“4 ฉากทัศน์” รัฐบาลข้ามขั้ว วัดใจ "เพื่อไทย" โดดเดี่ยว "ก้าวไกล"
ฉากทัศน์ทางการเมืองที่มีเก้าอี้นายกฯเป็นเดิมพัน จะสะท้อนถึงจุดยืนทางการเมือง การจับขั้วทางการเมืองรอบใหม่ ซึ่งทั้งหมดอยู่ที่ “ทักษิณ-แพทองธาร-เพื่อไทย”จะเลือกยืนอยู่จุดใด
วันนี้นัดหมายโหวตเลือกผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรอบสอง ขั้ว 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล เตรียมเสนอชื่อ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล แคนดิเดตนายกฯ เข้าสู่สมรภูมิโหวตอีกครั้ง ภายหลังต้องพ่ายยกแรกเมื่อวันที่ 13 ก.ค.
โดย “ขั้ว 188 เสียง” จะผนึกกำลังกับ “ขั้ว ส.ว.” เบรกชื่อ “พิธา” ไม่ให้เข้าสู่การโหวตเลือกนายกฯหนสอง เตรียมยกข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อที่ 41 โดยสรุปคือญัตติใดก็ตาม หากโดนตีตกไปแล้วจะไม่สามารถยื่นญัตติให้ที่ประชุมพิจารณาได้อีก
ทำให้ “พิธา-ก้าวไกล” ต้องลุ้นตั้งแต่เปิดประชุมรัฐสภาว่าเกมของ “ขั้ว 188 - ส.ว.” จะมีน้ำหนักมากพอหรือไม่ โดยมีกระแสข่าวว่า “ขุนพล” บางคน มีคำวินิจฉัยของ “ศาลรัฐธรรมนูญ-ผู้ตรวจการแผ่นดิน” ที่พอจะใกล้เคียงกับญัตติโหวตเลือกนายกฯ มาเป็นบรรทัดฐานในสภา เพื่อสกัด “พิธา”
นอกจากนี้ในวันนี้ “พิธา” ยังต้องรอลุ้น ศาลรัฐธรรมนูญ จะมีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับ 2 คดี บ่วงกรรมของตัวเอง 1.คดีถือหุ้นบริษัทไอทีวี จำกัด มหาชน โดยจะวินิจฉัยคุณสมบัติ ส.ส. พร้อมลุ้นว่าจะสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. หรือไม่ 2.คดีใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มาหาเสียง จะมีผลกระทบต่อ “ก้าวไกล” มากน้อยเพียงใด
เส้นทางของ “พิธา” ในการก้าวไปสู่ฝัน ก้าวไปให้ถึงเก้าอี้นายกฯ ค่อนข้างยากลำบาก มีอุปสรรคหลายด่านต้องฝ่าฟันไปให้ได้ ซึ่งดูแล้วค่อนข้างมืดมนพอสควร
“กรุงเทพธุรกิจ” รวบรวม 4 ฉากทัศน์ในการจัดตั้งรัฐบาล ทุกฉากทัศน์ล้วนมีความเป็นไปได้มากน้อยแตกต่างกัน เนื่องจากปัจจัยของการโหวตเลือกนายกฯ ที่มี 250 ส.ว.เป็นตัวแปรหลัก
ฉากทัศน์แรก 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ยืนยันเสนอชื่อ “พิธา” นั่งนายกฯ แม้เสียงของ ส.ส. 311 (ตัดเสียงโหวต นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ออก) จะมีเกินกึ่งหนึ่งของเสียง ส.ส. สามารถขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลได้ แต่รัฐธรรมนูญในบทเฉพาะกาล เขียนล็อกต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของที่ประชุมรัฐสภา โดย 250 ส.ว. ร่วมลงคะแนนด้วย
จึงทำให้ ขั้ว 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ต้องการเสียง 376 เสียง แต่ในการโหวตรอบแรกมีเสียง ส.ว. มาช่วยลงคะแนนให้เพียง 13 เสียง ขาดอีก 52 เสียง จึงจะฝ่าด่านไปได้
โจทย์ของ “พิธา-ก้าวไกล” แม้จะพยายามเปิดดีล ส.ว. แต่ยากที่จะผ่านกำแพงเหล็กไปได้ แถมเสียงขั้ว 188 เสียง ชิงประกาศจุดยืนไม่สนับสนุน “พิธา-ก้าวไกล” เนื่องจากมีนโยบายแก้ไข ม.112
ทำให้ระยะเวลาโหวตเลือกนายกฯ รอบสอง ซึ่งห่างจากการโหวตเลือกนายกฯ รอบแรกเพียงแค่ 6 วัน จึงค่อนข้างยากที่จะรวบรวมเสียงให้มีเพิ่มมากขึ้นได้ ที่น่ากังวลกว่า คือการรักษา 13 เสียงของ ส.ว. ที่มีโอกาสไม่โหวต-ไม่มาโหวต ให้ “พิธา” ได้เช่นกัน
เมื่อประเมินสถานการณ์รอบด้านแล้ว “พิธา” จึงยากที่จะไปต่อ และมีโอกาสสูงที่จะต้องส่งไม้ต่อให้ “เพื่อไทย” ในการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เนื่องจากที่ประชุมขั้ว 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล สัญญากันแล้วว่าหากคะแนนของ “พิธา” ไม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หรืออย่างน้อยร้อยละ 10 จะถ่ายโอนให้ “เพื่อไทย” จัดตั้งรัฐบาล
ฉากทัศน์สอง ขั้ว 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ยังจับมือกันเหนียวแน่น โดยพรรคเพื่อไทยจะเสนอชื่อ “เสี่ยนิด” เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ เข้าโหวตในที่ประชุมร่วมรัฐบาล
โดยมี 311 เสียง + 13 ส.ว. ต้องหาอีก 52 เสียง อย่างไรก็ตาม “เพื่อไทย” พอมีพาวเวอร์มากพอที่จะกล่อม ส.ว. ให้มาช่วยลงคะแนนให้ “เศรษฐา” แต่เงื่อนไขหลักยังติดอยู่ที่การมี “ก้าวไกล” อยู่ร่วมขั้วรัฐบาล ซึ่ง ส.ว. ประกาศชัดเจนแล้วว่าจะไม่โหวตให้ทั้ง “พิธา” และ “ก้าวไกล”
ที่สำคัญ “เครือข่ายอำนาจเก่า” ไม่ต้องการให้ “ก้าวไกล” อยู่ในสมการขั้วรัฐบาล จึงอาจจำเป็นต้องกดรีโมทสั่ง ส.ว. ซ้ายหัน-ขวาหัน อีกรอบ เพื่อสกัดกั้น
ฉากทัศน์สาม สลับชื่อจาก “เศรษฐา” มาเสนอชื่อ “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย โดยโจทย์จะเหมือนกับกรณีของ “เศรษฐา” โดยมี 311 เสียง + 13 ส.ว. ต้องหาอีก 52 เสียง
แต่ชื่อของ “แพทองธาร” แตกต่างจาก “เศรษฐา” ตรงที่สามารถเชื่อมคอนเนกชั่นทางการเมืองกับหลายขั้ว-หลายกลุ่มได้ โดยมี “บิ๊กเนม” คอยช่วยเหลือเกื้อหนุน และสามารถคอนโทรล “ส.ส.เพื่อไทย” ไม่ให้แตกแถวได้
พร้อมทั้งเปิดโอกาสดึง “ขั้ว 188 เสียง” บางพรรคมาเพิ่มเติมเสียงที่ขาด โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) 25 เสียง พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) 10 เสียง รวม 35 เสียง ซึ่งหากได้เสียงจาก ปชป.-ชทพ. มาจริง “แพทองธาร-เพื่อไทย” จะต้องหาเสียงจาก ส.ว. มาเพิ่มอีกเพียง 17 เสียงเท่านั้น
ทว่าหาก “แพทองธาร” ไม่สลัด “ก้าวไกล” ทิ้งก่อนเข้าสู่เกมโหวต สูตรจัดตั้งรัฐบาลในฝัน “เพื่อไทย-ก้าวไกล” ก็ยากที่จะไปให้ถึงฝั่งฝัน เพราะเงื่อนไขของ “ปชป.-ชทพ.” ไม่ต้องการอยู่ร่วมขั้วกับ “ก้าวไกล”
ฉากทัศน์สี่ “เพื่อไทย”ตัดขาด“ก้าวไกล” จับขั้วจัดตั้งรัฐบาลใหม่ โดยนำ 141 เสียง ไปผนึกกับฝั่ง 188 เสียง จะได้ขั้วจัดตั้งรัฐบาล 329 เสียง ซึ่งจะต้องการเสียง ส.ว. มาโหวตสนับสนุนเพียง 47 เสียงเท่านั้น
โดยคาดว่าเสียง ส.ว. จะโหวตให้ “เพื่อไทย-ขั้ว 188 เสียง” อย่างถล่มทลาย เนื่องจากโจทย์ของ ส.ว. โฟกัสอยู่ที่ “ก้าวไกล” ที่ต้องกีดกันทุกวิถีทางไม่ให้ “พรรคสีส้ม” เข้าสู่อำนาจ
แต่เดิมพันของ “เพื่อไทย” สูงลิบ เพราะการโดดเดี่ยว “ก้าวไกล” ให้เป็น “ฝ่ายค้าน” ถูกประณามจากแฟนคลับ “ขั้วประชาธิปไตย” ซึ่งจะทำให้แต้มการเมืองของ “เพื่อไทย” ลดน้อยถอยลง
ดังนั้นต้องวัดใจ “โทนี่” ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และ “ขุนพลเพื่อไทย” จะเลือกเดินต่อกับ “ก้าวไกล” แต่จะเผชิญศึกรอบด้านกับ “ขั้วอำนาจเก่า” หรือจะเลือกโดดเดี่ยว “ก้าวไกล” สมคบคิดกับ “ขั้วอำนาจเก่า” เพื่อกรุยทางกลับบ้าน
ฉากทัศน์ทางการเมืองที่มีเก้าอี้นายกฯเป็นเดิมพัน จะสะท้อนถึงจุดยืนทางการเมือง การจับขั้วทางการเมืองรอบใหม่ ซึ่งทั้งหมดอยู่ที่ “ทักษิณ-แพทองธาร-เพื่อไทย”จะเลือกยืนอยู่จุดใด