‘ก้าวไกล’ ชิงเกมเร็ว‘ปิดสวิตซ์ส.ว.’ ย้อน7ครั้ง‘84เสียงสภาสูง’ด่านหิน
แม้"ก้าวไกล" ชิงเกมเร็ว จุดพลุ “ปิดสวิซต์ส.ว.” ทว่าหากย้อนสถิติ "7ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ" ต้องไม่ลืมว่า "84เสียง" สภาสูงคือด่านหินที่สำคัญ
ที่ประชุมรัฐสภามีมติเมื่อช่วงค่ำวันที่13ก.ค. ที่ผ่านมา เลือก “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกฯพรรคก้าวไกลเป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยมติ เห็นชอบ 324 เสียง ไม่เห็นชอบ 182 เสียง งดออกเสียง 199 เสียง
ถือว่า “พิธา” ได้รับเสียงเห็นชอบน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิก 2 สภาคือ375เสียงจาก750เสียง เท่ากับว่า ว่าที่ประชุมไม่เห็นชอบให้แต่งตั้งนายพิธา ตามธรรมนูญ มาตรา 272
สัญญาณการเมืองยามนี้จึงมีการพุ่งเป้าไปที่ ส.ว.ทั้ง249 คน(ลาออก1คน) ที่ให้ความเห็นชอบเพียง13 คนเท่านั้น
คล้องหลัง1วันพรรคก้าวไกลชิงเกมโต้กลับเร็ว จุดพลุ “ปิดสวิซต์ส.ว.” ด้วยการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา272 ตัดอำนาจส.ว.ในการโหวตเลือกนายกฯ
แต่อย่างที่รู้กันกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งถูกระบุอยู่ในมาตรา256 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจะสำเร็จได้ต่อเมื่อผ่านด่าน “ทริปเปิ้ลล็อก”
โดยเฉพาะ “วาระแรก” ซึ่งถือเป็นด่านปราบเซียน มาตรา 256(3) ระบุไว้ว่า การแก้ไขจะต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบ "มากกว่ากึ่งหนึ่ง" ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา
ขณะนี้มีสมาชิก2สภาอยู่749 คน มากกว่ากึ่งหนึ่งคือ 375 เสียงแต่หากเทียบผลการลงมติเลือกพิธาเป็นนายกฯ กลับได้รับความเห็นชอบเพียง 324 เสียงเท่านั้น
ฉะนั้นด่านแรก อาจต้องไปลุ้นกันที่กลุ่มส.วที่เคยลงมติ “ปิดสวิซต์ตัวเอง” ว่าที่สุดแล้วจะยอมลงมติให้อีกครั้งหรือไม่
ยิ่งไปกว่านั้นในการลงมติวาระแรกนอกเหนือจาก “เสียง2สภา” แล้วมาตราเดียวกันมีอีกหนึ่งด่านคือ “เสียงส.ว.” ที่จะต้องเห็นชอบ “ไม่น้อยกว่า1ใน3” ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา หรือ “84เสียง” จาก249เสียงที่เหลืออยู่ ณ ปัจจุบัน
ต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมามีการเสนอร่างแก้ไขประเด็นดังกล่าวมาแล้วถึง7 ร่างทั้ง7ร่าง “ไม่ผ่านวาระแรก” ทั้งสิ้น
“กรุงเทพธุรกิจ”นำสถิติรัฐสภาในโหวตวาระแรกเพื่อ“ปิดสวิซต์ส.ว.”มาประมวลให้ดูอีกครั้ง
ร่างที่1 เมื่อวันที่17 พ.ย.2563 ที่ประชุมลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยพรรคร่วมฝ่ายค้าน รัฐสภาให้ความเห็นชอบ268 เสียง(ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของรัฐสภา)
จำนวนนี้มีส.ว.โหวตปิดสวิตซ์56 คน
ร่างที่ 2 วันที่17 พ.ย.2563 ที่ประชุมลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยiLaw รัฐสภาให้ความเห็นชอบ212 เสียง (ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของรัฐสภา)
จำนวนนี้มี ส.ว.โหวตปิดสวิตซ์3คน
ร่างที่ 3 วันที่23มิ.ย.2564 ที่ประชุมลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอโดย พรรคร่วมฝ่ายค้านรัฐสภาให้ความเห็นชอบ455 เสียง(เกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา)
จำนวนนี้มีส.ว.โหวตปิดสวิตซ์15คน
ร่างที่ 4 วันที่23มิ.ย.2564 ที่ประชุมลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอโดย พรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทยรัฐสภาให้ความเห็นชอบ461เสียง(เกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา)
จำนวนนี้มีส.ว.โหวตปิดสวิตซ์21คน
ร่างที่5 วันที่16 พ.ย.2564 ที่ประชุมลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอ โดยกลุ่ม “Resolution” รัฐสภาให้ความเห็นชอบ206 เสียง(ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของรัฐสภา)
จำนวนนี้มีส.ว.โหวตปิดสวิตซ์3คน
ร่างที่6 วันที่8ก.ย.2565 ที่ประชุมลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยภาคประชาชน รัฐสภาให้ความเห็นชอบ356 เสียง(ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของรัฐสภา)
จำนวนนี้มีส.ว.โหวตปิดสวิตซ์23 คน
ร่างที่7 วันที่7 ก.พ.2566 “ประชุมล่ม” ระหว่างพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรพร้อมด้วยสมาชิกพรรคเพื่อไทยจำนวน 101 คน ก่อนปิดสมัยประชุมและมีการยุบสภาในท้ายที่สุด
ต่างๆเหล่านี้ล้วนสะท้อนถึงเกมเขี้ยวลากดินในสภาสูงอันถือเป็นขวากหนามสำคัญของพรรคก้าวไกล หรือต่อให้ผ่านวาระแรกไปได้ ยังมีด่านถัดไปนั่นคือ
วาระที่สอง ที่ให้ถือเสียงข้างมากเป็นประมาณ หรือ 376 เสียง แต่หากเป็นการแก้ไขที่ประชาชนเป็นผู้เสนอ ต้องเปิดโอกาสให้ผู้แทนประชาชนเสนอความคิดเห็นด้วย จากนั้นรอ 15 วัน จึงเข้าวาระ 3
และยังมีอีกหนึ่งด่านโหดในวาระสาม นอกจากต้องใช้เสียงมากกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสองสภา หรือ 376 เสียง และยังต้องได้เสียงเห็นชอบจาก สว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวน สว. หรือ 84 คนแล้ว ยังต้องมีเสียง ส.ส. จากพรรคที่ไม่มีสมาชิกเป็นรัฐมนตรี ประธานสภาหรือรองประธานผู้แทนฯ หรือ ส.ส.ฝ่ายค้าน เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุกพรรคการเมืองรวมกันอีกด้วย
ต้องยอมรับว่า กระบวนการแก้ไขกว่าจะผ่านกระบวนการยื่นร่างกฎหมาย ก่อนพิจารณาบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระ และการลงมติวาระแรกยังต้องใช้เวลาอีกยาวนาน ขณะที่การโหวตเลือกนายกฯรอบ2คาดว่าจะมีขึ้นในวันที่19ก.ค. หรืออีก6วันนับจากนี้ ขณะที่ก้าวไกลก็ยังต้องเดินเกมรวมเสียงส.ว.ต่อ
ฉะนั้นการชิงเกมโต้กลับเร็วของพรรคก้าวไกลที่สุดอาจมีผลในแง่การปลุกเร้ามวลชนในเชิงสัญลักษณ์ดังเช่นที่มีผู้ตั้งคำถาม พร้อมติดแฮชแท็ก#ส.ว.มีไว้ทำไม เสียมากกว่า