ปชป.นัดถกส.ส.ก่อนโหวตนายกฯพรุ่งนี้ "ราเมศ"เชื่อเสนอชื่อ"พิธา"รอบ2ไม่ได้
ปชป.นัดถกส.ส.ก่อนโหวตนายกฯพรุ่งนี้ "ราเมศ"เชื่อเสนอชื่อ"พิธา"รอบ2ไม่ได้ มั่นใจปมเสนอญัตติตามข้อบังคับข้อที่ 41 "ประธานรัฐสภา" ไม่ใช้ดุลพินิ โยน หาข้อสรุปที่การโหวตในที่ประชุม
นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวถึง กรณีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในครั้งที่ 2 นี้ว่า ในส่วนของพรรคคงต้องรอมติพรรคว่าจะออกมาเช่นไร โดยหลักในส่วนของพรรคมีความชัดเจนว่าการดำเนินการดังกล่าวต้องยึดมติพรรคเป็นที่ตั้ง ซึ่งจะมีการประชุมในวันพรุ่งนี้(19ก.ค.)
สำหรับในส่วนของการประชุมร่วมรัฐสภา เชื่อว่าจะมีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง เพราะก่อนที่จะดำเนินการในการเลือกนายกรัฐมนตรี ประเด็นแรกที่ต้องมีการวินิจฉัยคือ การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีต่อที่ประชุมรัฐสภาถือว่าเป็นญัตติที่อยู่ภายใต้ความหมายของญัตติตามข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภาหรือไม่ ถ้าเป็นญัตติก็ต้องอยู่ภายใต้ข้อบังคับข้อที่ 41 ที่ญัตติใดที่ตกไปแล้ว ห้ามนำญัตติซึ่งมีหลักการเช่นเดียวกันขึ้นเสนออีก เว้นแต่ญัตตินั้นจะยังไม่ได้ลงมติ หรือญัตติที่ประธานรัฐสภาอนุญาต กรณีพิจารณาแล้วเห็นว่าเหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป
ซึ่งประเด็นนี้ก็เชื่อว่าจะมีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ท้ายที่สุดเชื่อว่าหากหาข้อยุติไม่ได้ประธานรัฐสภาก็จะไม่วินิจฉัย แล้วให้ที่ประชุมร่วมได้พิจารณาเพื่อลงมติว่าจะให้ญัตติการเสนอชื่อนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี สามารถเสนอเป็นครั้งที่สองได้หรือไม่
นายราเมศกล่าวว่า ในความเห็นส่วนตัวเห็นว่าญัตติเสนอชื่อนายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 ก.ค. ที่ผ่านมา ถือได้ว่าเป็นญัตติตามความหมายของข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภา เหตุผลที่จะมารองรับคือ การเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ได้ปรากฏอยู่ในหมวดที่ 2 ส่วนที่ 2 ว่าด้วยเรื่องการเสนอญัตติ ในข้อที่ 36 ที่ได้ระบุกรณีญัตติที่ไม่ต้องเสนอล่วงหน้าเป็นหนังสือให้ผู้รับรองญัตติแสดงการรับรองโดยวิธียกมือขึ้นพ้นศรีษะ
เว้นแต่การรับรองเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีตามข้อ 136 แสดงให้เห็นว่าการเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีถือได้ว่าเป็นญัตติตามความหมายของข้อบังคับเพราะได้กำหนดเรื่องการรับรองการเสนอชื่อบุคคลให้เป็นไปตามข้อ 136
นายราเมศกล่าวต่อว่า เมื่อข้อเท็จจริงและข้อบังคับเห็นได้ว่าญัตติที่ได้เสนอนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี ญัตตินั้นไม่ตกไปแล้วหากจะนำญัตติซึ่งมีหลักการเช่นเดียวกันขึ้นเสนอต่อที่ประชุมร่วมอีกไม่ได้และข้อเท็จจริงก็มีความชัดเจนว่าญัตติที่จะมีการเสนอนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีในวันที่ 19 ก.ค. ที่ผ่านมา ถือได้ว่ามีหลักการคือเสนอนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีเช่นเดียวกัน กับญัตติที่เสนอนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 ก.ค. ที่ผ่านมา
โดยความเห็นส่วนตัวเห็นว่าจะนำชื่อนายพิธาเสนอชื่อต่อรัฐสภาอีกไม่ได้เพราะถือว่าได้ตกไปแล้ว เว้นแต่จะมีการเสนอชื่อบุคคลอื่น ๆ เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อมีการเสนอชื่อบุคคลอื่น ๆ ก็ถือได้ว่าสาระสำคัญและหลักการได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ย้ำว่าญัตติเสนอนายกรัฐมนตรีไม่ใช่ว่าจะเสนอไม่ได้อีกต่อไป เมื่อมีการเสนอชื่อคนอื่นก็ถือว่าเป็นญัตติที่ไม่ได้มีหลักการเดียวกัน ในหลักการเรื่องการห้ามพิจารณาซ้ำ มีหลักการเช่นเดียวกันนี้ทั้งในกระบวนการพิจารณาคดีของอำนาจตุลาการ และของฝ่ายบริหารที่บังคับใช้กฎหมายเช่นเดียวกัน
แต่ท้ายที่สุดก็เป็นหน้าที่ของที่ประชุมร่วมรัฐสภา แต่หากมีการวินิจฉัยที่ผิดพลาดขึ้นมาแล้วมีผู้ไปร้องต่อ ปปช. ก็อาจจะเป็นประเด็นขึ้นมาได้ เนื่องจากการทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา ก็อยู่ภายใต้การตรวจสอบเช่นกันในเรื่องของการทำหน้าที่ รวมไปถึงจริยธรรม