ม็อบบุกศาล รธน.จี้ตีตกคำร้องสอบคดีหุ้น itv 'พิธา' - นโยบายแก้ ม.112
กลุ่ม 24 มิถุนาฯ บุกศาล รธน. จี้ปัดตกคำร้องวินิจฉัยสมาชิกภาพ ส.ส. 'พิธา' ปมถือหุ้น itv-นโยบายแก้ ม.112 ที่ทำผ่านกระบวนการกฎหมาย หมายหัว ส.ส.ภูมิใจไทย เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ทำกระบวนการประชาธิปไตยล่ม ชวนแต่งดำฌาปนกิจศพ ส.ว. ประกาศศึกองค์กรอิสระ
เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2566 ที่ศาลรัฐธรรมนูญ เวลา 11.00 น. กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตยและคณะรณรงค์รัฐธรรมนูญประชาชน (ครช.) ประมาณ 20 คน นำโดยนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข พร้อมมวลชน ชุมนุมหน้าศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อคัดค้านศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล กรณีสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ สมาชิกภาพ ส.ส.ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกลสิ้นสุดลงตามมาตรา 82 และ รับคำร้องกรณีพรรคก้าวไกลแก้ไขมาตรา 112 เป็นการล้มล้างการปกครองอันจะมีผลต่อการยุบพรรคก้าวไกล ทั้งนี้มีมวลชนจำนวนหนึ่งทยอยเดินทางมา ท่ามกลางการดูแลของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และกองร้อยน้ำหวาน หรือตำรวจควบคุมฝูงชนหญิง ที่มีการวางกำลังดูแลพื้นที่บริเวณโดยรอบอาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ หรืออาคาร A โดยมีการนำแผงเหล็กมากั้น บริเวณด้านหน้าห่างจากตัวอาคาร ประมาณ 50 เมตร โดยมีเจ้าหน้าที่ศาลฯ เป็นผู้รับหนังสือร้องเรียน
โดยแกนนำผู้ชุมนุมได้สลับกันปราศรัย และอ่านแถลงการณ์ โดยนายสมยศ กล่าวตอนหนึ่งว่า ปกติแล้วหลังการเลือกตั้งในหลายประเทศทั่วโลก ภายใน 1 สัปดาห์ก็สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ แต่ประเทศไทยผ่านมา 2 เดือนยังคงไม่จบสิ้น เราพบว่ากกต.ใช้เวลาไม่นานในการเร่งรัดพิจารณากรณีการถือหุ้นสื่อ itv ของนายพิธา ก็ส่งเรื่องมาที่ศาลรัฐธรรมนูญเลย ซึ่งทั้งนี้วิญญูชนทั้งหลายเข้าใจว่า เป็นการใช้กฎหมายโดยไม่สุจริต ใช้กฎหมายเพื่อล้มล้างประชาธิปไตย ดังนั้นวันนี้จึงมา เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญได้ไต่สวนความสัมพันธ์เชื่อมโยงของผู้ร้อง เพราะกระบวนการร้องเรียนเช่นนี้ เกิดขึ้น แล้วศาลรัฐธรรมนูญหยิบมาพิจารณานั้นจะนำมาซึ่งความขัดแย้งในสังคม จะนำมาซึ่งการทำลายประชาธิปไตย
"ขอเรียนว่า การแก้ไขมาตรา 112 ของพรรคก้าวไกลและการขอยกเลิกมาตรา 112 ของคณะราษฎรนั้นใช้กระบวนการนิติบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ โดยพรรคก้าวไกลก็ใช้ฐานะความเป็นผู้แทนปวงชนไทยเข้าชื่อและยื่นขอแก้ไข ดังนั้น คณะราษฎรก็เข้าชื่อหมื่นชื่อเพื่อขอให้แก้ไข นี่คือกระบวนการนิติบัญญัติที่ชัดเจน เป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่จะขอแก้ไขกฎหมาย วันนั้นหากปล่อยให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไปในทางที่ทำให้เป็นการทำลายประชาธิปไตย สิทธิประชาชนถูกละเมิด บ้านเมืองก็จะหายนะ บ้านเมืองจะสิ้นหวังต่อองค์กรอิสระองค์ กรยุติธรรมทั้งหลาย แล้วจะผลักดันให้สังคมไทยเกิดการเคลื่อนไหวการต่อสู้ของประชาชน" นายสมยศ กล่าว
นายสมยศ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ฝ่ายกฎหมายกำลังศึกษาข้อกฎหมาย และรวบรวมความเห็นในการการอภิปรายโหวตนายกฯ เมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมาแล้วหยิบยกเรื่องมาตรา 112 ขึ้นมานั้น เป็นข้ออ้างในการไม่โหวตนายพิธาเป็นนายกฯ อาจจะเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ทำให้ประชาธิปไตยหยุดลง ทำให้เสียงข้างมากของรัฐสภาไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ กระบวนการที่ส.ว.กำลังดำเนินการนั้นเป็นการขัดขวางประชาธิปไตย บ่อนทำลายความมั่นคงของประชาธิปไตย ทำให้หลักการประชาธิปไตยในรัฐธรรมนูญและสากลนานาประเทศเสียหาย ฉะนั้นจะเห็นว่ากระบวนการล้มล้างการปกครองได้เกิดขึ้นแล้ว แม้กระทั่งในสภาผู้แทนราษฎร ของส.ส โดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทย ขณะนี้อยู่ ระหว่างการรวบรวมเพื่อยื่นต่อ ป.ป.ช.อยากให้ส.ส.- สว. ตระหนักถึงประชาธิปไตย หลักสิทธิเสรีภาพของประชาชน ต้องทำหน้าที่ปกป้องตรงนี้ด้วย ไม่ใช่แค่อ่านกฎหมายและวินิจฉัยไปในทางที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อระบบประชาธิปไตย
"ขอให้ส.ว.ยอมรับ ผลของการกระทำสิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้ไม่ใช่การคุกคามหรือไล่ล่าแม่มด การที่มีคนไปกดกริ่งหน้าบ้าน หรือประกาศ แบนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับส.ว.ทั้งหมด เป็นการแสดงออกด้วยสันติวิธี" นายสมยศ กล่าว
นายสมยศกล่าวต่อว่าในวันที่ 19 ก.คจะมีการแต่งชุดดำและ จัดกิจกรรมฌาปนกิจศพส.ว. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เวลา 17.00 น. เราขอประกาศ ศึกกับองค์กรอิสระ ทั้งกกตและศาลรัฐธรรมนูญโดยใช้สิทธิ์ในการชุมนุม นำเสนอความคิดเห็นของประชาชน ไม่ปล่อยให้องค์กรเหล่านี้ทำตามอำเภอใจเพื่อตอบสนองต่อเผด็จการ ย้ำว่านี่เป็นภาระหน้าที่ของประชาชนที่จะผลักดันให้เกิดกระบวนการประชาธิปไตยไม่ปล่อยให้ 8 พรรคการเมืองดำเนินการต่อฝ่ายเดียวและขอเรียกร้องให้ 8 พรรคการเมืองเหนียวแน่นยืนหยัดไปด้วยกันเพื่อกำจัดอำนาจเผด็จการ และเดินไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ได้สั่งเตรียมรถฉีดน้ำแรงดันสูง หรือจีโน่ และรถเติมน้ำ พร้อมรถบรรทุกควบคุมผู้ต้องหาขนาดใหญ่ 2 คัน มาจอดสแตนบายไว้ เพื่อรอรับมือสถานการณ์หากมีการชุมนุมในวันที่ 19 ก.ค.นี้ ซึ่งคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะมีการประชุมพิจารณาว่าจะรับคำร้องที่กกต. ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่า สมาชิกภาพของส.ส.ของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ และหากศาลฯ มีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยแล้ว จะมีคำสั่งให้นายพิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ส.ส.ไว้หรือไม่