ด่วน! ศาล รธน.รับคำร้อง กกต.คดีหุ้น itv สั่ง ‘พิธา’ หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.
ด่วน! ศาล รธน.รับคำร้อง กกต.คดีถือหุ้น itv ‘พิธา’ สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ด้วย นับตั้งแต่ 19 ก.ค.เป็นต้นไป จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย
เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2566 ศาลรัฐธรรมนูญ ประชุมปรึกษาคดีที่สำคัญและเป็นที่สนใจ เรื่องพิจารณาที่ 23/2566 กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่
โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ร้อง ส่งคำร้องขอให้พิจารณาวินิจฉัยกรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้ถูกร้อง เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น itv ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อสารมวลชนใด ๆ อยู่ในวันที่สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ เป็นเหตุให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) พร้อมกับขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องว่างลงนับแต่ วันที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยให้แก่คู่กรณีฟังตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 115 วรรคหนึ่ง (2)
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้ว มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสี่ประกอบวรรคหนึ่งและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 7 (5)จึงสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย และให้ผู้ถูกร้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 54
สำหรับคำขอของผู้ร้องที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก (7 ต่อ 2) เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องปรากฎเหตุอันควรสงสัยว่ามีกรณีตามที่ถูกร้อง ประกอบกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกร้องอาจก่อให้เกิดปัญหาข้อกฎหมายและการคัดค้านโต้แย้งเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานสำคัญของที่ประชุมรัฐสภาและที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ จึงมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2566 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย