ส.ส.ก้าวไกล ประสานเสียงยัน ‘พิธา’ ยังมีสถานะเป็นแคนดิเดตนายกฯ

ส.ส.ก้าวไกล ประสานเสียงยัน ‘พิธา’ ยังมีสถานะเป็นแคนดิเดตนายกฯ

ส.ส.ก้าวไกล ประสานเสียงยืนยัน ‘พิธา’ ยังมีสถานะเป็นแคนดิเดตนายกฯ แม้ถูกศาล รธน.มติเอกฉันท์รับคำร้อง กกต.กล่าวหาถือครองหุ้น itv เป็นกิจการสื่อ พร้อมมีมติเสียงข้างมาก 7:2 สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.

จากกรณีเมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2566 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ รับคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กรณีกล่าวหานายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค ว่า สมาชิกภาพของ ส.ส.สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ พร้อมกับมีมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 เสียงสั่งให้นายพิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. กรณีการถือครองหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น itv เป็นกิจการสื่อสารมวลชนหรือไม่นั้น
    
ล่าสุด ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติดังกล่าว ส.ส.พรรคก้าวไกล หลายคนได้เคลื่อนไหวผ่านโซเชียลมีเดีย ยืนยันว่า แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งให้นายพิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. แล้ว แต่ยังมีสถานะเป็นแคนดิเดตนายกฯ ได้

เช่น นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ทวิตข้อความผ่านทวิตเตอร์ว่า “ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องคดีคุณพิธาถูกกล่าวหาว่าถือหุ้นสื่อ ITV และมีคำสั่งให้คุณพิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ชั่วคราว จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย อย่างไรก็ตาม ตามกฎหมาย พิธายังสามารถเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีได้อยู่”

นายกรุณพล เทียนสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ทวิตว่า “หยุดปฏิบัติหน้าที่ผู้แทนปวงชนชาวไทย แต่ไม่ได้ตัดสิทธิผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย อย่าเปลี่ยนใจ อย่าหมดไฟ อย่าหยุดฝัน กาก้าวไกลประเทศไทยไม่เหมือนเดิม อะไรที่ไม่คิดว่าจะได้เห็นก็ได้เห็น”

ส่วน น.ส.เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ทวิตข้อความถึงกรณีดังกล่าวว่า “ถึงแม้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งให้คุณพิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ชั่วคราว แต่ตามกฎหมายแล้ว คุณพิธายังสามารถเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีได้อยู่”

ส.ส.ก้าวไกล ประสานเสียงยัน ‘พิธา’ ยังมีสถานะเป็นแคนดิเดตนายกฯ

ขณะที่ พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ ยืนยันว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ชั่วคราว จากกรณีหุ้นสื่อ ITV อย่างไรก็ตาม ตามกฎหมาย พิธายังสามารถเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีอยู่ แต่สถานการณ์ในที่ประชุมรัฐสภาไม่สู้ดี เนื่องจากมีการถกเถียงกันในเรื่องข้อบังคับการประชุมว่าจะสามารถเสนอชื่อพิธาให้รัฐสภาพิจารณาอีกครั้งได้หรือไม่ หลังจากไม่ได้รับเสียงเพียงพอในการประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2566