ธปท.ชี้ตั้งรัฐบาลช้า 'ฉุด' เชื่อมั่น!
ภาพรวมเศรษฐกิจไทย ยังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะครึ่งปีหลัง เศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยคาดว่าจีดีพีจะเติบโตได้ 4.2% จากครึ่งปีแรกที่เติบโตราว 2.9% หลัก ๆ มาจากการบริโภคในประเทศ
ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ระบุ ภาพรวมเศรษฐกิจไทย ยังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะครึ่งปีหลัง เศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยคาดว่าจีดีพีจะเติบโตได้ 4.2% จากครึ่งปีแรกที่เติบโตราว 2.9% หลัก ๆ มาจากการบริโภคในประเทศ การบริโภคเอกชนที่ฟื้นตัวได้ดี สอดคล้องกับรายได้ที่เพิ่มขึ้น และหัวใจสำคัญ มาจากภาคการท่องเที่ยว ที่คาดว่าทั้งปีจะมีนักท่องเที่ยวราว 29 ล้านคน
ดังนั้น การฟื้นของเศรษฐกิจยังคงมีต่อเนื่อง แต่เห็นความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกมากขึ้น โดยเฉพาะการชะลอตัวของจีน ที่ชะลอตัวลงกว่าที่ประเมินไว้ แต่คาดว่าจะมีผลต่อการส่งออกจำกัด เนื่องจากสิ่งเหล่านี้มีการประเมินความเสี่ยงส่งออกไว้ตั้งแต่ต้น โดยคาดส่งออกจะขยายตัวได้ในครึ่งปีหลัง จากครึ่งปีแรกที่ติดลบ
ส่วนสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน เชื่อว่าสิ่งที่นักลงทุนจับตามากที่สุด คือ ความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาล และความมีเสถียรภาพ รวมถึงนโยบายในระยะข้างหน้า ที่เป็นสิ่งสำคัญมากกว่าหน้าตาของรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม มองว่าการจัดตั้งรัฐบาลที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ หรือล่าช้า อาจไม่ได้ส่งผลกระทบมากนักต่อเศรษฐกิจไทยปีนี้ในมุมมองของธปท. เนื่องจากธปท.ได้ประเมินผลกระทบดังกล่าวไว้อยู่แล้วในการประเมินจีดีพีปีนี้ ที่คาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ในระดับ 3-4%
ส่วนหนึ่งการเบิกจ่ายภาครัฐยังสามารถเบิกจ่ายได้ภายใต้งบประมาณของไตรมาสแรกปี 2567 (ต.ค.-ธ.ค. 66) และหากดูสัดส่วนการเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐ ถือว่าไม่มากหากเทียบกับสัดส่วนอื่น ๆ ดังนั้นผลกระทบมีไม่มากนักในปีนี้ แต่อาจกระทบปีหน้า
อย่างไรก็ตาม มองว่าหากสถานการณ์ยืดเยื้อ ลากยาว และนำไปสู่ความรุนแรงจนกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว เป็นสิ่งที่กระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยแน่นอน
ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยต่อ
สำหรับทิศทางเงินเฟ้อ ที่ปัจจุบันต่ำกว่าที่ ธปท. คาดไว้ ซึ่งเป็นผลจากราคาอาหารและราคาพลังงานที่ลดลงมากกว่าคาด รวมทั้งเป็นเรื่องของฐานปีก่อนที่อยู่ระดับสูง บวกกับมาตรการลดค่าไฟในเดือนพ.ค. ดังนั้นเงินเฟ้อที่ลดลงจึงถือเป็นปัจจัยชั่วคราว และอาจเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้าได้ จากการเพิ่มขึ้นของภาคบริการ จากภาคการท่องเที่ยว รวมถึงการส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการ จากภาคการเงินที่ฟื้นตัวขึ้น ประเด็นนี้อาจส่งผลให้เงินเฟ้อครึ่งปีหลังเร่งตัวขึ้นได้
ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. ต้องดูไปถึง out look dependent ไม่ได้ดูเฉพาะ data dependent เพราะการดูเฉพาะ data dependent มีปัจจัยระยะสั้นที่เข้ามากระทบค่อนข้างมาก ดังนั้นการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินตามข้อมูลใหม่ที่ออกมาคงไม่เหมาะสม
อย่างไรก็ตาม การดำเนินนโยบายการเงินที่ ธปท. ดำเนินการมาตลอด คือการปรับนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติ Normalization อย่างค่อยเป็นค่อยไป ที่ไม่ได้ดูเฉพาะปัจจัยเฉพาะหน้า แต่ต้องดูไปถึงปัจจัยระยะยาว เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจให้เข้าสู่ระดับปกติ ควบคู่ไปกับ การหาจุดสมดุลของอัตราดอกเบี้ย ภายใต้เศรษฐกิจที่เติบโตตามศักยภาพ
นอกจากนี้ ยังต้องพิจารณาถึง เงินเฟ้อ ที่ต้องอยู่ในเป้าหมายที่ตั้งเป้าไว้ที่ 1-3% และสุดท้ายคือการไม่สร้างปัญหาต่อเสถียรภาพระบบการเงินไทย ดังนั้นการขึ้นดอกเบี้ยจึงไม่ได้เพื่อดูแลเงินเฟ้อเท่านั้น แต่ต้องหาจุดสมดุลของอัตราดอกเบี้ยให้เหมาะสมกับเศรษฐกิจไทยด้วย
ที่ผ่านมาอัตราดอกเบี้ยของไทยถือว่าต่ำมากว่าปกติอยู่แล้ว ทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง Real Interest Rate ติดลบยาวนาน ซึ่งการที่ดอกเบี้ยต่ำนานเกินไป อาจกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงิน จากพฤติกรรม Search for yield จึงเป็นปัจจัยที่ต้องคำนึงถึง เพื่อนำไปสู่การกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม และกลับไปอยู่ในจุดสมดุล เหมาะกับภาพระยะยาวมากขึ้น
การหยุด Normalization ยังไม่เห็น และมีปัจจัยหลายด้านที่ต้องติดตาม เงินเฟ้อ เป็นเรื่องชั่วคราว มีโอกาสขึ้นอีก สองการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน โดยเฉพาะการที่อัตราดอกเบี้ยแท้จริง ติดลบยาวนาน เป็นสิ่งไม่ดี ทำให้เกิดพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนสูง ซึ่งอาจนำมาสู่ความเสี่ยงได้
สำหรับการเพิ่มพื้นที่นโยบายการเงิน หรือ Policy space โดยการเพิ่มอัตราดอกเบี้ย ถือเป็นสิ่งที่จำเป็นเนื่องจากปัจจุบัน มีความผันผวน และความไม่แน่นอนสูง ที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ เป็นสิ่งที่ประเมินได้ยาก ดังนั้นสิ่งที่ปลอดภัยที่สุดคือ การสร้างกันชนคือ การสร้าง Policy space เพิ่มขึ้น แต่การเพิ่ม policy space ก็ต้องชั่งน้ำหนัก ระหว่างการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย เงินเฟ้อ และผลต่อเสถียรภาพระบบการเงิน