'จาตุรนต์' โต้รัฐสภาสวนทางมติประชาชนหวั่นเปิดหนทางสู่ 'นายกฯคนนอก'
'จาตุรนต์' โต้เดือดจัดรัฐสภาสวนทางมติประชาชน หวัง ส.ว. ดวงตาเห็นธรรม ก่อนประเทศถึงจุดวิกฤต โวยข้อบังคับสภาใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ เปิดหนทางอันตรายสู่ 'นายกฯคนนอก'
นายจาตุรนต์ ฉายแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และแกนนำพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ หลังที่ประชุมรัฐสภามีมติตีตก ญัตติ ที่โหวต นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี ว่า มติที่ประชุมรัฐสภา เป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ผิด ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญการทำแบบนี้ เสมือนเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยลักษณะต้องห้าม ของผู้ที่จะเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ซึ่งทำให้แคนดิเดตคนไหนเมื่อได้รับการเสนอชื่อแล้ว ไม่ได้รับการรับรอง ก็จะไม่สามารถเสนอชื่อได้อีกในการประชุมครั้งหน้า เป็นการทำลายบทบัญญัติ มาตรา 272 และมาตรา 159 ของรัฐธรรมนูญปี 60 และทำลายข้อบังคับที่ 136
นายจาตุรนต์ยังมองว่า การโหวตในลักษณะแบบนี้ เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงในระยะยาว เพราะเป็นการสร้างบรรทัดฐานผิดๆในการเลือกนายกรัฐมนตรี อาจจะทำให้การเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งหน้าประสบปัญหา กลายเป็นทางตันของประเทศ ถ้าหากครั้งหน้าแคนดิเดตนายกเสนอแล้วไม่ผ่านก็จะไหลแบบนี้ไปเรื่อยๆ กลายเป็นว่า เปิดทางให้มีการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากคนนอก แต่ก็ยังมีข้อกำหนดว่าหากเสียงในรัฐสภาไม่ถึง 500 ก็จะไม่สามารถเสนอรายชื่อนายกฯคนนอกได้
"ยอมรับว่ามีข้อกังวล การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีกับกลายเป็นญัตติที่ถูกตีตกไป จะทำให้เรามาถึงจุดที่หานายกรัฐมนตรีไม่ได้ 1 สมัยการประชุม ซึ่งแน่นอนว่าขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้สภาเป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งสภามีหน้าที่ต้องทำแบบนั้น แต่ทั้งนี้ส่วนตัวตนก็มองว่าไม่จำเป็นต้องไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย"
ทั้งนี้ผลการลงมติในวันนี้ เพราะเชื่อว่ารัฐสภายังคงสามารถแก้ไขปัญหากันเองได้ แต่ถ้าหากเป็นแบบนี้บ่อยๆ ไม่ว่าจะกี่ครั้งก็ตาม จะเป็นผลเสียต่อบ้านเมืองมากกว่า การโหวตครั้งนี้ทำให้ยืนยันว่า เสียงข้างมากของรัฐสภาส่วนใหญ่นั้น เป็นผู้ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง มาจากการแต่งตั้ง โดยคณะรัฐประหาร เป็นการลงมติที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เป็นการแสดงถึงการไม่เคารพเสียงของประชาชน ที่ได้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งไปเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา
"แต่ส.ส 8 พรรคฝ่ายร่วมจัดตั้งรัฐบาลแสดงให้เห็นถึงเสียงของประชาชนที่เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากความต้องการของประชาชน แต่ส.ว. ก็มาหักล้างไป และนี่ถือว่าเป็นการหักล้างเจตนารมณ์ของประชาชนส่วนใหญ่ด้วย ซึ่งจะนำมาสู่วิกฤตการเมืองในอนาคต"
เมื่อถามว่าผลการโหวตในวันนี้จะเป็นบรรทัดฐานในการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยหรือไม่ นายจาตุรนต์ตอบว่าใครที่จะเสนอรายชื่อแคนดิเดตคนต่อไปในกรณีนี้แน่นอนว่าเป็นพรรคเพื่อไทย ก็จะเจอปัญหาถ้าหากเสี่ยงไม่พอ ซึ่งจะไม่สามารถโหวตต่อได้ ส่วนพรรคที่ไม่เห็นด้วยก็จะไม่มีการเสนอใครขึ้นมาแข่ง จะเสนออีกก็ไม่ได้และทำให้เปิดทาง และไหลไปให้นายกฯคนนอกได้ ซึ่งพรรคเพื่อไทยอาจจะต้องคิดหนัก เพราะเหมือนเจอสถานการณ์ที่บีบคั้น
โดยต้องรวมเสียงให้ได้มากกว่าครึ่งหนึ่งเพื่อเห็นชอบ เว้นแต่จะมีการเปลี่ยนแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีไปเรื่อยๆซึ่งยอมรับว่าเป็นปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งต่อจากนี้ไปก็จะกลายเป็นปัญหาบานปลายและลุกลาม เช่น การเสนอชื่อคนที่ไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชน การเสนอชื่อบุคคลภายนอกสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น ไม่มีใครรับรองได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เพราะการลงมติครั้งนี้เป็นการใช้เสียงข้างมาก ไปหักล้างเจตนารมณ์ของประชาชน
ส่วนการประชุมในวันนี้จะทำให้พรรคเพื่อไทยเปลี่ยนสูตรการจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ นายจตุรนต์ มองว่า ยังไม่สามารถให้ความเห็นตอนนี้เลยได้ ขณะนี้แกนนำพักยังคงพิจารณาเรื่องนี้อยู่ และต่อไปจะมีการหารือภายใน 8 พรรค ส่วนจะมีพรรคอื่นมาร่วมจัดตั้งรัฐบาลด้วยหรือไม่นั้น ยังต้องรอการหารือภายในพรรคก่อน และจะต้องดูว่าพรรคก้าวไกล จะเป็นคนเสนอเปลี่ยนให้พรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ ซึ่งการหารือนั้นจะเป็นการรวบรัดไปถึงการหาแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ซึ่งที่หารือกันนั้น จะต้องฟังความคิดคิดเห็นทั้ง 7 พรรคด้วย
เมื่อถามว่ากังวลหรือไม่เพราะหลังเหตุการณ์นี้ ทัวร์ก็มาลงที่พรรคเพื่อไทยทันที นายจาตุรนต์ เลี่ยงตอบคำถามนี้ แต่ได้อธิบายว่าเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภานั้น เป็นเสียงของ ส.ว. ซึ่งเห็นได้ชัดว่ามีฝ่ายไหนบ้าง และก็เป็นเสียงของส.ส.อีกฟากฝั่งหนึ่ง และพรรคเพื่อไทยก็ยังคงยึดตามมติของ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล เหมือนเดิม
ส่วนคะแนนที่คาดหวังในการโหวตเลือกแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยในรอบหน้า ยังคงคาดหวังคะแนนจาก ส.ว.อยู่หรือไม่ นายจาตุรนต์ ตอบว่า สิ่งที่ ส.ว.แสดงในวันนี้เป็นการ กระทำที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของประชาชนส่วนใหญ่ดังนั้นหากจะไปคาดหวังจาก ส.ว. นั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก และหากดูในครั้งที่แล้วก็มีการโหวตไม่เห็นชอบ และ งดออกเสียงเป็นจำนวนมาก เว้นแต่ว่าพวกเขาจะดวงตาเห็นธรรม อันนี้ก็ เป็นหน้าที่ เป็นหน้าที่ของฝ่าย 8 พรรค ที่จะไปพูดคุยและเจรจากันต่อไป ส่วนการประสานงานกับ ส.ส.พรรคอื่นๆ ก็ต้องมีการกลับไปหารือกับ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลที่ยังคง มีพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำอยู่ ณ ขณะนี้เหมือนเดิม
เมื่อถามว่าทั้งเหตุการณ์ ศาลรัฐธรรมนูญก็ดีรวมถึงการ ปัดตกญัตติ หมวดนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีก็ดีจะทำให้เป็นชนวนทำให้ประชาชนหมดความอดทนหรือไม่ นายจาตุรนต์มองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา น่าจะทำให้ประชาชนผิดหวัง และทำให้ประชาชนผิดหวังต่อการพัฒนาในด้านต่างๆ ซึ่ง ไม่เป็นผลดีต่อสถานการณ์ทางการเมืองอยู่ณขณะนี้
"อยากขอให้ทุกฝ่ายมาช่วยกันตั้งสติ ช่วยกันคิด และไม่ฝืนความรู้สึกของประชาชน และขอให้แสดงออกถึงการเคารพเกียรติของประชาชน ถ้าหากยังมีสติช่วยกันคิด ก็จะสามารถช่วยกันประคับประคองระบบรัฐสภา ให้การเลือกตั้งมีความหมายต่อไป แต่ถ้าทำให้ประชาชนผิดหวังมากๆ ก็จะทำให้เกิดวิกฤตการเมือง อย่างไรก็ตามขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันหาทางเดินหน้าไปได้ด้วยระบบรัฐสภาและการเลือกตั้ง"