอนการเลือกนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 มีดังนี้ 1. ส.ส.เสนอชื่อบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี จากบัญชีรายชื่อแคนดิเดตของพรรคที่มี ส.ส. ตั้งแต่ 25 คนขึ้นไป กรณีนี้หากดูจากผลการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ผ่านมา แคนดิเดตนายกฯ ในบัญชีแต่ละพรรค มี 6 พรรคการเมือง มีสิทธิเสนอชื่อนายกฯ รวม 9 คน คือ พรรคก้าวไกล 1 คน พรรคเพื่อไทย 3 คน พรรคภูมิใจไทย 1 คน พรรคพลังประชารัฐ 1 คน พรรครวมไทยสร้างชาติ 2 คน และพรรคประชาธิปัตย์ 1 คน
การเสนอชื่อต้องมี ส.ส.รับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวน ส.ส. ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ โดยเสนอชื่อให้เลือกได้มากกว่า 1 คน
ทั้งนี้การเลือกนายกรัฐมนตรีให้กระทำเป็นการเปิดเผย โดยเลขาธิการจะเรียกชื่อสมาชิก ส.ส.และ ส.ว.ตามลำดับอักษรเป็นรายบุคคล และให้ออกเสียงโดยการกล่าวชื่อบุคคลที่เห็นชอบ ซึ่งหากลงคะแนนแล้วไม่มีใครได้คะแนนเกินกึ่งหนึ่งจะโหวตต่อจนกว่าจะมีผู้ได้คะแนนมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่
“กรุงเทพธุรกิจ” หยิบยก 4 รายชื่อแคนดิเดต ประกอบด้วย “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล “เศรษฐา ทวีสิน” แกนนำพรรคเพื่อไทย “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ “แพทองธาร ชินวัตร” หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ซึ่งถูกจับตาถึงโอกาสนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทย ในสมการเมืองขณะนี้ยังมีโอกาสพลิกขั้วจากกลเกมในรัฐสภา
“พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” อายุ 42 ปี (เกิด 5 ก.ย.2523) จบปริญญาตรี คณะบริหารธุรกิจ การเงิน การธนาคาร ภาคภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโท คณะการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐ และปริญญาโท คณะบริหารธุรกิจ (M.I.T) สหรัฐ
เข้าสู่วงการการเมืองจากการเป็นสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 4 เป็น ส.ส.ในครั้งแรกที่ลงสมัครเลือกตั้งปี 2562 โดยแจ้งเกิดจากการอภิปรายนโยบายเกษตรและที่ดินของรัฐบาล โดยชี้ชัดให้เห็นการแก้ปัญหากระดุม 5 เม็ด ที่ต้องติดให้เกษตรกรไทย จนได้รับคำชมในสภา และทำให้โลกออนไลน์สนใจ และต่อมาได้นั่งประธานคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร
กระทั่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ ทำให้ย้ายมาอยู่พรรคก้าวไกล และได้รับความไว้วางใจจาก ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ , ปิยบุตร แสงกนกกุล ผู้ร่วมก่อตั้งอดีตพรรคอนาคตใหม่ ให้เป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล
ประสบการณ์ทำงาน “พิธา” เคยนั่งเป็นกรรมการและผู้บริหารบริษัทน้ำมันรำข้าว ธุรกิจของครอบครัว ตั้งแต่ปี 2549-2560 ปัจจุบันบริษัทดังกล่าวมีผู้ถือหุ้นจากสิงคโปร์สัดส่วน 49% และเปลี่ยนชื่อเป็น “ออยล์ฟอร์ไลฟ์” เมื่อวันที่ 27 ต.ค.2563 แต่บริษัทไม่ได้ส่งงบการเงินมา 3 ปีแล้ว โดยงบการเงินปีล่าสุด คือปี 2562 มีรายได้ 106.06 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 143.4 ล้านบาท เป็นการขาดทุนต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559
ชื่อของ “พิธา” จะถูกเสนอโหวตในฐานะผู้ชนะการเลือกตั้ง โดยพรรคก้าวไกลได้เสียงจากประชาชน 151 เสียง รวมกับอีก 7 พรรคการเมืองเป็น 312 เสียง ทว่า “พิธา” ยังมีคะแนนเสียงไม่ถึง 376 เสียง ซึ่งต้องอาศัยเสียง 250 ส.ว.เนื่องจากขั้ว 188 เสียง ปิดประตูโหวตให้เขา และ “พิธา-ก้าวไกล” ยังมั่นใจว่ารวบรวมเสียงได้ครบแล้ว โดยจะนัด 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล หารือถึงตัวเลขเสียงสนับสนุนจาก ส.ว.ในวันที่ 11 ก.ค.นี้
“พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” อายุ 78 ปี (เกิด 11 ส.ค.2488) จบมัธยมจากเซนต์คาเบรียล จบนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 6 จบนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้ารุ่นที่ 17 เดินบนเส้นทางราชการทหารด้วยการเป็นผู้บังคับหมวดปืนเล็ก กองพันทหารราบที่ 2 กรมผสมที่ 3 เมื่อปี 2512 กระทั่งปี 2524 ขึ้นมาเป็นผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ หรือที่สื่อมักเรียกเครือข่ายดังกล่าวว่า “บูรพาพยัคฆ์” ก่อนจะเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 ในปี 2545 ขยับเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ในปี 2546 และขึ้นเป็น ผู้บัญชาการทหารบก สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ปี 2547
หลังเกษียณอายุราชการ ปี 2548 ชื่อ “พล.อ.ประวิตร” ปรากฏอีกครั้งเมื่อได้รับเลือกเป็น รมว.กลาโหม สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ปี 2551-2554 ต่อมาหลังรัฐประหารปี 2557 พล.อ.ประวิตร นั่งเก้าอี้รองหัวหน้า คสช.รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และ รมว.กลาโหม โดยมี “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นหัวหน้า คสช.และนายกรัฐมนตรี
กระทั่งตัดสินใจไปต่อทางการเมือง หลังรัฐบาล คสช. “พล.อ.ประวิตร” อยู่ฉากหลังคุมทัพพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ลงสนามเลือกตั้งปี 2562 ก่อนที่ พปชร.จะจัดตั้งรัฐบาลส่ง “พล.อ.ประยุทธ์” นั่งเก้าอี้นายกฯ อีกสมัย กระทั่ง พล.อ.ประวิตร กระโดดมาฉากหน้าด้วยการเป็นหัวหน้าพรรค พปชร.
ระหว่างนั้นมีรอยร้าวใน “พี่น้อง 3 ป.” ส่งผลให้ “พล.อ.ประวิตร” ต้องแยกทางกับ “พล.อ.ประยุทธ์” ที่ออกไปสร้างพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ลงสนามเลือกตั้ง 14 พ.ค.2566 โดยทั้ง “พปชร.-รทสช.” ตกอยู่ในสถานะฝ่ายแพ้ แต่ “พล.อ.ประวิตร” มีความหวังพลิกขั้วตั้งรัฐบาลได้ แม้เกมตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยจะถูกต่อต้านหนัก แต่ “เครือข่ายประวิตร” ยังเคลื่อนเกมใต้ดิน
ความฝันที่จะเป็นความจริงได้ โจทย์แรกต้องแพ็กขั้ว 188 เสียง ให้เหนียวแน่นเอาไว้หลังจากนั้นอาศัยตัวช่วยจาก 250 ส.ว.โดยต้องการ 188 เสียง มาเติมขั้ว 188 เสียง จะได้เกิน 376 เสียง จึงจะส่ง พล.อ.ประวิตร นั่งเก้าอี้นายกฯ ได้ จากนั้นอาจเปิดดีล “ส.ส.งูเห่า” อย่างน้อย 63 เสียง ถึงจะมีเสียงในสภาเกิน 251 เสียง โดยเป้าหมายหลักอยู่ที่ “งูเห่าสีแดง” เป้าหมายรองอยู่ที่ “งูเห่าสีส้ม”
“แพทองธาร ชินวัตร” อายุ 36 ปี (เกิด 21 ส.ค.2529) จบมัธยมต้น เซนต์โยเซฟคอนแวนต์ มัธยมปลาย มาแตร์เดอีวิทยาลัย ปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโท International Hotel Management จาก Surrey University อังกฤษ
ประสบการณ์การทำงานเคยดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ด้านบริหารกลุ่มธุรกิจโรงแรม บริษัท เรนด์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด และกรรมการบริษัทธุรกิจในเครือ เช่น โรงแรมโรสวูด กรุงเทพฯ โรงแรม เทมส์ วัลลีย์ เขาใหญ่ สนามกอล์ฟอัลไพน์ โรงแรมเอสซี ปาร์ค
มีชื่อถือหุ้นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ 1 แห่ง คือบริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SC จำนวน 1,216,149,870 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 28.82% หรือมีมูลค่ารวม 5,521,320,409.8 บาท (จากราคาปิดวันที่ 8 ก.พ. 2566 ที่ราคา 4.54 บาทต่อหุ้น)
ชื่อของ “แพทองธาร” ถูกพูดถึงอย่างมาก ภายหลังเปิดตัวเป็นหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย เมื่อเดือน มี.ค.2565 หลังจากนั้น “แพทองธาร” เดินสายลงพื้นที่เหนือจรดใต้ ปลุกกระแสความนิยมของ “เพื่อไทย” ให้ติดลมบน ด้วยแบรนด์ทายาทคนเล็กของ “ตระกูลชินวัตร”
การสำรวจจากโพลหลายสำนักก่อนการเลือกตั้ง ชื่อ “แพทองธาร” เคยได้รับความนิยมสูงสุดเกือบร้อยละ 50 แต่หลังคลอด ที่ต้องเว้นวรรค ผนวกกับความไม่ชัดเจนของ “เพื่อไทย” เกี่ยวกับสายสัมพันธ์กับ “พล.อ.ประวิตร” ทำให้คะแนนนิยม “แพทองธาร-เพื่อไทย” ดิ่งลง
แม้ “เพื่อไทย” จะเข้ามาเป็นพรรคอันดับสอง แต่ชื่อ “แพทองธาร” ยังไม่ถูกตัดทิ้ง เพราะ “พิธา-ก้าวไกล” มีอุปสรรคมากมายขวางกั้นอยู่ หากชื่อ “พิธา” ไม่ผ่านการโหวตรอบแรก โอกาสของ “แพทองธาร” จะเพิ่มขึ้นทันที
เนื่องจาก “ส.ว.” มีท่าทีโอนอ่อนให้กับ“เพื่อไทย”ล่าสุดมีข้อเสนอว่าหาก “เพื่อไทย” ยอมทิ้ง “ก้าวไกล” และ จับขั้วพรรคอื่นจัดตั้งรัฐบาล ส.ว.พร้อมจะโหวตให้แคนดิเดตนายกฯ จากเพื่อไทย
หากมองเกมระยะสั้นอาจจะสมหวัง แต่เกมระยะยาวไม่ส่งผลดีต่อเพื่อไทยอย่างแน่นอน เพราะมีความคาดหวังจากประชาชนให้ “ก้าวไกล-เพื่อไทย” จับมือตั้งรัฐบาลไปด้วยกัน
อีกทั้ง “คนในตระกูลชินวัตร” ยังมีความเห็นไม่ตรงกันว่า การเมืองเวลานี้ “แพทองธาร” จะเหมาะสมนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีหรือไม่ เพราะอยู่ในช่วงล่อแหลม และหากต้องหักกับ “ก้าวไกล” อาจจะเสียแต้มจากแฟนคลับเพื่อไทย เสียคะแนนนิยมของ “ตระกูลชินวัตร”
เนื่องจาก ส.ว.มีท่าทีโอนอ่อนให้ “เพื่อไทย” ล่าสุดมีข้อเสนอว่าหาก “เพื่อไทย” ยอมทิ้ง “ก้าวไกล” และจับขั้วพรรคอื่นตั้งรัฐบาล ส.ว.พร้อมโหวตให้แคนดิเดตนายกฯจากเพื่อไทยโดยถ้ามองเกมระยะสั้นอาจสมหวัง แต่เกมระยะยาวไม่ส่งผลดีต่อเพื่อไทยเพราะมีความคาดหวังจากประชาชนให้ “ก้าวไกล-เพื่อไทย” จับมือตั้งรัฐบาลด้วยกัน
“เศรษฐา ทวีสิน” อายุ 60 ปี (เกิด 15 ก.พ.2506) จบการศึกษาระดับปริญญาโท ด้านการเงินจาก Claremont Graduate School สหรัฐอเมริกา เริ่มงานปี 2529 เป็นผู้ช่วยผู้จัดการผลิตภัณฑ์ บริษัท พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิลต่อมาไปทำงานที่ บจก.แสนสำราญ ของอภิชาติ จูตระกูล ลูกพี่ลูกน้องของเขา จากนั้นเปลี่ยนชื่อเป็น บมจ.แสนสิริ โดย “เศรษฐา” เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท กระทั่งตัดสินใจเข้าสู่การเมืองจึงลาออกจากทุกตำแหน่งใน บมจ.แสนสิริ เมื่อ 3 เม.ย.2566
เส้นทางการเมืองได้สมัครเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยเมื่อ พ.ย.2565 ต่อมามี.ค.2566พรรคเพื่อไทยแต่งตั้งเป็นประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวของพรรค “แพทองธาร ชินวัตร”
โจทย์ของ “เศรษฐา” ไม่ต่างจาก “แพทองธาร” ซึ่งต้องรอให้สถานการณ์สุกงอม “พิธา-ก้าวไกล” เดินไปไม่ถึงฝั่งฝัน หากเพื่อไทยพลิกมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เขาก็ต้องลุ้นก๊อกของพรรค 2 ว่า จะใช้ตัวเลือกใดในสถานการณ์ที่ “ทักษิณ” มีธงจะกลับบ้าน
ทั้งหมดคือโอกาสของ 4 แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ต่างคนต่างมีความหวัง ต่างมีความได้เปรียบ เสียเปรียบ กันคนละด้าน เสียงโหวตในที่ประชุมรัฐสภาเท่านั้นที่จะกำหนดชะตาของทั้ง 4 คน และชะตาของ “ประเทศไทย”