ส่องปม ‘ประชาธิปัตย์’ ตกขบวน ตัดไฟ ‘ฝ่ายค้าน’ ในรัฐบาล
บทเรียนในช่วงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เกิดฝ่ายค้านในขั้วรัฐบาล โดย “ทีมมาร์ค” อาทิ อันวาร์ สาและ พนิช วิกิตเศรษฐ์ ออกมาตำหนิการทำงานของ “ประยุทธ์” แถมการอภิปรายไม่ไว้วางใจในทุกครั้ง ยังหักมติพรรคประชาธิปัตย์ โหวตไม่ไว้วางใจ “ประยุทธ์” ทุกครั้ง
ปัญหาภายใน พรรคประชาธิปัตย์ ที่ยังเคลียร์กันไม่จบ จนอาจตกขบวนร่วมรัฐบาล เมื่อพรรคเพื่อไทยแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเดินเกมพลิกขั้วมาจับมือกับพรรคในขั้ว 188 เสียง
การเจรจารวมขั้วใหม่ของ"รัฐบาลเพื่อไทย" ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย 141 เสียง พรรคภูมิใจไทย 71 เสียง พรรคพลังประชารัฐ 40 เสียง พรรครวมไทยสร้างชาติ 36 เสียง พรรคชาติไทยพัฒนา 10 เสียง พรรคประชาชาติ 9 เสียง พรรคชาติพัฒนากล้า 2 เสียง พรรคเพื่อไทรวมพลัง 2 เสียง และพรรคเสรีรวมไทย 1 เสียง มีเสียงรวมกันเท่าเดิม 312 เสียง
มีเพียงพรรคประชาธิปัตย์ ที่อาจต้องไปอยู่ “ขั้วฝ่ายค้าน” กับพรรคก้าวไกล พรรคไทยสร้างไทย และพรรคเล็กอื่นๆ ซึ่งเหตุผลหลักมาจากความไม่เป็นเอกภาพภายในพรรคเอง
ภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย พูดชัดเจนถึงเหตุที่ไม่เชิญประชาธิปัตย์มาร่วมหารือทางออกของประเทศ "ขณะนี้ยังไม่มีหัวหน้าพรรค เลขาฯพรรค ซึ่งจะมีการเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ในวันที่ 6 ส.ค. โดยไม่ทันกับการประชุมรัฐสภา เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 27 ก.ค.นี้"
ก่อนหน้านี้ “เสี่ยต่อ” เฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ แม้จะประกาศวางมือทางการเมือง แต่ยังคอยให้คำปรึกษากับ “ลูกทีม” คาดหวังว่าจะเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ และกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ให้ได้ในวันที่ 9 ก.ค.ที่ผ่านมา
โดยวางตัว “นราพัฒน์ แก้วทอง” ให้ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ วางคิวให้ “นายกชาย” เดชอิศม์ ขาวทอง ส.ส. สงขลา นั่งเก้าอี้เลขาธิการพรรค แต่สุดท้ายโดนลูกเคี่ยวของทีม "ชวน หลีกภัย" ประธานที่ปรึกษา ซึ่งประกาศตัวสนับสนุน “เดอะมาร์ค” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้กลับมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค
“ทีมชวน” เสนอให้ยกเลิกข้อบังคับการคำนวณคะแนนโหวต จากเดิมใช้เกณฑ์ 70 : 30 โดยให้น้ำหนักกับเสียงโหวตของ สส. ในปัจจุบัน แต่ที่ประชุมใหญ่ไม่เห็นด้วย ทำให้โอกาสของ “อภิสิทธิ์” ลดน้อยลง จึงมี “มือมืด” พลิกเกมส่งสัญญาณ “ลูกทีม” ทำองค์ประชุมล่ม
ข้อบังคับการประชุมต้องมีองค์ประชุมไม่น้อยกว่า 250 เสียง แต่ที่ประชุมใหญ่วิสามัญพรรคประชาธิปัตย์ ในช่วงเย็นวันที่ 9 ก.ค. มีเพียง 201 เสียง ทั้งที่ในช่วงเช้าองค์ประชุมมาครบหายห่วง
ทว่า หลังจบศึกชิงอำนาจในพรรครอบแรก สถานการณ์ก็เต็มไปด้วยความอึมครึม “ทีมเฉลิมชัย” พยายามนัดประชุมใหญ่วิสามัญอีกครั้ง เพื่อเคลียร์ปัญหาภายในพรรคให้จบ ในวันที่ 30 ก.ค. แต่ก็ต้องเลื่อนอีกครั้ง ไปเป็นวันที่ 6 ส.ค.
เมื่อศึกในไม่จบ ตรงกันข้ามกับเกมจัดตั้งรัฐบาลเพื่อไทยเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง มีการส่งเทียบเชิญ 5 พรรค ในขั้ว 188 เสียง ร่วมหารือแนวทางหาทางออกให้ประเทศอย่างคึกคัก แต่ไร้สัญญาณจะส่งเทียบเชิญมาที่พรรคประชาธิปัตย์
ชั่วโมงนี้จึงฟันธงได้เลยว่า “ประชาธิปัตย์” ตกขบวนรัฐบาลเพื่อไทย เนื่องจากการรวมเสียง “9 พรรคขั้วใหม่” มีอยู่ 312 เสียง ผนึกกับ สว. สาย “2 ลุง” การโหวตนายกรัฐมนตรี จึงไม่จำเป็นต้องพึ่งพา 25 เสียงของประชาธิปัตย์
โดย 312 เสียงขั้วใหม่ มีมากพอในการบริหารเสียงในสภาฯ ไม่ให้เกิดปัญหากฎหมายถูกตีตก ขณะเดียวกันยังช่วยลดแรงต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีลงได้อีก เพราะหาก “เฉลิมชัย” นำประชาธิปัตย์ร่วมรัฐบาล อาจจะต่อรองขอเก้าอี้ 1 รมว. 1 รมช.
ที่สำคัญมีสัญญาณว่า“คนแดนไกล”ไม่ต้องการให้ประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาล ไม่เพียงแค่ความไม่เป็นเอกภาพของพรรค แต่ห่วงปัญหา ที่อาจจะกำเนิด“ฝ่ายค้าน”ในขั้วรัฐบาล
โดยยกบทเรียนในช่วงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา “ทีมมาร์ค” อาทิ อันวาร์ สาและ อดีต สส. ปัตตานี พนิช วิกิตเศรษฐ์ อดีต สส. บัญชีรายชื่อ มักจะออกมาตำหนิการทำงานของ “ประยุทธ์” แถมการอภิปรายไม่ไว้วางใจในทุกครั้ง “อันวาร์-พนิช” หักมติพรรคประชาธิปัตย์ โหวตไม่ไว้วางใจ “ประยุทธ์” ทุกครั้ง
เป็นที่รู้กันว่า “เฉลิมชัย” คุมเสียงในประชาธิปัตย์ได้ 16-18 เสียง ส่วนอีก 7-9 เสียง อยู่ใน “ทีมชวน” หากเข้าร่วมรัฐบาลเพื่อไทย 7-9 เสียงของอีกขั้วในพรรค อาจมีความเห็นสวนทางกับมติพรรค ดังนั้น เพื่อตัดไฟตั้งแต่ต้นลม “คนแดนไกล” จึงตัดปัญหาที่จะตามมากับประชาธิปัตย์ออกไป
สำหรับอนาคตของประชาธิปัตย์ หลังจากนี้ต้องจับตาว่า “ทีมเฉลิมชัย” ซึ่งกุมเสียง สส. เตรียมโหวตเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ กับ “ทีมชวน” ที่กุมเสียงองค์ประชุม ฝั่งใดจะเคลื่อนเกมการเมืองจนยึดพรรคไปครองได้