‘พิธา’ ลั่น ‘ก้าวไกล-พท.’ ลงเรือลำเดียวกัน หวั่นยังไม่สรุปชงชื่อชิงนายกฯ

‘พิธา’ ลั่น ‘ก้าวไกล-พท.’ ลงเรือลำเดียวกัน หวั่นยังไม่สรุปชงชื่อชิงนายกฯ

‘พิธา’ เหตุวิป 3 ฝ่ายยังไม่มีข้อสรุปชงชื่อตัวเองชิงเก้าอี้นายกฯหรือไม่ เผยถ้าเป็นการเสนอญัตติซ้ำ หวังสกัดคนเดียว ยันแก้ ม.272 ไม่ได้ทำเพราะอารมณ์ มอง ‘ก้าวไกล-เพื่อไทย’ ลงเรือลำเดียวกันแล้ว จัดตั้งรัฐบาลของประชาชน ปัดคุย ‘ภูมิใจไทย’

เมื่อวันที่ 18 ก.ค.2566 ที่รัฐสภา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค ให้สัมภาษณ์ถึงความกังวลเนื่องจากการประชุมจากคณะกรรมการประสานงาน (วิป) ทั้ง 3 ฝ่ายยังไม่มีข้อสรุป เสนอตัวเองเป็นนายกรัฐมนตรี ว่า ยังไม่ได้ติดตามรายละเอียด วันนี้จะมีการประชุม ส.ส.ของพรรคก้าวไกล จะมาฟังว่าผลการเจรจาของวิปทั้งสามฝ่าย เป็นอย่างไร 
    
นายพิธา กล่าวอีกว่า ในเรื่องของข้อบังคับคดีต่าง ๆ ซึ่งตนยังไม่ทราบรายละเอียดจึงไม่ทราบว่าจะต้องกังวลหรือไม่ แต่เมื่อวาน (17ก.ค.) นี้ ที่มีการประชุม 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ได้มีการอธิบายในเรื่องของกฎหมายไว้หลายข้อ ซึ่งทางฝ่ายกฎหมายของแต่ละพรรคได้ถกกัน ในเรื่องของรัฐธรรมนูญ เช่นญัตติข้อบังคับมาตรา 151 ดังนั้นจึงต้องมีการพูดคุยกันในรายละเอียดในที่ประชุมอีกที
    
เมื่อถามว่า เสียงที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญจะต้องมีจำนวนเท่าไหร่ นายพิธา กล่าวว่า หากเพิ่มขึ้น 10 เปอร์เซนต์ หรือ 345-350 เสียง ก็เป็นทิศทางที่ดี

นายพิธา กล่าวด้วยว่า ส่วนการแก้ไขมาตรา 272 ที่ดำเนินโดยพรรคก้าวไกลเอง อย่างที่เคยกล่าวไปว่า ไม่ได้เป็นการตัดสินใจด้วยอารมณ์ หรือเป็นการถ่วงเวลา แต่เป็นการตัดสินใจด้วยสถิติ

เมื่อถามว่า หากทางพรรคก้าวไกลจะเปิดทางให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลพรรคก้าวไกลจะต้องแถลงด้วยตนเองก่อนหรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า เมื่อถึงเวลาก็ต้องเป็นอย่างนั้น
    
เมื่อถามอีกว่า มีความเห็นอย่างไร ที่ทางพรรคเพื่อไทย ได้ระบุว่าจะต้องมีแผนสำรอง ในการส่งชื่อแคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทย นายพิธา กล่าวว่า ตนยังไม่เห็นสถานการณ์ที่มีความจำเป็นที่จะต้องทำเช่นนั้น ตนติดให้สัมภาษณ์สื่อตั้งแต่ช่วงเช้าจึงยังไม่ได้ดูในรายละเอียด

เมื่อถามว่าการแก้ไข เอ็มโอยู จะต้องอยู่ภายใต้กรอบอะไรหรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า ตอนนี้เอ็มโอยู ยังเหมือนเดิมอยู่ และยังไม่ได้รับการติดต่อจากพรรคไหนว่าให้มีการแก้

เมื่อถามอีกว่า ในการโหวตนายกฯ รอบ2 แม้เสียงคะแนนเสียงเพิ่มขึ้น แต่ยังคงไม่ผ่าน ยืนยันว่าจะเดินหน้าต่อใช่หรือไม่ นายพิธากล่าวว่า หากได้ผลลัพธ์ เราก็สามารถปรับยุทธศาสตร์ได้เรื่อยๆ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์อย่างที่ต้องการ หากไม่ได้ผลลัพธ์อะไรก็แสดงว่ายุทธศาสตร์ที่ผ่านมา ไม่สามารถต้านแรงสกัดได้ ก็ต้องยอมให้ประเทศชาติเดินหน้าไปต่อได้

ส่วนกรณีหากมีการลดเพดานการแก้ไขมาตรา 112 อาจจะทำได้ให้ได้เสียงสนับสนุนที่เพิ่มขึ้น นายพิธา กล่าวว่า จากการอภิปรายวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา ทั้งจากทางส.ว. และพรรคก้าวไกล ทำให้เห็นภาพได้มากขึ้น บางคนก็เห็นว่าเป็นเรื่องของความยืดหยุ่นมากกว่า ว่าตกลงใครเป็นคนฟ้องเพื่อให้ถูกเป้าหมายเดียวกัน รวมถึงเพื่อไม่ให้ใครนำมาตราดังกล่าวมารังแกคนอื่นได้ ซึ่งการถกเถียงกันก็ทำให้เราเข้าใกล้กันมากขึ้น ไม่ใช่แค่จะแก้หรือไม่แก้ แต่เป็นเรื่องรายละเอียดแต่ละข้อที่หลายคนกังวลใจ ตนมองว่ามีความคืบหน้ามากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจในสังคมไทย
    
ส่วนที่มีกระแสข่าวจะเสนอมาตรา 41 กังวลใจหรือไม่ว่าไม่ให้เสนอญัตติซ้ำ จะทำให้ไม่สามารถเสนอชื่อตนได้อีกรอบนั้น นายพิธา กล่าวว่า กังวลใจถ้าจะทำเช่นนี้เพื่อสกัดกั้นตนคนเดียว และให้เป็นเรื่องของระบบทั้งหมด หากมัดตนและพรรคก้าวไกล ก็จะมัดพรรคอื่นๆ ด้วย หากเป็นในเชิงรัฐศาสตร์ ต่อไปนี้ไม่ว่าจะเป็นคนที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่จะต้องมีการเสนอชื่อ หากเป็นญัตติหมด ไม่ว่าจะเป็นฝั่งศาล ฝ่ายบริหาร หรือสภา แล้วโดนบังคับเช่นนี้หมด ก็จะเป็นการผูกที่แก้มัดได้ยากมาก และจะเป็นปัญหาต่อผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไปในอนาคต

เมื่อถามว่า ที่มีความพยายามสลับขั้วเพื่อ ให้ฝั่งตรงข้ามมาเป็นรัฐบาล นายพิธา กล่าวว่า ตนไม่สามารถฟันธงได้ แต่จะทำแค่สกัดกั้นตนให้หมดสิทธิ์ในการโหวตนายกรัฐมนตรี เป็นสิ่งที่ไม่น่าทำ

เมื่อถามว่ามีการ ปรับเอ็มโอยูเพื่อดึงพรรคที่ 9 และ 10 เข้ามาร่วมนั้น มีเงื่อนไขอย่างไรบ้าง นายพิธากล่าวว่า ยังไม่ได้มีการพูดคุยกัน ในเรื่องแบบนั้นเท่าที่ทราบก็เป็นไปอย่างที่แถลงเมื่อวาน แต่ในตอนนี้ไม่ได้มีความคืบหน้าอะไร

เมื่อถามว่าหากพรรคขั้วรัฐบาลเดิมยอมโหวตให้ จะมีการร่วมงานกันหรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า ต้องพูดคุยกันอีกครั้งนึง

เมื่อถามอีกว่าหากพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลพรรคก้าวไกลจะต้องอยู่ในสมการเดียวกันหรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า นั่นคือสิ่งที่ประชาชนต้องการ ในเมื่อเป็นรัฐบาล ที่จัดตั้งโดย 8 พรรค มีเอ็มโอยูชัดเจน เราทำงานกันมาถึงขนาดนี้ ในฐานะที่ตนเป็นพรรคอันดับหนึ่งไม่สามารถไปต่อได้ ก็จะต้องส่งไม้ต่อให้พรรคอันดับสอง ตนมองว่าเราลงเรือลำเดียวกันเพื่อจัดตั้งรัฐบาลความหวังของประชาชน

ส่วนจะมีการนำข้อเสนอของพรรคภูมิใจไทยไปพิจารณาหรือไม่ ในกรณีการลดเพดานมาตรา 112 นายพิธา กล่าวว่า ตนไม่ทราบว่าข้อเสนอนั้นจบไปแล้วหรือไม่ แต่ถ้าจบไปแล้วก็เป็นข้อเสนอที่จบไปแล้ว ก็คง ไม่เป็นข้อเสนอที่เหลืออยู่ของพรรคภูมิใจไทย

เมื่อถามย้ำว่าเป็นโค้งสุดท้ายก่อนการโหวตนายกแล้วจะมีการไปคุยกับพรรคภูมิใจไทยหรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า คงไม่จำเป็น