จับตา ‘พิธา’ ฝ่า 2 ด่านหิน ‘กกต.-ศาล รธน.’ ก่อนวันโหวตนายกฯ

จับตา ‘พิธา’ ฝ่า 2 ด่านหิน ‘กกต.-ศาล รธน.’ ก่อนวันโหวตนายกฯ

เปิด 2 ด่านหิน อุปสรรคสำคัญขวาง ‘พิธา’ นั่งเก้าอี้นายกฯ จับตา กกต.เคาะชงศาล รธน.ชี้ขาดสถานะ ส.ส.ปมถือหุ้น itv ด้าน อสส.ตอบกลับศาลรัฐธรรมนูญแล้ว เรื่องกล่าวหา ‘พิธา-ก้าวไกล’ มีนโยบายแก้ไข-ยกเลิก ม.112

นับถอยหลังอีก 3 วัน ที่ประชุมร่วมรัฐสภาจะนัดประชุมวาระสำคัญคือการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ชี้ขาดอนาคตประเทศ

โดย 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล 312 เสียง เวลานี้ ยังมีแค่ชื่อของ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ หัวหน้าพรรคก้าวไกล คนเดียวที่จะถูกเสนอต่อที่ประชุมเพื่อให้ความเห็นชอบ

ทั้งนี้ ‘พิธา’ จะต้องได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ส. และ ส.ว. รวมกันอย่างน้อย 376 เสียง กล่าวคือ ขณะนี้ฝ่าย 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลมี 312 เสียง จะต้องหามาเพิ่มอีก 64 เสียง

ในวันที่ 11 ก.ค. พรรคก้าวไกลโดย ‘ชัยธวัช ตุลาธน’ เลขาธิการพรรค ในฐานะโต้โผหลักของคณะเจรจากับ ส.ว. นัด 8 พรรคร่วมรัฐบาล ชี้แจงว่า ขณะนี้มีเสียงสนับสนุน ‘พิธา’ แล้วจำนวนกี่เสียงบ้าง หลังจากถูกบางพรรคในฝ่าย 8 พรรคร่วมรัฐบาลกดดันทวงถามมาระยะหนึ่งแล้ว

สำหรับวันโหวตเลือกนายกฯ ถูกเคาะมาแล้วคือ 13 ก.ค.นี้ เป็นวันแรก หากยังโหวตไม่สำเร็จ จะนัดอีกอย่างน้อย 2 ครั้งคือ 20-21 ก.ค.

อย่างไรก็ดีก่อนวันโหวตเลือกนายกฯ ‘พิธา’ จะต้องฝ่าด่านสำคัญอย่างน้อย 2 ด่านให้รอดพ้นไปเสียก่อน

1.เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2566 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นัดประชุม โดยมีวาระสำคัญในการพิจารณาคือ รายงานของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง สำนักงาน กกต. กรณีมีผู้ร้องเรียนขอให้พิจารณา และส่งศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.หรือไม่ กรณีถือครองหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น itv 
    
แม้จะมีกระแสข่าวว่า กกต.เชิญนายพิธา มาชี้แจงด่วนกับที่ประชุมถึงพฤติการณ์การถือครองหุ้น itv แต่ล่าสุด แหล่งข่าวระดับสูงจากสำนักงาน กกต.ออกมาปฏิเสธข่าวดังกล่าวไปแล้ว ยืนยันว่า ไม่มีการเชิญนายพิธามาชี้แจงแต่อย่างใด

ทั้งนี้หากที่ประชุม กกต.มีมติส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยกรณีการถือครองหุ้น itv ของนายพิธาในวันนี้จริง ต้องรอดูในวันที่ 12 ก.ค.ซึ่งจะมีการประชุมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่า จะรับคำร้องในวันดังกล่าวหรือไม่ หากรับคำร้อง จะสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ไว้ก่อนหรือไม่

จับตา ‘พิธา’ ฝ่า 2 ด่านหิน ‘กกต.-ศาล รธน.’ ก่อนวันโหวตนายกฯ

หากยังไม่รับคำร้อง หรือรับคำร้อง แต่ไม่สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการโหวตเลือกนายกฯมากนัก แต่หากมีการสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ จะส่งผลกระทบมหาศาลกับความเชื่อมั่นของ ส.ส. และ ส.ว.ในการโหวตเลือกนายพิธาเป็นนายกฯ

โดยหากยังไม่รับคำร้องในวันที่ 12 ก.ค.นี้ จะต้องรอการประชุมสัปดาห์ถัดไปคือ 19 ก.ค.

ทั้งนี้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 89 ระบุว่า แคนดิเดตนายกฯ จะต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 ซึ่งเป็นคุณสมบัติของการเป็นรัฐมนตรี โดยจะโยงกับมาตรา 98 คือคุณสมบัติของการเป็น ส.ส. นั่นหมายความว่า แคนดิเดตนายกฯ จะต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 นั่นคือ ห้ามถือหุ้นในกิจการสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อสารมวลชนด้วย

2.กรณีศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้สอบถามอัยการสูงสุด (อสส.) ว่ามีคำสั่ง รับหรือไม่รับดำเนินการตามที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความ ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่าการกระทำของ นายพิธา ผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 2 ที่เสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เพื่อแก้ไข หรือยกเลิกมาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการต่อเนื่องในการใช้สิทธิ และเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่
    
เมื่อวันที่ 10 ก.ค. นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ชี้แจงกรณีนี้ว่า เมื่อวันที่ 6 ก.ค.ที่ผ่านมา น.ส.นารี ตัณฑเสถียร อัยการสูงสุด ได้ลงนาม ในหนังสือตอบกลับไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ตามหนังสือสอบถามไปแล้ว กระบวนการต่อไปเป็นการส่งหนังสือเพื่อตอบให้ศาลรัฐธรรมนูญทราบตามระบบราชการ โดยสำนักงานอัยการสูงสุดได้เเจ้งผลการดำเนินการ พร้อมเอกสารประกอบเเนบท้าย ลงนามโดย น.ส.นารี อัยการสูงสุด ถึงศาลรัฐธรรมนูญไปเเล้ว ส่วนรายละเอียดหนังสือตอบกลับขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ และอัยการก็จะดำเนินการตามที่กฎหมายบัญญัติต่อไป

ทั้งนี้ต้องรอดูคำตอบของ อสส.ที่ตอบกลับไปยังศาลรัฐธรรมนูญว่า เป็นอย่างไร หาก อสส.รับคำร้อง กระบวนการก็จะดำเนินการต่อไป แต่หาก อสส.ไม่รับคำร้อง ก็ไม่กระทบกับกระบวนการที่เดินอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญ ที่สามารถนำไปวินิจฉัยเองได้ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 7(3) 

2 ด่านสำคัญคือสิ่งที่ ‘พิธา’ จะต้องฝ่าไปให้ได้ สุดท้ายบทสรุปจะเป็นอย่างไร รอดูผลกันอีกไม่นาน