'ปิยบุตร' สวนหมัด ส.ว. จี้ ปธ.สภาใช้ความกล้าหาญปิดช่องพิสดาร หวั่นสลาย 8 พรรค
สรุปจากไลฟ์! ‘ปิยบุตร’ สวนชัดทุกประเด็น ยันเสนอบุคคลเป็นนายกฯ ไม่ใช่ญัตติ เรียกร้องประธานรัฐสภากล้าหาญ ปิดช่องตีความพิสดาร ใช้อำนาจข้อบังคับประชุมรัฐสภา ข้อ 41 เปิดทางเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ซ้ำได้ ไม่เช่นนั้นอาจถูกใช้เป็นอาวุธสลาย 8 พรรค
เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2566 ทีมงานของนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก สรุปประเด็นจากไลฟ์สดของนายปิยบุตร เมื่อคืนวันที่ 20 ก.ค. 2566 ที่ผ่านมา ถึงประเด็นที่ประชุมร่วมรัฐสภา มีมติเสียงข้างมากไม่ยอมให้เสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเป็นการเสนอญัตติซ้ำ
โพสต์ดังกล่าวของนายปิยบุตร ระบุว่า หลังจากวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ มีการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เพียงคนเดียว เช่นเดียวกับการโหวตครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ประธานรัฐสภาอาศัยข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 151 ขอให้ที่ประชุมวินิจฉัยตีความข้อบังคับฯ ข้อ 41 ว่าการเสนอชื่อบุคคลเดิมเพื่อให้ที่ประชุมโหวตเลือกเป็นนายกฯ อีกครั้ง ถือเป็นการนำญัตติที่ตกไปแล้วขึ้นมาเสนออีกในสมัยประชุมเดียวกัน ซึ่งต้องห้ามตามข้อบังคับฯ ข้อ 41 หรือไม่ ซึ่งต่อมาผลการลงมติออกมาว่าที่ประชุมเห็นชอบตามข้อบังคับฯ ข้อ 41 ด้วยคะแนนเห็นชอบ 394 เสียง ไม่เห็นชอบ 312 เสียง ส่งผลให้ไม่สามารถเสนอชื่อพิธาเป็นนายกฯ ซ้ำได้อีกในสมัยประชุมนี้
- ท้าเปิดตำราทุกเล่ม เสนอนายกฯ ไม่ใช่ญัตติ
นายปิยบุตร แสดงความเห็นต่อประเด็นนี้ โดยอธิบายยืนยันว่าการเสนอชื่อบุคคลไปดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น ไม่ใช่ญัตติว่า ในภาพรวม สิ่งที่สามารถเข้าไปเป็นวาระการประชุมในสภาได้นั้น ประกอบด้วย
(1) กระทู้ (Question) มีทั้งกระทู้ถามด้วยวาจา กระทู้ถามที่ต้องตอบเป็นหนังสือ หรือกระทู้สดที่ถามโดยตรงต่อรัฐมนตรี หรือกระทู้ที่ไปถามในห้องย่อย
(2) ญัตติ (Motion) เช่น ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะ ญัตติเสนอร่างพระราชบัญญัติเข้าสู่การพิจารณา ญัตติเสนอแก้รัฐธรรมนูญ
(3) วาระการประชุมที่ว่าด้วยการเสนอชื่อบุคคลไปดำรงตำแหน่ง เช่น นายกรัฐมนตรี ซึ่งปกติจะเป็นการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร แต่ในช่วง 5 ปีแรก รัฐธรรมนูญมาตรา 272 บอกให้ใช้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ส่วนที่กำหนดให้ที่ประชุมวุฒิสภาทำ เช่น การเสนอชื่อให้ความเห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลปกครอง และที่กำหนดให้ใช้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา เช่น การเสนอชื่อรัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และ
(4) การเสนอรายงานขององค์กรต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้ ส.ส. รับทราบและพิจารณาอภิปราย เช่น รายงานงบการเงิน รายงานประจำปี
ดังนั้น ยืนยันชัดเจนในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายรัฐสภา ไม่ว่าจะเปิดตำรากี่เล่ม การเสนอชื่อบุคคลให้สภาให้ความเห็นชอบว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ไม่ถือว่าเป็นญัตติ เพราะถ้าเป็นญัตติต้องเขียนชัดๆ ว่าเป็นญัตติ แต่การเสนอชื่อบุคคลไปดำรงตำแหน่งส่วนใหญ่จะเขียนอยู่ในรัฐธรรมนูญอย่างจำเพาะเจาะจง
เช่น รัฐธรรมนูญมาตรา 159 กำหนดเรื่องการเลือกนายกฯ ให้ที่ประชุม ส.ส. พิจารณา หรือบทเฉพาะกาลมาตรา 272 ที่ให้ใช้เฉพาะ 5 ปีแรกนับแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ นอกจากนั้นในข้อบังคับการประชุมรัฐสภา หมวด 9 ว่าด้วยการเสนอชื่อบุคคลดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ข้อ 136-139 ก็เขียนล้อมาจากรัฐธรรมนูญมาตรา 272 เป็นการเขียนแยกไว้ต่างหาก ออกจากหมวดที่ 2 ว่าด้วยการเสนอญัตติ
เพราะฉะนั้น มี 2 เหตุผล เหตุผลที่หนึ่งคือเรื่องการเสนอชื่อบุคคลไปดำรงตำแหน่งนายกฯ เขียนอยู่ในรัฐธรรมนูญชัดเจน ไม่ใช่เรื่องของญัตติ จะเอาข้อบังคับฯ ข้อที่ 41 มาหักล้างรัฐธรรมนูญไม่ได้ เหตุผลที่สอง คือแม้แต่ในข้อบังคับฯ ก็แยกหมวดชัดเจน นอกจากนี้อีกเหตุผล คือถ้าตีความว่าการเสนอชื่อบุคคลไปดำรงตำแหน่งต่างๆ เป็นญัตติ แล้วต่อมาเท่ากับต้องอยู่ภายใต้ข้อบังคับฯ ข้อที่ 41 คือเสนอชื่อซ้ำไม่ได้นั้น จะส่งผลประหลาด เกิดการตีความกฏหมายไปสู่ทางตัน เกิดปัญหาแก่บ้านเมืองทันที
- เตือน! อย่าเล่นการเมืองจนระบบพัง
ไปสู่ทางตันอย่างไร? สมมุติวันนี้มีพรรคก้าวไกลพรรคเดียวที่ได้คะแนนเลือกตั้งถล่มทลายกว่า 300 เสียง ในขณะที่พรรคอื่นได้ ส.ส. ไม่ถึง 25 คน จึงมีเพียงพรรคก้าวไกลที่เสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ได้ หากเกิดเหตุการณ์แบบนี้ แล้วตีความว่าการเสนอชื่อนายกฯ เป็นญัตติ เท่ากับถ้าแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคก้าวไกลถูก ส.ว. บล็อค ก็จะเสนอชื่อเดิมซ้ำอีกไม่ได้ และไม่สามารถเปลี่ยนชื่อได้ เพราะพรรคอื่นมี ส.ส. ไม่ถึง 25 คน
ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้จะทำอย่างไร ประเทศนี้ก็ไม่ต้องเลือกนายกฯ จนกว่าจะถึงประชุมสมัยหน้าคืออีก 4 เดือนถัดไปอย่างนั้นหรือ ดังนั้น เราต้องระมัดระวัง อย่าเอาวาระการประชุมว่าด้วยการเสนอชื่อบุคคลดำรงตำแหน่ง ไปเป็นญัตติ อย่าเล่นการเมืองกันจนเอาข้อบังคับมาทำลายหลักการ อย่าเล่นการเมืองโดยการตีความพิสดารจนทำให้บ้านเมืองถึงทางตัน ทำให้ระบบมันพัง
ฝากถึง ส.ว. และพันธมิตร 3 พรรคที่ประกอบด้วย พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติ ว่าไม่จำเป็นต้องเชื่อที่ตนพูด แต่ขอให้ฟังความเห็นทางกฎหมายของนักวิชาการรัฐธรรมนูญจำนวนมากที่ให้ความเห็นสอดคล้องกันทั้งหมดว่าการเสนอชื่อบุคคลไปดำรงตำแหน่งนายกฯ ไม่ใช่ญัตติ เช่น บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, วิษณุ เครืองาม, ธงทอง จันทรางศุ, พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย หรือ ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด
“มันอะไรกันนักกันหนา จะสกัดขัดขวางพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ขัดขวางการโหวตนายกรัฐมนตรีรอบนี้ ต้องลงทุนใช้ทุกสรรพกำลังขนาดนี้เลยหรือ?!?”
- ย้อนความสำคัญ ทำไมประธานรัฐสภาต้องเป็นก้าวไกล
จากสิ่งที่เกิดขึ้น จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมตนยืนยันมาตลอดว่าตำแหน่งประธานรัฐสภามีความสำคัญ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มาตรา 272 ยังใช้บังคับอยู่จนถึงเดือนพฤษภาคมปี 2567 การเลือกนายกฯ ต้องทำในที่ประชุมร่วมรัฐสภาโดยมีประธานรัฐสภาทำหน้าที่เป็นประธานควบคุมการประชุม
“ตำแหน่งประธานรัฐสภาจึงมีความสำคัญ ที่ผมพูดมาตลอดว่าจำเป็นต้องให้ ส.ส. พรรคก้าวไกลเป็นประธาน นอกจากเหตุผลเรื่องความชอบธรรมเพราะเป็นพรรคอันดับ 1 อีกเหตุผลคือประธานรัฐสภาจำเป็นต้องควบคุมการประชุม ต้องหยิบรัฐธรรมนูญ หยิบข้อบังคับมาตีความวินิจฉัย ซึ่งเมื่อตีความวินิจฉัย ก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่จะมีคนเห็นไม่ตรงกัน แต่ถ้าประธานแข็งแรงมั่นคง อธิบายจากหลักกฎหมาย จากความเห็นของนักวิชาการประกอบเข้าไป ใช้ความกล้าตัดสินใจ วันนี้ก็จบ ไม่ต้องมาโหวตกัน”
นอกจากนี้ เมื่อไปดูความเห็นของฝ่ายกฎหมายสภาผู้แทนราษฎร ก็เห็นเช่นเดียวกันว่าการเสนอชื่อนายกฯ ไม่ใช่ญัตติ ในขณะที่ฝ่ายกฎหมายของวุฒิสภาเห็นว่าเป็นญัตติ นั่นหมายความว่าประธานรัฐสภามีความเห็นทางกฎหมายสนับสนุนอยู่เยอะแยะ จึงควรใช้อำนาจของตัวเองยืนยันไปว่าการเสนอชื่อบุคคลดำรงตำแหน่งนายกฯ ไม่ใช่ญัตติ ไม่ตกอยู่ภายใต้ข้อบังคับฯ ข้อที่ 41 สามารถโหวตพิธาได้ และถ้าพิธาไม่ผ่าน กระบวนการก็เดินต่อไปในสัปดาห์หน้า เช่นอาจมีการโหวตครั้งที่ 3 พิธาก็ประกาศแล้วว่าจะเปลี่ยนให้เป็นพรรคเพื่อไทย เรื่องมันก็เท่านี้
“ผมถึงยืนยันว่าประธานรัฐสภาสำคัญมากในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเมืองไทย ผมคาดเดาได้ว่าจะมีการเล่นเกมกันอย่างนี้ มองออกตั้งแต่ต้นว่ามีโอกาสทุกวินาทีที่จะมีการใช้เสียงข้างมากของรัฐสภาลากไป โดยการตีความพิสดารบ้าๆบอๆ ต่อไปนี้ถ้าท่านประธานไม่ยอมกล้าวินิจฉัยเลย พันธมิตรฝ่ายนี้เกือบ 400 เสียง จะผนึกกำลังเปลี่ยนทุกเรื่องได้หมด เปลี่ยนข้อบังคับได้หมด แบบนี้คือเผด็จการรัฐสภาของจริง”
- เรียกร้อง ‘วันนอร์’ ใช้อำนาจข้อบังคับฯ ข้อ 41 ก่อนพันธมิตร 8 พรรคถูกเจาะจนแตก
ปิยบุตรยังเรียกร้องให้ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ใช้อำนาจตามข้อบังคับฯ ข้อที่ 41 ตอนท้าย ในการยืนยันว่าหากมีประชุมรัฐสภาครั้งต่อไปเพื่อลงคะแนนเลือกนายกฯ ต่อให้มติที่ประชุมที่ผ่านมาบอกว่าเป็นญัตติซ้ำ แต่ประธานรัฐสภาเห็นว่าบรรจุเข้ามาได้ เพราะเหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป เช่น พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยอาจเจรจาให้มีคะแนนเพิ่มขึ้น หรือ ประภาศรี สุฉันทบุตร ส.ว. ที่โหวตให้พิธาครั้งที่แล้ว ได้รับความนับถือจากประชาชนทั่วประเทศ อาจเป็นเหตุปัจจัยให้ ส.ว. คนอื่นๆ กล้าหาญมากขึ้น
“เรียนท่านประธานรัฐสภาด้วยความเคารพ ท่านยังมีโอกาสใช้ช่องทางนี้อยู่ ถ้าท่านใช้ช่องทางนี้ไม่ใช่ประโยชน์ของพรรคก้าวไกลหรือของพิธาแล้ว แต่จะช่วยในการผนึกกำลังของพันธมิตร 8 พรรคในการสนับสนุนแคนดิเดตนายกฯ ที่มาจากเพื่อไทยในครั้งถัดไปด้วย”
เมื่อลองคิดตามอาจเกิดคำถาม เหตุใดวันนี้ ส.ว. และพันธมิตร 3 พรรค จึงต้องเล่นเกมตีความข้อบังคับฯ ข้อที่ 41 ดูผิวเผินคือต้องการสกัดพิธา แต่ถ้ามองอย่างลึกซึ้งต่อไป ตนเชื่อว่า ส.ว. และพันธมิตร 3 พรรค รู้อยู่แล้วว่าถ้าปล่อยให้โหวตพิธาครั้งที่ 2 ก็จะคว่ำได้อีก และจะไปสู่การโหวตครั้งที่ 3 ซึ่งเป็นแคนดิเดตของพรรคเพื่อไทย
สมมุติครั้งหน้า พันธมิตร 8 พรรคที่จับมือกันอยู่ เปลี่ยนมาสนับสนุน เศรษฐา ทวีสิน, แพทองธาร ชินวัตร หรือ ชัยเกษม นิติสิริ แล้ว ส.ว. กับพันธมิตร 3 พรรคจับมือกันคว่ำ ด้วยเหตุผลว่าในพันธมิตร 8 พรรคนี้ยังมีพรรคก้าวไกลอยู่ เท่ากับต่อไปจะเสนอชื่อเศรษฐา แพทองธาร หรือชัยเกษม ซ้ำอีกรอบไม่ได้ เพราะบอกว่าเป็นญัตติซ้ำ ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ แคนดิเดตของ 8 พรรคก็ไม่เหลือแล้ว นี่คือเหตุผลที่ ส.ว. และพันธมิตร 3 พรรคผนึกกันแน่น ไม่ว่า 8 พรรคเสนอใครมาก็สวนทุกครั้ง ตราบใดที่ยังมีพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาล
“ผลที่ตามมาคือเกิดแรงกดดันไปที่ 8 พรรค ว่าสงสัยจะถึงวันสุดท้ายที่ต้องแยกจากกัน เพราะไม่อย่างนั้นมันไปต่อไม่ได้ ท่านพอมองเห็นพล็อตเรื่องที่เขาวางไว้หรือไม่ ผมเชื่อว่าผลกระทบของมติการประชุม จะเป็นอาวุธแหลมคมเครื่องมือสำคัญที่เข้าไปเจาะพันธมิตร 8 พรรคให้รั่วหรือแตก เพื่อจะบอกว่ายุติ 8 พรรคเถอะ พวกข้าอันได้แก่ภูมิใจไทย พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ จะได้ขอเข้าไปอยู่ในรัฐบาลด้วย”
อีกแนวทางที่บวรศักดิ์ อุวรรณโณเสนอ คือส่งเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน และให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ ว่ามติของรัฐสภาดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ส่วนอีกช่องทางที่ต้องใช้เวลา คือกรณีพรรคก้าวไกลเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญยกเลิกมาตรา 272 ซึ่งต้องลุ้นว่า ส.ว. จะกล้าหาญปิดสวิตช์ตัวเองจริงๆ เสียที หรือเพียงดีแต่พูด ดังนั้น ในการประชุมรัฐสภาครั้งถัดไป การใช้อำนาจของประธานรัฐสภาจึงสำคัญมาก
- อ่านเกม ‘ผู้กำกับภาพยนตร์’ ขวางพิธา-พรรคก้าวไกล ทำไมต้องใช้องค์กรอิสระ
หากธงคำตอบของผู้กำกับภาพยนตร์การเมืองไทยเรื่องนี้ มีเพียงการสกัดพิธาไม่ให้เป็นนายกฯ หรือสกัดพรรคก้าวไกลไม่ให้เป็นรัฐบาล อีกไม่เกิน 2-3 สัปดาห์ ก็จะใกล้ถึงฉากจบ แต่หากเป็นเช่นนั้น จะมีความจำเป็นอะไรที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องสั่งให้พิธาหยุดการปฏิบัติหน้าที่ในวันเดียวกัน ทั้งที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเองก็คงทราบว่าคนจะตั้งคำถามวิพากษ์วิจารณ์ และทั้งที่ก็มีเกมในสภา ผ่านมือ ส.ว. และพันธมิตร 3 พรรค จึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจว่าทำไมถึงต้องเล่นเกมองค์กรอิสระอีก
อีกเรื่องหนึ่ง มีบางคนบอกว่าทำไมพรรคก้าวไกลไม่รู้จักถอย ไม่รู้จักประนีประนอมให้บ้านเมืองเดินหน้าไปต่อ ซึ่งตนบอกผ่านหลายรายการว่าพรรคก้าวไกลถอยไปหมดแล้ว เช่น การแก้ไขมาตรา 112 เอาออกไปจาก MOU จัดตั้งรัฐบาล หมายความว่าถ้าพิธาเป็นนายกฯ ถ้าก้าวไกลเป็นแกนนำรัฐบาล จะไม่เห็นคณะรัฐมนตรีเสนอร่างแก้ไข 112 เข้าสภาแน่นอน ดังนั้น แทนที่การเลือกนายกฯ จะพิจารณาจากปีกฝ่ายบริหาร แต่บางคนกลับบอกว่าไม่พอ พรรคก้าวไกล และ ส.ส. พรรคก้าวไกลต้องไม่เสนอแก้ไขด้วย
ปัญหาก็คือ ส.ส. แต่ละคนมีเอกสิทธิ์ในการเสนอร่างกฎหมาย ไม่ต้องใช้มติพรรค แม้แต่ ส.ส. ต่างพรรคยังสามารถเข้าชื่อต่อกันแล้วเสนอกฎหมายได้ ต่อให้ ส.ส. พรรคก้าวไกล 20 คนเข้าชื่อเสนอกฎหมายนี้ แต่ต้องไม่ลืมว่าในสภามี ส.ส. พรรคก้าวไกล 151 คน ดังนั้น ท่านทั้งหลายที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 112 ก็โหวตคว่ำได้ในวาระที่หนึ่ง
“สรุปแล้วเอาเรื่องม. 112 มาเป็นข้ออ้างหรือเปล่า จะไม่ให้พิธาเป็นนายก ไม่ให้ก้าวไกลร่วมรัฐบาล อย่าเอาเรื่องนั้นเรื่องนี้มาอ้าง ท่านอยากเป็นรัฐบาลจนตัวสั่น ท่าน ส.ว. ไม่อยากเห็นก้าวไกลร่วมรัฐบาล ก็พูดกันตรงไปตรงมา อย่าเอาเรื่องสถาบันกษัตริย์มาอ้าง อย่าตีความข้อบังคับแบบพิสดาร จนมั่วซั่วไปหมดแบบนี้”
- ประชาชนใช้กลไกประชาธิปไตยหมดแล้ว ใครกันแน่ไม่ยอมถอย
ส่วนบางคนที่บอกว่าประชาชนไม่รู้จักแพ้ชนะ จบแล้วไม่ยอมจบ ไปชุมนุมกันอีก อย่างนี้บ้านเมืองจะเดินต่ออย่างไร คนที่พูดอย่างนี้ไม่เอากระจกส่องตัวเอง พี่น้องประชาชนผู้ทรงอำนาจสูงสุดของประเทศ ใครจะอยากชุมนุมตากแดดตากฝน เขารู้ว่าการชุมนุมมีความเสี่ยง มีโอกาสโดนคดี โดนสลายการชุมนุม
ที่ผ่านมาประชาชนได้ใช้กลไกการเลือกตั้ง กลไกประชาธิปไตยแบบผู้แทน ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา กลไกในสถาบันการเมืองที่รัฐธรรมนูญรองรับไว้ เขาใช้ทั้งหมดแล้ว ผลออกมาเป็นวันที่ 14 พฤษภาคม คือเลือกพรรคก้าวไกลมาเป็นอันดับ 1 ผนึกกำลังรวมกัน 8 พรรคได้ 312 เสียง รวมกันเป็น 27 ล้านเสียง แต่สุดท้ายกลับโดนขัดขวาง
เป็นแบบนี้แล้วจะบอกประชาชนไม่ถอยไม่ประนีประนอมได้อย่างไร ประชาชนเลือกที่จะใช้พรรคการเมืองที่เขาฝากความหวัง ไปเป็นยานพาหนะให้เขาแล้ว เขารู้ว่าแต่ละเรื่องมันทำได้ช้า ค่อยๆทำ แต่อย่างน้อยเป็นหนทางที่ปลอดภัย จะเข้าไปหาจุดสมดุลได้ในอนาคต
“สรุปใครกันแน่ที่ไม่ถอย? ใครกันแน่ฝืนมติมหาชน? ใครกันแน่จะเอาต้นทุนของประเทศทุกอย่าง ทั้งระบบกฎหมาย สถาบันการเมือง ทุกสถาบันในประเทศไทยเข้ามาแลก กับการให้ตัวเองครองอำนาจอยู่ต่อไป”
- พวกหวงอำนาจ-ฝืนมติมหาชน คนจะต้านมากขึ้นเรื่อยๆ
ขอให้ทุกคนยังมีความหวังในการสร้างประชาธิปไตย ทวงคืนประชาธิปไตยอย่างมั่นคง เชื่อว่ายังมีโอกาสและความหวัง เสียงของพี่น้องประชาชนได้แสดงออกอย่างถล่มทลายในวันที่ 14 พฤษภาคมแล้ว
ผมเชื่อมั่นว่าถ้าพวกเขายังดึงดันใช้ทุกกลเม็ดเด็ดพรายในการฝืนมติมหาชน ยอมแลกทุกสิ่งทุกอย่าง ยอมเปลือยตัวเองล่อนจ้อนต่อที่สาธารณะเพื่อรักษาอำนาจเอาไว้ไปเรื่อยๆ แบบนี้ ท้ายที่สุดจะมีคนออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยเพิ่มมากขึ้น
และจะเล็งเห็นว่าที่กำลังทำอยู่ไม่ใช่ Justice หรือความยุติธรรม แต่เป็น Just Shit !
#ก้าวไกล #ประชุมสภา #โหวตนายก #พิธา
(โพสต์โดยทีมงาน)