2 เดือนคดีหุ้น itv ‘พิธา’ จาก กกต.สู่มือศาล รธน.ชี้ขาด
"...ทั้งหมดคือไทม์ไลน์ราว 2 เดือนเศษ ในคดีหุ้น itv “พิธา” ขั้นตอนถัดจากนี้ต้องรอการวินิจฉัยชี้ขาดจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่าจะเป็นอย่างไร..."
ฝันร้ายเดิม ๆ กำลังตามหลอกหลอนพลพรรคสีส้ม
เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2566 คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.มีมติส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาวินิจฉัยสมาชิกภาพ ส.ส. “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค กรณีถือครองหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น itv จำนวน 42,000 หุ้น เข้าข่ายเป็นการถือครองหุ้นสื่อ ถือว่ามีลักษณะต้องห้ามมิให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่
ความคืบหน้าประเด็นนี้ ช่วงเย็นวันเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่เอกสารข่าว ยืนยันว่า ได้รับคำร้องของ กกต. จำนวนเอกสารหลักฐาน 3 ลังไว้ในคำร้องทางธุรการแล้ว รอชงเข้าคณะเล็กเพื่อกลั่นกรอง ก่อนบรรจุเข้าวาระการประชุมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยปกติตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะมีการประชุมประจำสัปดาห์ทุกวันพุธ ดังนั้นต้องจับตาว่า 19 ก.ค.นี้ คำร้องของ กกต.จะถูกบรรจุเข้าวาระประชุมหรือไม่
ขณะที่วันนี้ (13 ก.ค.) ที่ประชุมร่วมรัฐสภา โดย ส.ส.และ ส.ว.จะลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี โดย 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล 312 เสียง จะโหวตเลือก “พิธา” เป็นนายกฯ ทั้งหมดตามแผนเดิมหรือไม่ เนื่องจาก ส.ว.หลายคนออกโรงยืนยันแล้วว่า ส่วนใหญ่อาจเป็นการ “งดออกเสียง” ขณะที่บางส่วนยืนยันจุดยืนชัดเจน “โหวตไม่เห็นชอบ"
ฝันร้ายนี้เคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อครั้งปี 2562 พรรคอนาคตใหม่ นำโดย “ไพร่หมื่นล้าน” ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นำ ส.ส.สีส้ม เข้าสภาฯได้ 81 คน เหนือความคาดหมาย แต่สุดท้ายมา “ตายน้ำตื้น” เนื่องจากถูก กกต.ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ และถูกลงดาบด้วยการให้พ้นสมาชิกภาพ ส.ส. และถูกตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี กรณีถือครองหุ้นสื่อบริษัท วีลัค มีเดีย จำกัด
โดยเห็นว่า การถือครองหุ้นดังกล่าว แม้จะอยู่ระหว่างดำเนินการแจ้งเลิก แต่ยังไม่เสร็จชำระบัญชี ดังนั้นจะกลับมาเปิดใหม่อีกครั้งก็ย่อมทำได้ นอกจากนี้ การแจ้งโอนหุ้นสื่อดังกล่าว ก่อนการเลือกตั้งเป็นเรื่องสำคัญมาก ไฉนจึงไม่รีบโอนก่อนวันสมัครรับเลือกตั้ง
สำหรับคดีหุ้น itv ของ “พิธา” มีจุดเริ่มต้นอย่างไร กรุงเทพธุรกิจ สรุปไทม์ไลน์ให้ทราบ ดังนี้
24 เม.ย.2566 นิกม์ แสงศิรินาวิน ผู้สมัคร ส.ส.กทม. พรรคภูมิใจไทย (อดีตสมาชิก และผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ปี 2562) โพสต์ผ่านทวิตเตอร์โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวให้ หัวหน้าพรรคที่มีหุ้น itv 42,000 หุ้น มอบตัวกับ กกต.
ข้อมูลโดยสังเขปของบริษัท itv แจ้งข้อมูลต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ปี 2566 ระบุประเภทธุรกิจที่ส่งงบการเงินปีล่าสุดคือ กิจกรรมการเผยแพร่ภาพยนตร์วีดิทัศน์และรายการโทรทัศน์ วัตถุประสงค์ สื่อโทรทัศน์
บริษัทแห่งนี้ จดทะเบียนเมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2541 ทุนปัจจุบัน 7.8 พันล้านบาท (ชำระแล้ว 6,033,487,000 บาท) ตั้งอยู่ที่ 87 อาคารเอ็มไทย ทาวเวอร์ ชั้นที่ 27 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กทม. ปรากฏชื่อกรรมการดังนี้ คิมห์ สิริทวีชัย จิตชาย มุสิกบุตร เมโธ เปี่ยมทิพย์มนัส ธัญลักษณ์ บัวทอง รัตนาพร นามมนตรี
นำส่งรายชื่อผู้ถือหุ้น หลังสุดเมื่อ 27 เม.ย.2565 จำนวนรายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ 25 ราย (70% ของทุนจดทะเบียน ส่วนที่เหลืออีก 30% คือผู้ถือหุ้นรายย่อย) พบว่า มีบุคคล/นิติบุคคลสัญชาติไทย ถือ 20 ราย อเมริกัน 1 ราย สหราชอาณาจักร 3 ราย ไต้หวัน 1 ราย สิงคโปร์ 2 ราย จีน 1 ราย และฮ่องกง 1 ราย โดยบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นใหญ่สุด 638,602,846 หุ้น มูลค่า 3,193,014,230 บาท คิดเป็น 52.9215%
26 เม.ย.2566 มีการประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี 2566 ของ itv ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยในบันทึกการประชุม ระบุว่า ภาณุวัฒน์ ขวัญยืน อดีตลูกน้องของนิกม์ และเป็นผู้ได้รับโอนหุ้นจากนิกม์ ถามประธานที่ประชุมว่า บริษัท itv มีการดำเนินงานเกี่ยวกับสี่อหรือไม่ โดยคิมห์ ศิริทวีชัย ประธานที่ประชุม ตอบว่า ปัจจุบันบริษัทยังดำเนินกิจการอยู่ ตามวัตถุประสงค์ของบริษัท จึงเป็นที่เข้าใจว่าบริษัท itv ยังคงประกอบธุรกิจสื่ออยู่
9 พ.ค.2566 (ก่อนการเลือกตั้ง 5 วัน) “เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” อดีต ส.ว. ปัจจุบันเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ยื่นคำร้องกับ กกต.กล่าวหาว่า “พิธา” ถือครองหุ้น itv เข้าข่ายลักษณะต้องห้ามไม่ให้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) หรือไม่
วันเดียวกัน “พิธา” โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ ชี้แจงว่า การถือครองหุ้นดังกล่าว ถือในฐานะผู้จัดการมรดก และไม่มีความกังวลเรื่องนี้แต่อย่างใด ได้ปรึกษาและแจ้งต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไปนานแล้ว
10 พ.ค.2566 บริษัท itv ยื่นแบบนำส่งงบการเงิน (สบช.3) ที่ ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยระบุว่า เป็นสื่อโทรทัศน์ ผลิตสินค้าหรือบริการประเภทสื่อโฆษณาและผลตอบแทนจากการลงทุน ซึ่งถูกเปลี่ยนจากปีบัญชี 2561-2562 เคยระบุประเภทธุรกิจไว้ว่า กิจกรรมของบริษัทโฮลดิ้งที่ไม่ได้ลงทุนในธุรกิจการเงินเป็นหลัก
14 พ.ค.2566 หลังจบการเลือกตั้ง “ก้าวไกล” คือพรรคที่ได้คะแนนเสียงมาเป็นอันดับ 1 จำนวน ส.ส. 151 คน และเริ่มดีลพรรคการเมืองต่าง ๆ เพื่อฟอร์มทีมจัดตั้งรัฐบาล
หลังจากนั้นระหว่างเดือน พ.ค.-มิ.ย. 2566 “เรืองไกร” รวมถึงนักร้องอีกหลายคน ได้เข้ายื่นคำร้องกล่าวหา “พิธา” แก่ กกต. กรณีถือครองหุ้น itv จำนวน 42,000 หุ้นดังกล่าว
6 มิ.ย.2566 “พิธา” ตอบโต้กรณีดังกล่าวอีกครั้ง โดยระบุว่า ได้โอนหุ้น itv ในฐานะผู้จัดการมรดก ให้แก่ทายาทเรียบร้อยแล้ว เพื่อป้องกันความพยายามปลุกผี ฟื้นคืนชีพ itv ให้กลายเป็นบริษัทสื่อ ยืนยันการโอนหุ้นครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการหลีกหนีความผิดแต่อย่างใด
ต่อมา “พิธา” เปิดเผยว่าได้โอนหุ้น itv 42,000 หุ้นดังกล่าว ให้แก่ “ภาษิณ ลิ้มเจริญรัตน์” น้องชาย
9 มิ.ย.2566 กกต.ได้ตีตกคำร้องกล่าวหาคดีหุ้น itv ของสารพัดนักร้องเรียนทั้งหมด โดยระบุว่า เป็นการยื่นคำร้องเกินกำหนดเวลาก่อนการเลือกตั้ง 2566 แต่ กกต.ยังมีสิทธิ์ยกคำร้องกล่าวหาได้ หากความปรากฏแก่ กกต.
นอกจากนี้ กกต.ได้ตั้งคณะกรรมการไต่สวนและสืบสวน กรณีกล่าวหาว่า “พิธา” รู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิ แต่ยังสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561
11 มิ.ย.2566 รายการ “ข่าว 3 มิติ” นำเสนอรายงานข่าวของ “ฐปณีย์ เอียดศรีไชย” นักข่าวรายการข่าว 3 มิติ เป็นคลิปวีดีโอบันทึกการประชุมทางอิเล็กทรอนิกส์ผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี 2566 ของ itv โดย คิมห์ ประธานคณะกรรมการบริษัท ตอบถึงสถานะการทำสื่อของ itv ว่า “ตอนนี้บริษัทยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ ก็รอผลคดีความให้สิ้นสุดก่อน” สวนทางกับในบันทึกการประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี 2566 ที่มีการเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ itv ก่อนหน้านี้
12 มิ.ย.2566 “นิกม์” ได้เข้ารายการ “กรรมกรข่าวคุยนอกจอ” ยอมรับว่า “ภาณุวัฒน์” คืออดีตลูกน้องตนเอง และเป็นผู้ขายหุ้นให้แก่ “ภาณุวัฒน์” พร้อมยืนยันว่า เขาทำคนเดียว ไม่มีใครจ้างวาน
วันเดียวกัน บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ INTOUCH ผู้ถือหุ้นใหญ่ itv ออกหนังสือชี้แจงถึงกรณีที่รายงานการประชุมไม่ตรงกับคลิปในรายการข่าว 3 มิติ ว่าทางบริษัทกำลังสอบสวนข้อเท็จจริง
วันเดียวกัน “ชัยธวัช ตุลาธน” เลขาธิการพรรคก้าวไกล แถลงข่าวชี้แจงข้อเท็จจริงดังกล่าว โดยยืนยันว่า มีขบวนการอยู่เบื้องหลังในการฟื้นคืนชีพ itv ให้กลายเป็นสื่อ เพื่อสกัดกั้นไม่ให้ “ก้าวไกล” จัดตั้งรัฐบาล และไม่ต้องการเห็น “พิธา” เป็นนายกฯ โดยถามถึง INTOUCH ว่ารับทราบเรื่องแก้บันทึกการประชุมครั้งนี้หรือไม่
ระหว่างเดือน มิ.ย.-ก.ค. เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ และนักร้องอีกหลายคน ได้ทยอยเข้ายื่นเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมแก่ กกต. แม้ว่า กกต.จะเคยตีตกคำร้องกล่าวหาไปก่อนหน้านี้ แต่นักร้องเหล่านี้อ้างว่า เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการไต่สวนของ กกต. ประเด็นกล่าวหา พิธา เข้าข่ายผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 มาตรา 151
18 มิ.ย.2566 พิธา ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. เป็นการยื่นหลังจากขอขยายระยะเวลา 15 วัน โดยในบัญชีของพิธา มีการแจ้งถือครองหุ้น itv ไว้ในฐานะผู้จัดการมรดก แต่มิได้แจ้งว่า ได้ขายหรือโอนหุ้นดังกล่าวให้แก่ ภาษิณ น้องชาย ผู้เป็นทายาท นอกจากนี้ยังมิได้แนบเอกสารหลักฐานเป็นสำเนาคำสั่งฉบับจริงของศาลแพ่ง ทำให้ ป.ป.ช. ได้แจ้งไปยังพิธา เพื่อขอเอกสารเพิ่มเติมในตอนนี้
19 มิ.ย.2566 กกต.มีมติรับรอง ส.ส.ทั้ง 500 คน โดย ส.ส.พรรคก้าวไกลทั้ง 151 คน ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการทั้งหมด
28 มิ.ย.2566 ส.ว.นำโดย เสรี สุวรรณภานนท์ และกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ เข้าพบ กกต.ทั้งคณะ และเลขาธิการ กกต. รวมถึงผู้บริหารระดับสูง โดยภายหลังการหารือ ทั้ง ส.ว. และ กกต.อ้างว่า เป็นแค่การหารือภายหลังการเลือกตั้ง 2566 เท่านั้น มิได้คุยกันเรื่องประเด็นหุ้น itv ของ “พิธา” แต่อย่างใด
29 มิ.ย.2566 แสวง บุญมี เลขาธิการ กกต.ยอมรับว่า การสอบสวนคดีหุ้น itv ของพิธา ค่อนข้างซับซ้อน นอกจากนี้ ยังมีผู้มาร้องเรียนกล่าวหา พิธา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 กล่าวหาว่า การถือหุ้น itv ของพิธา เข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่
แสวง ยอมรับว่า การหารือกับ ส.ว.เมื่อ 28 มิ.ย. มีการนำหลักฐานประกอบคดีหุ้นพิธามามอบให้ หลังจากนี้สำนักงาน กกต.จะนำหลักฐานไปประกอบการพิจารณาคดีทั้งกรณีรู้อยู่แล้วว่าไม่มีคุณสมบัติแต่ยังลงสมัครรับเลือกตั้ง ตามมาตรา 151 พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 และรัฐธรรมนูญมาตรา 82 กรณีสงสัยคุณสมบัติของ ส.ส.จะต้องมีการเข้าชื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญ
4 ก.ค.2566 กกต.ขยายระยะเวลาการไต่สวน ตามที่คณะกรรมการไต่สวนและสืบสวนของ กกต.ขอมา กรณีกล่าวหาพิธาว่า รู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง แต่ยังสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 มาตรา 151
9-11 ก.ค.2566 ที่ประชุม กกต.มีการติดตามความคืบหน้า กรณีคำร้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 กล่าวหาพิธาว่า ถือครองหุ้น itv เข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ โดยเบื้องต้น กกต.อ้างว่า เป็นแค่การประชุมติดตามความคืบหน้าเท่านั้น
12 ก.ค.2566 หลังจากการหารือมา 3 วัน กกต.มีมติยื่นคำร้องถึงศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยสมาชิกภาพ ส.ส.ของพิธา เข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่
วันเดียวกันช่วงบ่าย ผู้บริหารระดับสูงสำนักงาน กกต.พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ กกต.นำเอกสารหลักฐาน 3 ลังไปยื่นคำร้องกับสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ
ถัดมาไม่กี่ชั่วโมงศาลรัฐธรรมนูญ เผยแพร่เอกสารว่า ได้รับคำร้องของ กกต.ไว้ในทางธุรการแล้ว หลังจากนี้ขั้นตอนจะเสนอเข้าคณะเล็กเพื่อกลั่นกรอง ก่อนจะบรรจุวาระเข้าที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะมีการประชุมประจำสัปดาห์ทุกวันพุธ
ทั้งหมดคือไทม์ไลน์ราว 2 เดือนเศษ ในคดีหุ้น itv “พิธา” ขั้นตอนถัดจากนี้ต้องรอการวินิจฉัยชี้ขาดจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่าจะเป็นอย่างไร
แต่ที่แน่ ๆ การจัดตั้งรัฐบาลของ “ก้าวไกล” เพื่อดัน “พิธา” เป็นนายกฯ หลังจากนี้ น่าจะเหนื่อยหนัก ยิ่งกว่าเข็นครกขึ้นภูเขา