"พิธา" ซัด อย่าให้มี "ศาลเตี้ยในรัฐสภา" มั่นใจมีคุณสมบัติเสนอชื่อเป็นนายกฯ
"พิธา" ลุกแจงต่อรัฐสภา ย้ำมีคุณสมบัติเสนอชื่อเป็นนายกฯ ตอก "ส.ว." อย่าให้มีศาลเตี้ยในรัฐสภา ด้าน "ชัยธวัช" แย้งเลือก ก้าวไกล ไม่ใช่ล้มล้างสถาบัน
เมื่อเวลา 10.50 น. นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกฯ ชี้แจงต่อที่ประชุมรัฐสภา ตามประเด็นที่ถูกพาดพิงในการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่า ประเด็นดังกล่าวไม่อยู่ใน MOU ของ 8 พรรคร่วมรัฐบาล เพราะการแก้ไขกฎหมายอยู่ที่ฝ่ายนิติบัญญัติจะพิจารณา ทั้งนี้การยื่นร่างกฎหมายแล้วจะไม่มีการผูกขาดชุดความคิด ซึ่งเป็นหน้าที่ของส.ส.ที่เป็นตัวแทนของประชาชน ที่มีความคิดเห็นแตกต่าง พูดกันแบบวุฒิภาวะไม่หยาบคาย ใช้เหตุผล คือทางออกของประเทศในชุดความคิดที่ขัดแย้งที่เกิดขึ้น
“ผมไม่เห็นด้วยที่บอกว่า ใครหมิ่นสถาบันให้เอาปืนไปยิงเลย ซึ่งเท่ากับไม่รู้ถึงวัฒนธรรมรับผิดรับชอบ ทั้งนี้ในประเด็นของกฎไอซีซี ที่มีหลักการว่า อาชญากรรรมทางสงคราม การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ขณะนี้มีประเทศที่ปกครองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวม 27 ประเทศ ซึ่งมีบางประเทศลงนามรรับรองแล้ว ทั้งนี้องค์พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมือง ใช้อำนาจผ่าน ครม.” นายพิธา ชี้แจง
นายพิธา ชี้แจงด้วยว่า ตนยืนยันกับสมาชิกรัฐสภา 750 คน ว่า ตนมีคุณสมบัติที่สมบูรณ์แบบ และมีความชอบชอบธรรม แม้กระบวนการที่กล่าวหาตน ทั้งที่ตนไม่รู้ว่าข้อกล่าาวหานั้นคืออะไร เห็นแค่มติผ่านสื่อมวลชน ดังนั้นตามสมมติฐานของทนายหรือนักกฎหมายต้องสมมติฐานว่าบริสุทธิ์ไว้ก่อน อย่าให้มีศาลเตี้ยในรัฐสภา
“ในปี2562 ที่มีประเด็นเดียวกัน ขั้นตอนการเลือกนายกฯ ยังไม่กระทบหากจำไม่ผิด มีคนบอกว่าจะเลือกรัฐบาลเสียงข้างมากแบบไม่แตกแถว ซึ่งเคยเกิดขึ้นแล้ว ดังนั้นไม่ต้องกังวล ผมยืนยันว่ามีความรัดกุมเกี่ยวกับคุณสมบัติ ทุกครั้งที่เป็นส.ส. ตั้งแต่ครั้งแรก และต่อไป ผมยอมรับการตรวจสอบ ยังดีกว่าบางคนที่ไม่อยู่ในกระบวนการตรวจสอบ ทั้ง ป.ป.ช. และ กกต. “ นายพิธาชี้แจง
ต่อด้วยนายชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายย้ำว่าต้องลงมติให้นายพิธาเป็นนายกฯ คนต่อไปแทน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เพื่อให้เป็นไปตามครรลองประชาธิปไตยปกติของรัฐสภา เพราะได้เสียงข้างมากในสภาฯ 312 เสียง ทั้งนี้การอภิปรายของสมาชิกรัฐสภาต่อความกังวลใจที่ถูกอภิปรายเรื่องการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐหรือไม่ หรือทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่เป็นสถาบันหลักของชาติ เจตนาที่แท้จริงของการแก้ไขปรับปรุงมาตรา 112 เป็นอย่างไร ตนไม่ขอลงรายละเอียด แต่ประเด็นสำคัญคือข้อเสนอของพรรคก้าวไกล อยู่บนฐานความคิด สถาบันหลักของชาติ หรือสถาบันการเมืองใดๆ ดำรงอยู่ได้ ด้วยความยินยอมของประชาชน ไม่มีสถาบันใดดำรงอยู่ได้ด้วยการกด ปราบ บังคับ ทั้งนี้ต้องการเตือนสติทุกฝ่าย ทั้งสมาชิกรัฐสภา และทุกฝ่าย ขอให้ตั้งสติ และมองการณ์ไกลในสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้สถาบันดำรงอยู่ได้ภายใต้ความเปลี่ยนแปลง
“การลงมติให้นายพิธาจากพรรคก้าวไกลเป็นนายกฯ เป็นการล้มล้างสถาบัน ไม่รักชาติ เป็นตัวอย่างที่พวกผมพยายามบอกว่า ไม่ควรเกิดขึ้นในระบอบประชาธิปไตย เพราะสถาบันในระบอบประชาธิปไตย ต้องอยู่เหนือการเมืองและความขัดแย้งทางการเมือง อันตรายมาก หากต่างฝ่ายต่างดึงเรื่องนี้ เข้ามาพัวพันความขัดแย้งทางการเมืองไม่สมควร ที่จะดึงสถาบันเข้ามาปะทะกับผลการเลือกตั้ง ซึ่งใครจะรับผิดชอบกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น” นายชัยธวัช กล่าว
นายชัยธวัช กล่าวอีกว่าลงมติคืนความปกติให้รัฐสภาไทย และแสดงความเคารพต่อประชาชน รวมถึงให้โอกาสครั้งใหม่ให้กับสังคมไทย เป็นจุดเริ่มต้นของการแสวงหาคำตอบของยุคสมัยร่วมกันให้ได้ ขอให้ประชาชนซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์ในระบอบประชาธปไตย คุ้มครองสมาชิกรัฐสภา ให้ตัดสินใจตามมโนธรรมสำนึกและยึดตามเจตนารมณ์ของประชาชนที่ผ่านการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566