เร่งตั้งรัฐบาลใหม่ แก้โจทย์เศรษฐกิจ
การเร่งตั้งรัฐบาลเข้ามานำพาประเทศให้เดินหน้าถือเป็นภารกิจเร่งด่วน การแก้ไขกติกาที่บิดเบี้ยวเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องทำ เมื่อกลไกประชาธิปไตยเข้าที่ ประเทศไทยมีรัฐบาลพลเรือนโดยสมบูรณ์ภายใต้กติกาที่เป็นธรรม การปฏิรูปเชิงโครงสร้างจะทำได้ง่ายขึ้น
โจทย์ใหญ่ของหลายประเทศวันนี้คือเรื่องของเศรษฐกิจ ตัวเลขจีดีพีจีนไตรมาสสองประกาศออกมาสัปดาห์นี้ ขยายตัว 6.3% แรงขึ้นจากระดับ 4.5% ในไตรมาส 1 แต่ตัวเลขดังกล่าวยังต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 7.3% พูดง่ายๆ ว่า เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวไม่แรงส่งผลต่อประเทศอื่นๆ ที่เหลือ โดยเฉพาะประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่หวังพึ่งพานักท่องเที่ยวจีนเป็นสำคัญ ไทยเองก็เป็นหนึ่งในนั้นที่การท่องเที่ยวเป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจตัวเดียวที่ยังทำงานเต็มสูบกว่าตัวอื่นๆ เช่น การส่งออกอ่อนแรงตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลก
เมื่อวันพุธ (19 ก.ค.) ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) เผยแพร่รายงาน Asian Development Outlook (ADO) ประจำเดือน ก.ค. พบว่า ไทยเป็นเพียงประเทศเดียวใน 6 ประเทศอาเซียนที่เอดีบีปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้ จาก 3.3% ที่เคยประเมินไว้ในเดือน เม.ย. มาอยู่ที่ 3.5% เทียบกับเมื่อปี 2565 ที่ขยายตัว 2.6% ส่วนในปี 2567 เอดีบีคาดว่า เศรษฐกิจไทยขยายตัว 3.7% ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากการประมาณการในเดือนเม.ย.
ได้ยินว่าไทยเป็นประเทศเดียวที่เอดีบีปรับเพิ่มคาดการณ์ก็ดูดี แต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียด พบว่า อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ คาดปีนี้เศรษฐกิจโต 4.8%, 4.7% และ 6.0% ตามลำดับ ไม่เปลี่ยนแปลงจากรายงานฉบับเดือน เม.ย. เวียดนามถูกลดคาดการณ์โต 5.8% ทั้งสี่ประเทศล้วนโตกว่าไทยทั้งสิ้น มีเพียงสิงคโปร์ประเทศเดียวที่คาดการณ์ว่าโตต่ำกว่าไทยที่ 1.5% จากตัวเลขที่ยกมาชี้ให้เห็นว่า เศรษฐกิจไทยยังน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะในช่วงที่การเมืองยังไม่ได้ข้อสรุป
สื่อต่างประเทศที่จับตาการเมืองไทยอย่างใกล้ชิดมาตั้งแต่วันเลือกตั้ง 14 พ.ค. ผ่านมาสองเดือนไทยยังตั้งรัฐบาลไม่ได้ และจะประชุมกันรอบใหม่ในวันที่ 27 ก.ค. ช่วงที่ยังไม่มีรัฐบาลใหม่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องรักษาการนายกรัฐมนตรีต่อไป ซึ่งรัฐบาลรักษาการนั้นจะทำนโยบายใหม่ไม่ได้ เรื่องสำคัญต้องรอรัฐบาลใหม่ตัดสินใจ ยิ่งยื้อนานเท่ากับว่าประเทศไทยยิ่งเสียโอกาส นักวิเคราะห์บางคนคาดว่า เผลอๆ การเลือกนายกฯ อาจยืดเยื้อไปถึงเดือน ส.ค. สิ่งที่กระทบแน่ๆ คืองบประมาณประจำปีที่ต้องล่าช้าออกไป ส่งผลต่อการใช้จ่ายภาครัฐ รวมถึงหากมีม็อบอาจส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว
อย่างไรก็ตาม การชุมนุมทางการเมืองเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ ช่วงนี้ใครหงุดหงิดอยากลงถนนไปยืดเส้นยืดสายกันบ้างก็ไม่ว่ากัน ม็อบไม่ได้สร้างปัญหาเท่าการจัดการม็อบของทางการที่รุนแรงเกินเหตุ แต่นอกเหนือจากการประท้วงกระบวนการในสภายังใช้การได้อยู่ไม่ถึงกับง่อยเปลี้ยเสียทีเดียว การเร่งตั้งรัฐบาลเข้ามานำพาประเทศให้เดินหน้าท่ามกลางการเมืองเศรษฐกิจโลกผันผวนถือเป็นภารกิจเร่งด่วน การแก้ไขกติกาที่บิดเบี้ยวเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องทำ เมื่อกลไกประชาธิปไตยเข้าที่ ประเทศไทยมีรัฐบาลพลเรือนโดยสมบูรณ์ภายใต้กติกาที่เป็นธรรม การปฏิรูปเชิงโครงสร้างจะทำได้ง่ายขึ้น