การเมืองทําให้ประเทศตกต่ำ | บัณฑิต นิจถาวร
สี่สิบปีก่อน เศรษฐกิจไทยรุ่งเรืองจนถูกขนานนามเป็นเสือตัวที่ห้าของเอเชีย เป็นประเทศที่ขณะนั้นกําลังก้าวขึ้นเป็นอำนาจใหม่ทางเศรษฐกิจและการเมืองของภูมิภาคที่น่าตื่นเต้น แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว
เรากลายเป็นประเทศอันดับบ๊วยทางเศรษฐกิจและถูกมองข้ามในแง่การเมืองภูมิภาค ล่าสุดบทความสํานักข่าวบลูมเบริก์วิเคราะห์ว่า สาเหตุหลักมาจากการเมือง ที่การต่อสู้แย่งชิงอำนาจ
ทําให้การเมืองประเทศไทยไม่มีเสถียรภาพมานานกว่าสามทศวรรษ กระทบโอกาสทางเศรษฐกิจ ทําให้ประเทศเหมือนตกอยู่ในหลุมไม่ไปไหน เป็นตัวอย่างของประเทศที่ทําลายตัวเองด้วยความผิดพลาด นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้
บทความ The Asian "Tiger" Economy That Never Quite Roared หรือ เศรษฐกิจเสือเอเชียที่ไม่ค่อยส่งเสียง เขียนโดย Philip Heijmans และ Chris Anstey สำนักข่าวบลูมเบริก์ ให้ความเห็นว่า
สี่สิบปีก่อนประเทศไทยก้าวกระโดดจนเป็นประเทศระดับแนวหน้า การพัฒนาเศรษฐกิจไปได้ไกลจนถูกเรียกเป็นเสือตัวที่ห้าของภูมิภาค มีอุตสาหกรรมรถยนต์ที่โดดเด่นเปรียบเป็นดีทรอยต์ของเอเชีย
ความสําเร็จนี้เป็นผลมาจากเสถียรภาพทางการเมืองและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่ประเทศมี สนับสนุนด้วยระบบภาษีที่จูงใจ ความรุ่งเรืองเกิดขึ้นขณะที่จีนเพิ่งเริ่มเปิดประเทศและพัฒนาเศรษฐกิจ
แต่ปัจจุบันสิ่งเหล่านี้ไม่มีแล้ว สามสิบปีของความไร้เสถียรภาพทางการเมืองที่มีการปฏิวัติรัฐประหารถึงสามครั้ง ทําให้ประเทศไทยเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม เศรษฐกิจตกอยู่ในกับดักประเทศรายได้ปานกลางนานกว่าสามสิบปีไม่ไปไหน
เป็นตัวอย่างของประเทศที่ทําร้ายตัวเองด้วยความผิดพลาดต่างๆ ที่มีผลอย่างมหันต์ต่ออนาคตและความเป็นอยู่ของคนทั้งประเทศ
สี่สิบปีก่อนจีนเริ่มพัฒนาเศรษฐกิจตามกลไกตลาดเพื่อหนีความยากจน ปัจจุบันรายได้ต่อหัวของจีนอยู่ที่ 12,720 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี ของไทยอยู่ที่ 6,909 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี ต่างกันเกือบสองเท่า
บทความชี้ว่าสาเหตุหลักที่ประเทศไทยเปลี่ยนแบบหน้ามือเป็นหลังมือคือ การเมืองของประเทศ ที่ช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมาเสถียรภาพทางการเมืองและดอกผลประชาธิปไตยได้ถูกทําลาย
จากการต่อสู้แย่งชิงอำนาจการเมืองระหว่างกลุ่มอำนาจเก่า ที่มีทหารหนุนหลังกับพรรคการเมืองที่สนับสนุนระบอบประชาธิปไตย คือกลุ่มอำนาจใหม่ที่ใช้การเลือกตั้งเป็นเวทีสู่อำนาจ เป็นการต่อสู้ที่ยืดเยื้อซ้ำซากโดยคนกลุ่มเดิมๆ ที่สร้างความเสียหายที่ลึกมากให้กับประเทศและเศรษฐกิจ
หนึ่ง ประเทศเสียโอกาสที่จะโฟกัสและมุ่งใช้พลังที่ประเทศมีไปที่การพัฒนาประเทศระยะยาวเพื่อยกระดับความสามารถของเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชน ทําให้ประเทศไม่มีเป้าหมายและไม่มีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่จริงจังต่อเนื่อง
ผลคือเศรษฐกิจแข่งขันไม่ได้ ไม่มีการลงทุนด้านนวัตกรรม การศึกษา ทําให้ไม่มีสินค้าใหม่ๆ ที่จะส่งออกและสร้างรายได้ ความสามารถในการปรับตัวของประเทศก็ตํ่า หนึ่งในสามของกําลังแรงงานยังอยู่ในภาคเกษตร ผลคือเศรษฐกิจต้องพึ่งการท่องเที่ยวมากเพื่อหารายได้
สอง การเมืองที่ไม่มีเสถียรภาพ ทําให้ประเทศไม่มีความแน่นอนและความต่อเนื่องเรื่องนโยบาย เพราะทุกอย่างเปลี่ยนได้ตามการเมือง การทําธุรกิจในประเทศไทยจึงเสี่ยงและมีความไม่แน่นอนในสายตานักลงทุน ขณะที่รัฐบาลไม่ตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ ทําให้นักลงทุนขาดทิศทางสำหรับวางแผนระยะยาว
บทความยกตัวอย่างการค้าระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเจรจาการค้ากับกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปช้ามาก ไม่เข้าเป็นสมาชิกเขตเศรษฐกิจ CPTTP เพราะไม่พร้อมปรับตัวตามมาตรฐานการค้าที่สูงขึ้น
ขณะที่ มาเลเซีย เวียดนาม เป็นสมาชิก ผลคือไทยกลายเป็นประเทศที่ถูกลืม เงินลงทุนทางตรงจากต่างประเทศไหลเข้าไทยลดลงและเติบโตตํ่าสุด ไหลเข้าประเทศคู่แข่งในภูมิภาคแทน
สาม การเมืองที่มีความขัดแย้งสูงทําให้ประเทศมีความไม่แน่นอนในการบังคับใช้กฎหมาย (legal uncertainties) มีปัญหาเรื่องประสิทธิภาพและธรรมาภิบาลในการทําหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ
บทความยกตัวอย่างประเด็นธรรมาภิบาลล่าสุดในตลาดทุนที่กระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุน ซํ้าเติมความน่าเชื่อถือของประเทศที่ถูกกระทบมากอยู่แล้วจากการขาดเสถียรภาพทางการเมือง
อีกประเด็นที่สำคัญแต่บทความไม่ได้พูดถึงคือ การทุจริตคอร์รัปชัน ที่การเมืองขาดเสถียรภาพได้สร้างโอกาสให้การทุจริตคอร์รัปชันเติบโต ผ่านการใช้อิทธิพลทางการเมือง
ทำให้ระบบตรวจสอบของประเทศอ่อนแอและสร้างระบบอุปถัมภ์ในภาคราชการและภาคธุรกิจ นำไปสู่การเติบโตและได้ประโยชน์ของธุรกิจที่ใกล้ชิดกลุ่มอำนาจ เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม และความเหลื่อมล้ำในระบบเศรษฐกิจที่รุนแรง
ปฏิเสธไม่ได้ว่าอิทธิพลของกลุ่มธุรกิจเหล่านี้มีมากและมีส่วนทำให้การเมืองของประเทศไม่ดีขึ้น เพราะได้ประโยชน์จากความขัดแย้งและรูปแบบการเมืองที่มีอยู่
นี่คือความเสียหายที่มีต่อประเทศจากความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา ทําให้เศรษฐกิจประเทศเราไม่พัฒนาอย่างที่ควร คนในประเทศเสียโอกาสที่จะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเหมือนประเทศอื่น
และประเทศได้กลายเป็นตัวอย่างของความผิดพลาดและสิ่งที่ไม่ควรทำ ที่ผู้มีอํานาจทางการเมืองไม่ยอมกัน ไม่สามารถเปลี่ยนผ่านอํานาจตามหลักการประชาธิปไตย และพร้อมแย่งชิงอำนาจกันถึงที่สุดโดยไม่สนใจผลที่จะมีต่อเศรษฐกิจและอนาคตของประเทศ
นี่คือทําไมการเปลี่ยนแปลงต้องเกิดขึ้น และสิ่งที่ประชาชนหวังคือการเปลี่ยนแปลงที่ดีจะเริ่มต้นเร็วๆ นี้ ที่จะนำประเทศออกจากความมืดและวังวนการเมืองที่เลวร้าย ไปสู่แสงสว่างและโอกาสทางเศรษฐกิจที่ประเทศควรมี เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน
คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต
ดร.บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล